วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกNEWS‘อดีตกลุ่มพิราบขาว’ยื่นขอ‘ส.ว.’ร่วมลงชื่อ ส่ง‘ศาลรธน.’สอบ‘พิธา’ปมถือหุ้นสื่อไอทีวี
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘อดีตกลุ่มพิราบขาว’ยื่นขอ‘ส.ว.’ร่วมลงชื่อ ส่ง‘ศาลรธน.’สอบ‘พิธา’ปมถือหุ้นสื่อไอทีวี

“อดีตกลุ่มพิราบขาว” ยื่นหนังสือขอ ‘ส.ว.’ ร่วมกันลงชื่อส่งศาลรธน. สอบ “พิธา” ปมถือหุ้นสื่อ หวั่นทูลเกล้าฯระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ด้าน “สมชาย” จี้ ถอน แก้ม.112 ด้าน “เสรี” ย้ำชัด มีส.ว.หนุน พิธา ไม่เกิน 5 เสียง โต้ยึดมาตรฐานโหวตปี62ไม่ได้ เหตุ คน-นโยบายพรรคมีปัญหา

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.66 ที่รัฐสภา นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 ยื่นหนังสือต่อนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ขอให้ส.ว. ร่วมกันลงชื่อร้องเรียน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกล กรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี ซึ่งอาจขัดพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยส.ส. มาตรา 42 (3) และกรณีโอนหุ้นให้กับบุคคลอื่นหลังวันเลือกตั้ง อาจเข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)

นายนพรุจ กล่าวว่า เพื่อไม่ให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งไม่บังควรที่มีการนำรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่ยังมีปัญหา นำขึ้นทูลเกล้าเพื่อโปรดเกล้าฯ ตนจึงอยากให้ส.ว.รวบชื่อเพื่อตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น ไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ทันเวลาก่อนโหวตเลือกนายกฯ

โดยนายสมชาย กล่าวว่า จะรับเรื่องไว้เพื่อตรวจสอบ ทั้งนี้ในกรณีดังกล่าวตนเคยแจ้งให้กมธ.การพัฒนาการเมือง และ กมธ.กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่มีนายกล้านรงค์ จันทิก ส.ว. เป็นประธานกมธ. ให้พิจารณาในรายละเอียดเกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อของนายพิธา อย่างไรก็ดีในประเด็นดังกล่าวตนขอเรียกร้องให้ กกต. ดำเนินการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ความเป็นธรรมกับนายพิธา และไม่มีปัญหากับการการเชื่อเป็นนายกฯ ส่วนที่เสนอให้ ส.ว. เข้าชื่อเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธานั้น ในความเป็นส.ส.ของนายพิธาไม่สามารถทำได้ แต่หากเป็นประเด็นของนายกฯ ส.ว.สามารถทำได้

เมื่อถามถึงกรณีที่นายพิธา มั่นใจว่าจะได้รับเสียงโหวตจากส.ว.ให้เป็นนายกฯ นายสมชาย กล่าวว่า จากที่ตนพูดคุยกับ ส.ว.ที่ลงคะแนนเลือกตั้งให้พรรคก้าวไกล พบว่าไม่ได้เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคก้าวไกลที่เสนอ เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รวมถึงหมวด 1 หมวด 2 แต่เห็นด้วยกับบางนโยบาย ดังนั้นในคะแนนเลือกตั้งที่ประชาชนเลือกพรรคก้าวไกล 14 ล้านเสียง อาจไม่เห็นด้วยกับทุกนโยบาย ทั้งนี้การลงมติเลือกของ ส.ว. ขอให้มั่นใจในดุลยพินิจและวุฒิภาวะของส.ว. ที่จะพิจารณาในประเด็นสิ่งที่เป็นผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ความสงบสุข

“ส.ว.ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล หรือคำนึงถึงการเปลี่ยนขั้วอำนาจ เปลี่ยนข้างหรือข้ามขั้วหรือไม่ แต่ ประเด็นนายกฯ​นั้นมีความเกี่ยวข้องกับการตั้งรัฐบาล ดังนั้นต้องพิจารณาสิ่งที่จะไม่ทำให้เกิดความกังวลในความมั่นคงของประเทศ และไม่นำไปสู่ปัญหาความไม่มั่นคง สำหรับบางนโยบายของพรรคการเมืองพบว่าสุ่มเสี่ยง ดังนั้นผมขอให้เอาออก เพื่อประโยชน์ของประเทศ” นายสมชาย กล่าว

