วันอังคาร, พฤษภาคม 7, 2024
หน้าแรกHighlightอ้างลุงตู่พูด'วัคซีนพระราชทาน' ศาลนัดฟัง8ก.พ.ไลฟ์สดธนาธร
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

อ้างลุงตู่พูด’วัคซีนพระราชทาน’ ศาลนัดฟัง8ก.พ.ไลฟ์สดธนาธร

“ธนาธร” แจงต่อศาล คนพูดคำ “วัคซีนพระราชทาน” คือ “นายกฯลุงตู่” และหน่วยงานรัฐนำมาใช้ ยันไม่ใช่ตัวเองพูดคนแรก อ้างกลยุทธ์การจัดการวัคซีนของรัฐบาลไม่เหมาะสม ครอบคลุมประชากรน้อยเกินไป ลั่นถ้าเป็นตัวเอง จะไม่เลือก “สยามไบโอฯ” แน่ ศาลนัดฟังคำสั่ง 8 ก.พ.นี้

วันที่ 4 ก.พ.64 ที่ห้องพิจารณา 906 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนคำคัดค้านของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่ยื่นขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนคำสั่งให้ปิดกั้นการเผยแพร่คลิปการไลฟ์สดของนายธนาธร กรณีวิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีการพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยื่นคำร้องต่อศาล โดยในวันนี้ นายธนาธร ฐานะผู้คัดค้าน เดินทางมาศาลขึ้นเบิกความด้วยตัวเอง ขณะที่ฝ่ายดีอีเอส ฐานะผู้ร้อง มีข้าราชการตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ กับนายทศพล เพ็งส้ม ทนายความซึ่งปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษากฎหมายให้ดีอีเอส ขึ้นเบิกความ

เมื่อศาลออกนั่งบัลลังก์ไต่สวน พร้อมสอบถามคู่ความทั้งสองฝ่าย ฝ่ายผู้ร้องเสนอให้พิจารณาลับ แต่ศาลพิจารณาแล้วไม่เข้าองค์ประกอบการพิจารณาลับ จึงอนุญาตให้พิจารณาเปิดเผย และศาลระบุถึงการไต่สวนวันนี้ เป็นการพิจารณาเนื้อหากระทบต่อความมั่นคงตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับความผิดตาม ป.อาญา ม.112 จากนั้นได้เปิดคลิปไลฟ์สดดังกล่าวของนายธนาธร หัวข้อ “วัคซีนพระราชทาน: ใครได้ใครเสีย?” ให้ชมในห้องพิจารณาคดีตั้งแต่ต้นจนจบ

จากนั้น นายธนาธร ขึ้นเบิกความมีเนื้อหาสรุปว่า เหตุผลที่ออกมาไลฟ์สด เพราะเป็นห่วงเรื่องการจัดการวัคซีนของไทย ควรฉีดให้กับประชากรอย่างทั่วถึงรวดเร็ว กลยุทธ์การจัดการวัคซีนของรัฐบาลไม่เหมาะสม ครอบคลุมประชากรน้อยเกินไป แผนการฉีดวัคซีนล่าช้า ทำให้ประเทศเสียหายเดือนละ 2.5 แสนล้านบาท ตามเอกสารแนบท้ายการประชุม ครม. เรื่องโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ประกอบกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชี้แจงต่อกรรมาธิการสภาฯ ว่าจะฉีดวัคซีน 50% ได้ภายใน 3 ปี ไม่มีประเทศไหนทำอย่างนี้ หมายความว่าคนไทยต้องอยู่กับโควิดนานถึง 4 ปี การมีวัคซีนคือการเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์

ส่วนกรณีที่นายธนาธรพูดถึง “ผู้ถือหุ้น” ในบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์นั้น นายธนาธร ระบุว่า มีเอกสารหลักฐานยืนยันข้อเท็จจริงการถือหุ้น การจัดหาวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา มีสัญญา 3 ส่วน คือ 1.รัฐบาลจัดซื้อวัคซีนกับบริษัทแอสตราฯ จำนวน 26 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชาชนไทยได้ราวเดือนพ.ค.64 2.สัญญาบริษัทแอสตราฯ กับบริษัทสยามไบโอฯ ผลิตวัคซีน 200 ล้านโดส เพื่อกระจายขายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3.รัฐบาลสนับสนุนทางการเงินให้บริษัทสยามไบโอฯ ผลิตวัคซีน

นายธนาธร ชี้แจงด้วยว่า วัคซีนทั้งหมด 21.5% มาจากบริษัทแอสตราฯ 20% กับบริษัทซิโนแวค 1.5% ไม่กระจายความเสี่ยง บริษัทที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลต้องมีการคัดเลือกโปร่งใส ผู้ถือหุ้นเป็น “ในหลวง” ประเด็นมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากข่าวทางยุโรปมีกรณีบริษัทผลิตยาส่งมอบวัคซีนไม่ทัน ถ้าความเสี่ยงดังกล่าวเกิดขึ้นกับไทย ใครจะรับประกันพระเกียรติ รัฐบาลกล้ารับผิดชอบหรือไม่ ถ้าเป็นตน จะไม่เลือกบริษัทสยามไบโอฯ รัฐบาลควรคำนึง ไม่ควรเอาพระเกียรติเข้ามาเสี่ยง

