วันพุธ, พฤษภาคม 8, 2024
หน้าแรกNEWS"พท." เสียงแตก ปม แก้พ.ร.บ.ประชามติ "ชูศักดิ์" จ่อชงครม.กรอบคำถาม หากผ่าน สว.ไม่กล้าขวาง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“พท.” เสียงแตก ปม แก้พ.ร.บ.ประชามติ “ชูศักดิ์” จ่อชงครม.กรอบคำถาม หากผ่าน สว.ไม่กล้าขวาง

“พท.” เสียงแตก ปม แก้พ.ร.บ.ประชามติ “ชูศักดิ์” ย้ำไม่จำเป็นต้องแก้ไข เหตุทำอย่างรอบคอบแล้ว เตรียมชง ครม. ทำประชามติ กรอบคำถาม มั่นใจหากประชามติผ่าน สว.ไม่กล้าขวาง

วันที่ 31 ส.ค.2566 ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่ สส.พรรคเพื่อไทย ไม่เห็นชอบต่อการเลื่อนญัตติเสนอคำถามประชามติแก้รัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกลให้ขึ้นมาพิจารณาก่อนวาระอื่น เมื่อ 30 ส.ค. ว่า เหตุผลที่สส.พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าว เนื่องจากพรรคเตรียมทำเรื่องดังกล่าวให้เป็นวาระและนโยบายที่รัฐบาลเตรียมดำเนินการ อีกทั้งเห็นว่าแม้จะให้สภาฯ พิจารณาเรื่องคำถามประชามติ แต่กระบวนการไม่สามารถจบได้ เพราะตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 กำหนดว่าต้องใช้ความเห็นชอบทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ดังนั้นแม้สภาฯเห็นชอบ แต่ต้องส่งไปยังวุฒิสภาให้พิจารณา ประเด็นที่ต้องใช้มติของสองสภานั้นเป็นปัญหาและอนาคตจำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อให้การเห็นชอบกับเรื่องที่จะทำประชามติหากผ่านสภาฯ สามารถเสนอไปสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้

เมื่อถามถึงแนวคิดต่อการแก้ไขประเด็นอื่นในพ.ร.บ.ประชามติ เช่น เกณฑ์ออกเสียงเพื่อให้เรื่องที่ทำประชามตินั้นถูกเห็นชอบ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา”

ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฐานะที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เหตุที่พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลต่อการพิจารณาคำถามประชามตินั้น เพราะมองว่าต่อให้สภาฯเห็นชอบยังไม่จบ เพราะต้องส่งให้วุฒิสภาอีก ซึ่งในหลักการแล้วสว.อาจจะไม่เห็นชอบทำให้คำถามนั้นตกไป อีกทั้งเรื่องทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญนั้นจะถูกกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาล จึงต้องการให้เป็นกระบวนการของรัฐบาล

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอ ครม. ให้พิจารณาคำถามประชามติ ในการประชุมครม. ในกระบวนการการทำประชามมติและลักษณะของคำถาม โดยมีประเด็นใหญ่ คือ คำถาม ที่เห็นตรงกันในพรรค คือ ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้จัดทำ

“การทำประชามติครั้งแรก คือการตั้งคำถามว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยไม่มีตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ ส่วนที่การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ยังมี สว.ปัจจุบันดำรงวาระอยู่นั้น ผมมองว่าหากผ่านได้แล้วเชื่อว่ารัฐสภาน่าจะผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. เพราะประชาชนเห็นชอบแล้ว ไม่สมควรฝืนมติของประชาชน และเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มหมวดใหม่ จะเข้าสู่กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยต้องเริ่มจากการเลือกตั้งส.ส.ร.ก่อน” นายชูศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยจะปัดฝุ่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่เคยเสนอไว้ในสภาฯ ชุดที่ผ่านมา หรือจัดทำร่างใหม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อยู่ระหว่างพิจารณา และคาดว่าจะทำใหม่ โดยเฉพาะเรื่องกรรมาธิการฯ ที่ถูกวิจารณ์ว่าหากไม่มีกรรมาธิการที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเลยอาจจะมีประเด็นปัญหาได้ ทั้งนี้อาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ซึ่งกว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ส.ส.ร. ดำเนินการ อาจใช้เวลากว่า 3 ปีครึ่ง

เมื่อถามว่าในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องรับฟังความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ต้องรับฟัง ตนเข้าใจว่า ครม. ต้องเปิดโอกาสให้พรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคการเมืองทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นรวมถึงจะรับฟังในประเด็นต่างๆ ส่วนคำถามประชามติที่ภาคประชาชนเสนอนั้นต้องให้ ครม.เป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการตามหรือไม่

เมื่อถามว่ากรณีที่พรรครวมไทยสร้างชาติ หรือ พรรคพลังประชารัฐที่ไม่สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ มองว่าจะคุยกันได้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ต้องคุยกัน และเชื่อว่าจะไปด้วยกันได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นคือนโยบายของรัฐบาลที่ถือว่าเป็นที่ยอมรับร่วมกัน

เมื่อถามถึงแนวคิดของการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ที่เรื่องจะผ่านประชามติ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ เพราะสมเหตุสมผลของเนื้อหา ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย คือ ประชาชนต้องมาออกเสียง เกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ และต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธินั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img