วันจันทร์, เมษายน 29, 2024
หน้าแรกHighlight“ประธานกกต.”ชี้“ทักษิณ”เข้า“เพื่อไทย” ยังไม่เข้าข่าย“ครอบงำพรรคการเมือง”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ประธานกกต.”ชี้“ทักษิณ”เข้า“เพื่อไทย” ยังไม่เข้าข่าย“ครอบงำพรรคการเมือง”

“กกต.” แจงส่งเอกสารยื่นยุบพรรคก้าวไกลเพิ่มเติม ถึงศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว ส่วนคำร้องยุบภูมิใจไทยเป็นคนละประเด็น เผยลุยจัดสัมมนาพรรคการเมือง หวังส่งเสริมเป็นสถาบันคุณภาพยังไม่จ้องจับผิด ด้าน “ประธานกกต.” ชี้ “ทักษิณ” เข้าพรรคเพื่อไทย-เดินสาย ไม่ถือเป็นการครอบงำพรรคการเมือง ขออย่าคิดไปเอง ต้องดูข้อกฎหมาย และสิ่งที่ปฏิบัติจริง

เมื่อวันที่ 27 มี.ค.67 ที่ อิมแพค ฟอรัม เมืองทองธานี สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดเสวนาวิชาการเรื่องพรรคการเมืองสร้างชาติและการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการพรรคการเมือง โดยนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล, รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายภราดร ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ ศ.วุฒิสาร ตันไชย นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวเปิดงาน และนายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. กล่าวรายงาน ทั้งนี้ มีหัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรคการเมืองเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ภายหลังพิธี นายอิทธพร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการถูกพักโทษ ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ไปปรากฏตัวที่ทำการพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมาว่าเข้าข่ายเป็นการครอบงำพรรคการเมืองหรือไม่ว่า กกต.มีหน้าที่ดูแลพรรคการเมือง โดยห้ามพรรคการเมืองพรรคใดยินยอมให้บุคคลใดครอบงำพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 28 และ 29 เพราะฉะนั้นถ้ามีการกระทำใดๆ ที่อาจจะเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว ก็เป็นเรื่องที่ กกต.สามารถดำเนินการได้

เมื่อถามว่า การที่นายทักษิณไปปรากฏตัวที่พรรคเพื่อไทย โดยมีสมาชิก มีนักการเมือง มีรัฐมนตรีไปต้อนรับ ซึ่งแตกต่างจากการเดินทางไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ต้องดูกฎหมาย แต่กรณี การปรากฏตัวนี้ ไม่ถือเป็นการครอบงำ หากมีข้อเท็จจริงที่ชัดเจน ว่าเป็นการครอบงำ เมื่อนั้นก็ถึงเวลาที่ กกต.จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

เมื่อถามต่อว่า หากเข้าห้องประชุมและมีการมอบนโยบาย จะถือว่าเป็นการครอบงำหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ต้องดูข้อเท็จจริงที่มี ส่วนข้อสันนิษฐานอะไรพวกนี้ จะเอามาพิจารณาไม่ได้ แต่ทุกๆ เรื่องเวลาที่เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมือง สำนักงานกกต. ก็จะมีการติดตามเรื่องรวบรวมข้อเท็จจริงและหากมีประเด็นเพียงพอก็จะเสนอให้ เลขาธิการกกต. ซึ่งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง พิจารณาว่า สมควรจะต้องตั้งกรรมการ รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานหรือไม่ ถ้าเห็นว่าสมควร ก็ต้องตั้ง และทำการสืบพยานรวบรวมเอกสารให้ครบถ้วน และพิจารณาว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่

อิทธิพร บุญประคอง

เมื่อถามว่า การที่นายทักษิณเดินสายต่างจังหวัด พบประชาชน และสมาชิกพรรค สามารถทำได้หรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า ถ้าการกระทำใดๆ ไม่เข้าข่ายที่จะถือได้ว่าเป็นการครอบงำ ก็ไม่สามารถที่จะไปห้ามได้ ต้องมีข้อเท็จจริง มีพฤติการณ์ที่พูดได้ว่าเป็นการครอบงำ ซึ่งคงไม่สามารถไปตัดสินได้จากข้อเท็จจริงปรากฏเฉยๆคงไม่ได้

เมื่อถามว่า มีการมองว่าเป็นเรื่องของครอบครัว ดังนั้นกันทำกิจกรรมเกี่ยวกับครอบครัวกับการครอบงำ แตกต่างกันหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ไม่ใกล้เคียงกันเลย สิ่งที่ใกล้เคียงกันมีเพียง “ค” ควาย

เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการส่งเอกสาร เพิ่มเติมประกอบคำร้องเพิ่มเติมเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ประธานกกต. กล่าวว่า กกต.ได้ส่งคำร้องเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยสิ่งที่ส่งไปคือเอกสารประกอบฉบับหนึ่ง ที่อยู่ในคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ที่ยื่นมาถึงกกต.และมีความไม่ชัดเจน ซึ่งเอกสารส่วนหนึ่งที่เลือนลาง อ่านลำบาก ตนจึงขอให้สำนักงาน กกต. ไปขอรับสำเนาเอกสารที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่งให้เรียบร้อยแล้ว

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ขอให้มีการยุบพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย นายอิทธิพร กล่าวว่า อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการของนายทะเบียนพรรคการเมืองตามมาตรา 93 ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานให้มากที่สุด เพื่อให้นายทะเบียนพิจารณาว่าเรื่องนี้สมควรที่จะเสนอ ให้กกต. พิจารณาหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้มีระยะเวลาตามระเบียบ 30 วัน แต่สามารถขอเพิ่มระยะเวลาได้ เพราะบางทีเกี่ยวข้องกับบุคคลรวมถึงต้องมีการขอเอกสาร และความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา

เมื่อถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า คำร้องขอให้พิจารณายุบพรรคภูมิใจไทย มีความล่าช้ากว่าพรรคก้าวไกล นายอิทธิพร กล่าวว่า เป็นคนละกรณีกัน โดยในส่วนของพรรคภูมิใจไทยนั้น เป็นคำร้องเกี่ยวกับเรื่องเงิน ส่วนของพรรคก้าวไกลก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง และอำนาจหน้าที่ของกกต.ก็เป็นคนละมาตรากัน เนื่องจากของพรรคภูมิใจไทยเป็นการยื่นคำร้องตามมาตรา 93 ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของนายทะเบียนพรรคการเมือง ขณะที่เข้าร้องเรียนของพรรคก้าวไกลใช้กระบวนการตามมาตรา 92 ซึ่งระบุว่า เมื่อกกตเห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า จะเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้น ให้กกต. ส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกระบวนการก็เลยไม่ช้า ดังนั้นหากดูตามระเบียบของกกตไม่ได้มีการเร่งรัดแต่อย่างใด

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img