วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
หน้าแรกNEWSนายกฯประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย ย้ำจุดยืนไทยขับเคลื่อนปชต.ที่เป็นหนึ่งเดียวและสากล
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

นายกฯประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย ย้ำจุดยืนไทยขับเคลื่อนปชต.ที่เป็นหนึ่งเดียวและสากล

นายกฯประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย ชี้ประชาธิปไตยไทยเผชิญหน้ากับความท้าทาย ความไม่เท่าเทียมมากขึ้นและผลจากโซเชียลที่ทำให้เกิดความแตกแยก

เมื่อเวลา 11.27 น.วันที่ 20 มี.ค.67 (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโซล ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย ครั้งที่ 3 (The 3rd Summit for Democracy) ภายใต้หัวข้อหลัก Democracy for Future Generations ในรูปแบบการบันทึกวีดิทัศน์ ตามคำเชิญของนายยุน ซ็อก ย็อล (H.E. Mr. Yoon Suk Yeol) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เป็นตัวแทนของประเทศร่วมงาน การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก การเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทยเป็นก้าวสำคัญในการตอกย้ำค่านิยมประชาธิปไตย รัฐบาลไทยมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

ทุกวันนี้ประชาธิปไตยเผชิญหน้ากับความท้าทาย ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มมากขึ้น และผลจากโซเชียลที่ทำให้เกิดความแตกแยก โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความท้าทายเหล่านี้

1.ประชาธิปไตยภายใต้หลักธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วมของพลเมือง สังคมที่มีส่วนร่วม หลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน นายกรัฐมนตรีย้ำว่าประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนในหลากหลายมิติ สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมถึงสิทธิทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม พร้อมทั้งยอมรับความท้าทายและข้อจำกัดในอดีต ซึ่งรัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสิทธิดังกล่าวด้วยการต่อยอดความสำเร็จที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า Universal Health Coverage” และ “การศึกษาสำหรับทุกคน Education for All” ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีภาคภูมิใจกับความคืบหน้าของ “ร่างกฎหมายความเท่าเทียมในการแต่งงาน” โดยกล่าวว่าร่างกฎหมายนี้จะช่วยผสานความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์และส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคทางสังคมในไทยมากขึ้น

2.ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการต่อเนื่องมิใช่จุดหมายปลายทาง (democracy is an ongoing process, not a final destination) การมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืนต้องใช้ความพยายามและการบำรุงเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเติมเต็มความคาดหวังของประชาชน อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศที่เคยเผชิญบาดแผลทางประชาธิปไตย การจัดการกับความคาดหวังของสาธารณชนและการบำรุงเลี้ยงประชาธิปไตย ถือเป็นความพยายามที่ต้องใช้ความทุ่มเทและความมุ่งมั่นอันแน่วแน่

3.ประชาธิปไตยที่ใช้ในที่หนึ่งอาจจะไม่ได้เหมาะกับการใช้ในทุกที่ แต่ส่วนสำคัญ คือ หลักการประชาธิปไตยต้องเป็นหนึ่งเดียวและเป็นสากล เราเชื่อในคุณค่าของประชาธิปไตย แต่ทั่วโลกมีประชาธิปไตยและระบบการเมืองที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ทุกคนทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายเดียวกัน ซึ่งเป็นความท้าทายระหว่างรุ่น ครอบคลุมตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงความแตกแยกทางดิจิทัล นายกรัฐมนตรีจึงเห็นว่าสิ่งที่ทั่วโลกต้องการในขณะนี้คือความร่วมมือระหว่างประเทศ ความร่วมมือพหุภาคี และความร่วมมือด้านมนุษยธรรมที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผู้นำต้องรับฟังและเคารพเจตจำนงของประชาชน รวมถึงต้องฟังจากเยาวชนมากขึ้น เพราะนั่นคือวิธีที่รับประกันได้ว่าประชาธิปไตยจะเติบโตต่อไปและเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาของคนรุ่นต่อไปในอนาคต

อนึ่ง การประชุม Summit for Democracy จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 มี.ค.67 โดยจัดขึ้นใน 3 ระดับได้แก่ 1.ระดับผู้นำผ่านระบบการประชุมทางไกล หรือกล่าวถ้อยแถลงในรูปแบบการบันทึกวีดิทัศน์ 2.ระดับรัฐมนตรี ในหัวข้อปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีดิจิทัล แบบ In-person และ 3.การประชุมของภาคประชาสังคมและเยาวชนในรูปแบบ In-person

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img