ขณะที่นายเสรี กล่าวในประเด็นที่นายพิธาเรียกร้องการโหวตนายกฯ โดยยึดบรรทัดฐานเมื่อปี2562 ตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ว่า ไม่สามารถใช้บรรทัดฐานเดิมได้ เพราะมีประเด็นที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ในปี2562 ไม่มีพรรคไหน ที่เสนอแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังนั้นการอ้างมาตรฐานปี2562 เพื่อนำมาใช้ในการโหวต นายกฯ​ของปี2566 เป็นไปไม่ได้

“เหตุการณ์ ช่วงเวลา มีส่วนต่อการพิจารณาและใช้ดุลยพินิจ ปัญหาแต่ละช่วงเวลาไม่เเหมือนกัน ที่สำคัญคือ ไม่มีเหตุการณ์ที่ยุยงส่งเสริมเด็กให้กระทำผิดต่อกฎหมายมากมาย อยู่ที่พฤติกรรมแสดงออก และเป็นความเหมาะสมที่ส.ว.สามารถนำมาพิจารณาตัดสินใจทั้งสิ้น ดังนั้นการอ้างมาตรฐานเลือกนายกฯ รอบที่แล้ว มาใช้กับครั้งนี้ไม่ได้” นายเสรี กล่าว

เมื่อถามย้ำว่าประเด็นของนายพิธายังเป็นปัญหาใช่หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า “แน่นอน เป็นปัญหา และถือเป็นเงื่อนไขต่อการโหวตนายกฯ แม้ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง 14 ล้านเสียง ไม่ใช่คะแนนเสียงส่วนใหญ่ เพราะมีประชาชนมาเลือกตั้งทั้งหมด 40 ล้านคน ดังนั้น 14 ล้านเสียง คือ เสียงข้างน้อย แต่คนที่ไม่เลือกก้าวไกล เป็นสิ่งสำคัญที่ส.ว.ต้องนำมาพิจารณา เพราะถือเป็นเสียงข้างมาก”

เมื่อถามย้ำว่าหากประเมิน นายพิธาจะได้เสียงสนับสนุนมากพอเป็นนายกฯหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า “ไม่พอ จะเอาเสียงที่ไหน ดูจากการแสดงออกที่ชัดเจนไม่เกิน5เสียง ทั้งนี้การตัดสินใจของส.ว.ต่อการโหวตนายกฯ นั้นเป็นใบสั่งจากประชาชน เพราะประชาชนไม่ได้เลือกเขามาทั้งหมด เลือกแค่ 14 ล้านเสียงเท่านั้น ส่วนผมยืนยันในจุดยืนว่าหากยังแก้ไขมาตรา 112 ผมไม่เลือกแน่นอน”

เมื่อถามว่ามองว่าแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองอื่นๆ ดูแล้วมีปัญหาหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ต้องดูเหตุผลที่จะประกอบการตัดสินใจ เช่น จะแก้มาตรา 112 หรือไม่ หรือมีปัญหาคุณสมบัติหรือไม่ มีนโยบายที่หลอกลวงประชาชนหรือไม่ การกระทำที่ผ่านมายอมรับหรือไม่สร้างปัญหาให้ประเทศหรือไม่ ทั้งนี้ในกระบวนการของส.ว.นั้นไม่เกี่ยวกับผลเลือกตั้ง เพราะส.ว.มีหน้าที่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ไม่ใช่แค่ดูเฉพาะเสียงข้างมากจากสภาฯ หรือใครชนะเลือกตั้งเท่านั้น

เมื่อถามว่าหากเปลี่ยนหัวขบวนแคนดิเดตนายกฯ เป็นคนของพรรคเพื่อไทย ส.ว.จะสบายใจมากขึ้นหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องส.ว.สบายใจ แต่ส.ว.ต้องตกลงให้สบายใจ จัดทัพ รวบรวมเสียงมา จากนั้นส.ว.ต้องพิจารณาคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159

เมื่อถามย้ำว่าหากเป็นแคนดิเดตนายกฯจากเพื่อไทยจะมีภาษีดีกว่านายพิธา หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ต้องพิจารณาก่อนว่าเป็นใคร ตอนนี้มีชื่อเดียว คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ส่วนพรรคเพื่อไทย มี 3 ชื่อ ทั้งนี้ตนไม่สามารถรับรองใครได้ ต้องนำชื่อมาดู เช่นเดียวกับชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องพิจารณาคุณสมบัติ และต้องใช้เกณฑ์เดียวกัน จะยกเว้นใครไม่ได้ เพราะการตัดสินปัญหาต้องตัดสินใจหลักการ

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img