วันพุธ, พฤษภาคม 8, 2024
หน้าแรกNEWS“นายกฯ”ยืนยันให้ความสำคัญ“อี-บิดดิ้ง” มั่นใจเกิดความโปร่งใส-มีธรรมาภิบาล
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“นายกฯ”ยืนยันให้ความสำคัญ“อี-บิดดิ้ง” มั่นใจเกิดความโปร่งใส-มีธรรมาภิบาล

นายกฯยันให้ความสำคัญ “อี-บิดดิ้ง” มั่นใจจะทำให้เกิดความโปร่งใสมีธรรมาภิบาล มาสู่การจัดซื้อจัดจ้างและการประมูลงานในโครงการต่างๆ ขณะที่  ‘วราวุธ’ระบุกำไรของกคช. 7 พันล้านเป็นตัวเลขทางบัญชี แต่ของจริงยังมีหนี้เยอะ

เมื่อเวลา 12.20 น.วันที่ 5 ม.ค.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวชี้แจง ว่า จากกรณีที่มีผู้อภิปรายเรื่องอี-บิดดิ้ง (e-bidding) ตนยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และรัฐบาลมั่นใจว่าจะทำให้เกิดความโปร่งใสและธรรมาภิบาล มาสู่การจัดซื้อจัดจ้างและการประมูลงานในโครงการต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยเราจะต้องร่วมกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สำหรับงบประมาณฯ ปี 2567 มีความล่าช้า จึงทำให้การที่จะมีงบประมาณลงไปจริงๆ แล้วทำงานได้ ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน ส่วนการที่สส.บางคนเสนอว่าถ้าร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ผ่าน อาจจะทำงานคู่ขนานไปกันนั้น ถือเป็นข้อเสนอแนะที่ดี ทั้งนี้รัฐบาลจะพิจารณาว่าตรงไหนที่สามารถทำได้ และไม่ขัดกับข้อกฎหมาย

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีสส.อภิปรายเรื่องการเลื่อนชั้นประมูล ตนเชื่อว่ามีนัยยะสำคัญในหลาย ๆ เรื่อง และตนเห็นด้วยกับการเลื่อนชั้นจากชั้นหนึ่งไปเป็นชั้นพิเศษอาจมีเหตุผลที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้าง อาจจะไม่ใช่แค่จำนวนเงินที่เกี่ยวกับเนื้องานอย่างเดียว เรื่องของทุนจดทะเบียนก็มีส่วนด้วยและเรื่องของผลงานในอดีตซึ่งต้องมีเรื่องของการฟ้องร้อง เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องมาดูให้ดีในเรื่องของการประมูล เพราะสังคมตั้งข้อสงสัยในเรื่องนี้มากพอสมควร โดยเป็นหน้าที่ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งตนจะพูดคุยกับกรมบัญชีกลางเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงขอให้ทุกคนสบายใจว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมน้อมรับข้อเสนอแนะ ถ้าตรงไหนเราสามารถทำได้ เห็นว่าเหมาะสมและไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย รัฐบาลจะดำเนินการให้

จากนั้น นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ชี้แจงถึงงบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ว่า  เรื่องเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด กระทรวงพม.ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณสำหรับเงินอุดหนุนเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 ปี ที่ปัจจุบันมีประมาณ 4.06 ล้านคน ซึ่งเราได้ของบประมาณเพื่ออุดหนุนเด็กส่วนนี้ทั้งหมด แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ทำให้สำนักงบประมาณได้พิจารณาให้งบประมาณสำหรับกรณีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน คือครอบครัวของผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท ต่อปี ซึ่งมีจำนวน 2.55 ล้านราย คิดเป็นเงินประมาณ 16,000 กว่าล้านบาท แต่ถ้าในอนาคต เรามีโอกาสได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น เราจะจ่ายเงินอุดหนุนดังกล่าวให้ได้ครบ 4.06 ล้านคน  สำหรับเรื่องค่าอาหารกลางวันเด็กนั้น ตนได้มอบหมายให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ประสานงานกับกรมบัญชีกลาง เพื่อขอให้ปรับขึ้นเงินค่าอาหารกลางวันของเด็กที่อยู่ในการดูแลของพม. ซึ่งในปี 2567 ได้เพิ่มงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็ก ตั้งแต่ 3-8 บาทต่อคน และในปี 2568 เป็นต้นไป เราจะพยายามของบประมาณส่วนนี้ให้มากขึ้น

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า กรณีที่สส.หลายพรรคอยากให้ปรับอัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีลักษณะเป็นขั้นบันไดตามอายุ ตั้งแต่ 600-700-800 บาท ไปเป็นจ่ายให้เดือนละ 1,000 บาทถ้วนหน้านั้น ตนขอชี้แจงว่าปัจจุบัน ไทยมีผู้สูงอายุ 13 ล้านคน โดยมีการจ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุ 10.6 ล้านคน เป็นเงินประมาณ 84,000 กว่าล้านบาท แต่ถ้าเปลี่ยนไปจ่ายเบี้ยนี้ให้คนละ 1,000 บาท จะทำให้ต้องใช้เงินประมาณ 127,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 43,000 กว่าล้านบาท นอกจากนี้เราจะมีประชากรผู้สูงอายุในปี 2570 มากขึ้น จะทำให้มีผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 14.7 ล้านคน ถ้าจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นคนละ 3,000 บาท จะต้องใช้งบประมาณ 520,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มขึ้น

นายวราวุธ กล่าวว่า ส่วนที่มีการร้องขอให้เพิ่มเงินเบี้ยยังชีพของผู้พิการนั้น ที่จริง พม.ยังมีภารกิจที่ต้องส่งเสริมศักยภาพของผู้พิการเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนกลุ่มนี้ โดยพม.ลงนามเอ็มโอยูร่วมกับสถาบันการศึกษา 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินโครงการนำร่องในการพัฒนาทักษะของผู้พิการ โดยใช้เงินจากกองทุนพัฒนาคนพิการ ซึ่งโครงการนี้จะทำให้ผู้พิการทุกคนมีอาชีพ มีรายได้ และสามารถดูแลตัวเองได้ สำหรับเรื่องของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) มีบ้านที่พักอาศัยซึ่งมีอัตราค่าเช่า ตั้งแต่ราคา 1,200 บาทขึ้นไป แม้ในที่ดินที่มีราคาแพง เราก็มีให้บริหารจัดการเรื่องนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชน ส่วนที่มีการระบุว่ากคช.มีกำไรสะสม 7,000 ล้านบาทนั้น ตนได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นตัวเลขกำไรทางบัญชี แต่ตัวเงินสดจริงๆ กคช.ยังเป็นหนี้มากพอสมควร เนื่องจากบางครั้งเราเก็บค่าเช่าไม่ได้ หรือเก็บค่าเช่าไม่ได้ตามเป้าหมาย

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img