วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
หน้าแรกNEWS“คำนูณ”ยัน“พิธา”ลงชิงนายกฯได้ แม้“ศาลรธน.”รับคำร้อง แต่ยังเป็นส.ส
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“คำนูณ”ยัน“พิธา”ลงชิงนายกฯได้ แม้“ศาลรธน.”รับคำร้อง แต่ยังเป็นส.ส

“คำนูณ” ยัน “พิธา” ลงชิงนายกฯพรุ่งนี้ได้ตามปกติ แม้ศาลรับเรื่องจากกกต.สมาชิกภาพยังเป็นส.ส. ไม่หวั่น ม็อบกดดันหน้าสภา เชื่อไม่เป็นเหตุให้สมาชิกลาประชุม ชี้เป็นหน้าที่สมาชิกตามรธน.

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.66 เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาเป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาการโหวตนายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 13 ก.ค.นี้มีส.ว.ที่เป็นวิปวุฒิสภาเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง รวมถึง ส.ว.ที่แสดงจุดยืนต่อการโหวตนายกฯ ตามมติของเสียงข้างมากของสภาฯ อาทิ นายวันชัย สอนศิริ และนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของการประชุมขอเป็นการประชุมลับ โดยให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ออกจากที่ประชุม และตัดสัญญาณการประชุมวิปวุฒิสภาฯ ผ่านทางออนไลน์ด้วย ซึ่งใช้เวลาหารือลับประมาณ 40 นาที

ต่อมาเวลา 11.30 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ให้สัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้นการประชุมวิปวุฒิสภา ว่า เป็นการประชุมตามปกติเพื่อกำหนดระเบียบวาระสัปดาห์หน้า รวมถึงการเตรียมการประชุมร่วมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ การเลือกนายกรัฐมนตรี โดยมีการตกลงว่าจะมีการอภิปรายก่อนลงมติเลือก ในส่วนของวุฒิสภาได้รับการจัดสรรเวลา 2 ชม. ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ส.ว.จะอภิปรายประเด็นใดบ้าง เพราะยังไม่ทราบว่า มีส.ว.กี่ท่านที่จะอภิปรายโดยมอบให้พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 จะพิจารณา เป็นการอภิปรายอย่างเปิดเผยในที่ประชุมร่วมรัฐสภา โดยยึดหลักการคุณภาพมากที่สุดเพื่อไม่ให้เสียเวลาของสภา จากนั้นแคนดิเดตนายกฯ จะชี้แจงตอบคำถาม ดังนั้น จึงไม่สามารถกำหนดล่วงหน้าได้ว่าจะอภิปรายประเด็นใดบ้าง และใครจะอภิปรายบ้าง

เมื่อถามว่า วุฒิสภาเห็นความจำเป็นต้องให้นายพิธา แสดงวิสัยทัศน์ก่อนใช่หรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ที่ประชุมวิปวุฒิสภาไม่ได้ลงลึกขนาดนั้น การแสดงวิสัยทัศน์ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตอนปี 62 ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯไม่ได้อยู่ในที่ประชุม จึงไม่มีการแสดงวิสัยทัศน์ แต่ครั้งนี้เชื่อว่ากระบวนการจะเป็นไปตามปกติ ซึ่งนายพิธาก็ชอบที่จะแสดงวิสัยทัศน์ได้ แต่ก็ไม่ได้อยู่ในข้อบังคับ

เมื่อถามว่า กรณีล่าสุดที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องคุณสมบัติของนายพิธาให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้วนั้น จะส่งผลกระทบต่อการโหวตนายกฯหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ไม่กระทบ ไม่มีเหตุที่จะกระทบ เป็นเพียงความเห็นกกต.ที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอาจรับไว้ในทางธุรการ ส่วนท่านจะมีมติรับพิจารณาหรือไม่ยังไม่มีข้อสรุปจากศาลรัฐธรรมนูญ

“สมาชิกภาพของนายพิธายังสมบูรณ์ ท่านอยู่ในที่ประชุมแน่นอน ดังนั้นทุกอย่างคงดำเนินการไปตามปกติ ซึ่งการอภิปรายไม่เรียกว่าเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อน เป็นเพียงการแสดงความเห็น ความเชื่อ ความเป็นห่วง ตามวิสัยที่จะทำได้”นายคำนูณ กล่าว

เมื่อถามว่า จะนำกรณีการยื่นเรื่องของกกต.มาประกอบการตัดสินใจหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ไม่ได้พูดคุยในที่ประชุมวันนี้ เพราะไม่มีเหตุเอาเข้ามาพิจารณา แต่ยืนยันว่าเหตุการณ์ในวันพรุ่งนี้จะดำเนินไปตามปกติ แม้กกต.จะมีมติส่งก็ไม่เปลี่ยนแปลง เว้นแต่ศาลจะมีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ขณะนี้ยังไม่มีทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ

เมื่อถามถึงกรณีไลน์หลุด ส.ว.ท่านหนึ่งตัดพ้อแสดงความอึดอัดใจ เพราะถูกเสนอผลประโยชน์ไม่ให้โหวตนายกฯ นายคำนูณ กล่าวว่า ไม่มีการพูดคุยในที่ประชุมวิปวันนี้ และตนยังไม่ทราบว่าเป็นท่านไหน แต่คงไม่ปฏิเสธว่าหลุดจริง

เมื่อถามถึงการพูดถึงข้อสงสัยว่าการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯรอบแรกไม่ผ่าน จะหมดสิทธิเสนอในรอบสองหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ก็มีข้อสงสัย แต่ไม่ได้มีข้อสรุปแต่ประการใด และไม่น่าจะเป็นประเด็นใดๆในวันพรุ่งนี้ เพราะการเลือกนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมิอาจสันนิษฐานได้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่เมื่อผลการโหวตออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องของประธานรัฐสภาจะตัดสินต่อไป และหากสมาชิกสงสัยก็เป็นปกติที่จะลุกขึ้นสอบถาม แต่เชื่อว่าไม่ใช่ประเด็นของวันพรุ่งนี้ หากมีผู้หยิบยกมาถาม ก็เห็นว่าประธานไม่จำเป็นต้องตอบ เพราะยังไม่เกิดขึ้น แต่ทุกอย่างมีข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้แล้ว

เมื่อถามว่า จากกระแสข่าวที่จะมีมวลชนมาชุมนุมหน้ารัฐสภา จะเป็นเหตุให้สมาชิกใช้เป็นข้ออ้างในการลาประชุมหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า การโหวตเลือกนายกฯเป็นการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกรัฐสภา เว้นแต่มีเหตุจำเป็นสุดวิสัย เช่น ป่วยหรือไปราชการต่างประเทศ แต่ไม่ได้มีเหตุที่จะคิดไปล่วงหน้าว่าจะมาหรือไม่มา ซึ่งการมาแสดงออกของมวลชนเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ

“เมื่อเป็นการประชุมร่วมรัฐสภา ก็เป็นหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่จะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภายนอก และอำนวยความสะดวกสมาชิกในการเข้าออก ตอนนี้ยังไม่มีเหตุที่จะให้สมาชิกขอลา ทุกคนต้องมาทำหน้าที่ ส่วนจะคิดเห็นหรือตัดสินใจอย่างใดเป็นสิทธิของแต่ละท่าน”นายคำนูณ กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img