ทั้งนี้ ศาลได้ถามนายธนาธรถึงการใช้คำว่า “วัคซีนพระราชทาน” นายธนาธร ชี้แจงว่า ตอนแรกคนเข้าใจเรื่องนี้ว่า เป็น “วัคซีนพระราชทาน” เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พูด และหน่วยงานรัฐเป็นคนใช้คำนี้ ตนไม่ได้เป็นผู้เริ่มใช้ การที่หน่วยงานรัฐนำคำนี้มาใช้ จึงไม่เหมาะสม ไม่ควรทำ ถ้าเกิดความผิดพลาดจะกระทบสถาบันฯได้

ต่อมา ข้าราชการตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการของดีอีเอส พยานฝ่ายผู้ร้องขึ้นเบิกความ มีเนื้อหาสรุปว่า ที่มาของการตรวจสอบเรื่องนี้ เนื่องจากมีผู้ไปแจ้งความกับตำรวจ ปอท. ให้ดำเนินคดีนายธนาธร ในความผิดตาม ป.อาญา ม.112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และเมื่อพิจารณาข้อมูลต่างๆ แล้วก็ได้รับอนุมัติจาก รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้นำพยานหลักฐานต่างๆ มายื่นคำร้อง เพื่อขอให้ศาลอาญามีคำสั่งระงับปิดกั้น เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 URL โดยเห็นว่าการไลฟ์สดของนายธนาธร เป็นการชี้นำให้ประชาชนตั้งคำถามกับ “ในหลวง” ให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการถือหุ้นบริษัท มีผลกระทบทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นในสื่อสาธารณะ

ด้านนายทศพล เพ็งส้ม พยานฝ่ายผู้ร้องอีกปาก เบิกความถึงการฟังไลฟ์สดของนายธนาธรแล้วเห็นว่า มีการบิดเบือน จึงไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับ ปอท. ให้ดำเนินคดีตาม ป.อาญา ม.112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากนายธนาธรพยายามบิดเบือนว่า รัฐบาลสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโควิดจากบริษัทแอสตราฯ แล้ว จากนั้นบริษัทดังกล่าวจึงไปว่าจ้างบริษัทสยามไบโอฯ ให้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด ซึ่งนายธนาธรชี้นำให้เห็นว่า ถ้าหากบริษัทสยามไบโอฯ ผลิตวัคซีนโควิดล่าช้า หรือไม่ได้คุณภาพ ก็จะเกิดความเสียหายกับผู้ถือหุ้น ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงว่า ตามกฎหมายแล้ว กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจะต้องรับผิดชอบมากกว่า

ภายหลังการไต่สวนคำคัดค้านเสร็จสิ้นแล้ว ศาลกำหนดนัดฟังคำสั่งคดีนี้ต่อไปในวันที่ 8 ก.พ.นี้ เวลา 10.00 น. โดยนายธนาธร เปิดเผยว่า ไม่ได้วิตกกังวลอะไร ศาลจะวินิจฉัยตัดสินอย่างไรก็เป็นอำนาจของท่าน เราทำตามหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ ได้ชี้แจงเหตุผลและพยานหลักฐานต่างๆ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม

ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า #ใครหลอกธนาธร “วันนี้นายธนาธรมาศาลเช่นกัน มาไต่สวนคำร้องคัดค้านที่กระทรวง DES ร้อง เพื่อขอให้ลบคลิป

มีผู้สื่อถามเขาว่า ในวันนี้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี จะเดินทางมาไปแจ้งความเพิ่มเติม นายธนาธร ตามมาตรา 112 เขาตอบว่า เชิญครับ เพราะตนเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ใจ

ผมก็อยากจะบอกว่า ไม่ต้องเชิญครับ ผมมาแจ้งความดำเนินคดีแล้ว และอยากจะนายธนาธรด้วยว่า ที่บอกว่าตนเองบริสุทธิ์ใจนั้น ขอให้พยายามทำการบ้านให้ดีนะ เพราะสิ่งคุณบริสุทธิ์ใจนั้น มันกลายเป็นบิดเบือนทั้งสิ้น ที่สำคัญเป็นการจงใจบิดเบือน ให้ร้ายสถาบันเบื้องสูงเสียด้วย ดูแล้วงานนี้ คุณน่าจะรอดยากครับ จำไว้ด้วยว่า ควรตรวจสอบข้อมูลให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะนำเสนออะไร

นายธนาธร กล่าวว่า ใน ม.112 เป็นมาตราที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างแน่นอน เพราะสิทธิมนุษยชนนั้นคือการมีเสรีภาพทางการแสดงออก

ผมอยากจะบอกนายธนาธรด้วยว่า เสรีภาพในการแสดงออกนั้น ต้องอยู่ในกรอบกฏหมาย ไม่ใช่อยากจะไปกล่าวให้ร้ายใครก็ได้ เพราะการไปกล่าวให้ร้ายคนอื่นเสียหาย เขาไม่เรียกเสรีภาพ เขาเรียกดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท เข้าใจไหมครับ”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img