วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกNEWS"วันนอร์” เดินตาม "ชวน" เคยวินิจฉัยร่างรธน.ปี 64 ชี้แนวทาง ‘ชูศักดิ์’ หวังเดินไปแล้วไม่ล้ม-ไม่เสียของ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“วันนอร์” เดินตาม “ชวน” เคยวินิจฉัยร่างรธน.ปี 64 ชี้แนวทาง ‘ชูศักดิ์’ หวังเดินไปแล้วไม่ล้ม-ไม่เสียของ

“วันนอร์”อ้างเดินตาม‘ชวน’ เคยวินิจฉัยร่างรธน.ฉบับ “เพื่อไทย”ปี 64 เหตุไม่บรรจุกฎหมาย ส่งฝ่ายกฎหมายสภาฯถกใหม่ยืนตามเดิม โยนเป็นหน้าที่สมาชิกรัฐสภาคิดเอง เชื่อแนวทาง ‘ชูศักดิ์’ เสนอหรือไม่ หวังเดินไปแล้วไม่ล้ม-ไม่เสียของ

วันที่ 29 มี.ค.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาญัตติ เรื่องของเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ของนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะเป็นผู้เสนอ

จากนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ ได้ชี้แจงว่า กรณีที่สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายพาดพิงถึงการปฏิบัติหน้าที่ของประธานรัฐสภาถือเป็นเรื่องปกติ แต่ตนจำเป็นต้องชี้แจง ไม่ใช่ประเด็นความเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่อยากชี้แจงว่าการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภานั้นต้องเป็นอย่างไร เพื่อให้สมาชิกได้เข้าใจ ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกับประธานรัฐสภา และประธานสภาเสมอไป ตนปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับ เรื่องที่สมาชิกหลายท่านได้อภิปรายว่าทำไมประธานรัฐสภา ประธานสภาจึงไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่นายชูศักดิ์ได้เสนอมานั้น ตนชี้แจงว่าร่างที่นายชูศักดิ์กับคณะเสนอประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 16 ม.ค.นั้น เป็นการแก้ไขทำนองเดียวกันกับร่างที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กับคณะเสนอมา เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.64 ซึ่งนายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภา ได้วินิจฉัยว่าไม่สามารถบรรจุกฎหมายของนายสมพงษ์ได้ ตามมติความเห็นของคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นต่อประธานสภา ในเรื่องการวินิจฉัยการบรรจุกฎหมาย เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.64 นายชวนจึงให้แจ้งผลไปยังนายสมพงษ์ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 64

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า เมื่อนายชูศักดิ์เสนอมาวันที่ 16 ม.ค. ตนก็ให้ฝ่ายประสานงานฯ ได้วินิจฉัยในเบื้องต้น ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยนี้ก็มีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย เหมือนที่เราได้พิจารณาในวันนี้ เสียงส่วนน้อยเห็นว่าควรจะบรรจุได้ และเสียงข้างมากเห็นว่าไม่ควรบรรจุเพราะเป็นกฎหมายทำนองเดียวกัน กับที่นายสมพงษ์เคยยื่นเสนอมา ซึ่งประธานสภาสมัยที่แล้วก็ไม่บรรจุมาแล้ว แต่เพื่อความรอบคอบตนก็บอกว่าถึงแม้ว่าจะเป็นกฎหมายทำนองเดียวกัน แต่เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ตนก็บอกว่าให้พิจารณาอีกสักครั้งหนึ่ง เอาความเห็นใหม่เลย คณะกรรมการฯ ก็ได้ประชุมใหม่อีกครั้ง และมีความเห็นเสียงข้างมากอีกเป็นไปตามที่ พล.ต.ท. ศานิตย์ มหถาวร สว. ได้พูดไว้ว่าถ้าบรรจุแล้วมันจะขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ถึงเราจะไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยนี้ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นผูกพันทุกองค์กร ทั้งรัฐสภา ครม.และองค์กรอิสระ เมื่อคณะกรรมการฯ เสียงข้างมากเห็นตรงกับการวินิจฉัยเมื่อปี 64 ที่นายชวนได้ให้ความเห็นตามเสียงข้างมากนั้น

ประธานรัฐสภา กล่าวต่อว่า เมื่อตนได้พิจารณาและให้ประชุมใหม่แล้วก็เห็นตรงอย่างเดิม ตนในฐานะประธานสภาทบทวนแล้วก็ไม่สามารถที่จะให้บรรจุได้เช่นเดียวกัน ตนจึงให้เลขา ฯ ส่งหนังสือไปยังนายชูศักดิ์ แต่เมื่อเราอยู่ในในสภาเดียวกัน ตนก็ได้เชิญนายชูศักดิ์มาพบเพื่อชี้แจงมติของคณะกรรมการฯ และความเห็นของผมให้กับนายชูศักดิ์อีกครั้ง เพื่อจะได้หารือร่วมกัน ซึ่งนายชูศักดิ์บอกว่าไม่เป็นไร เมื่อประธานสภาไม่บรรจุตามความเห็นของฝ่ายกฎหมายแล้ว ท่านบอกว่าก็จะหาทางทำอย่างอื่นแทน จึงเป็นที่มาของญัตติในวันนี้ เพื่อให้สภาได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย ไม่ได้วินิจฉัยว่าสภาจะมีอำนาจหรือไม่มีอำนาจในการตรากฎหมาย แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจน ต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งมีความเห็นไม่ตรงกันและเป็นเรื่องธรรมดา

“แม้แต่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลก็มีความเห็นไม่ตรงกัน ในเรื่องของการดำเนินต่อไปข้างหน้า ทั้งเรื่องประชามติ เงินงบประมาณในการดำเนินการ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องประชาชน ผมได้ทำหน้าที่ของผมไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และข้อบังคับแล้ว ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจะเห็นตามที่นายชูศักดิ์เสนอหรือไม่ เรื่องนี้ไม่มีอะไร เป็นเรื่องความชัดเจนที่จะเดินไปข้างหน้า เพื่อจะไปแล้วไม่ล้ม ไปแล้วไม่เสียของ ไปแล้วก็ไม่เสียงบประมาณและเวลาของประชาชนโดยไม่จำเป็นเท่านั้น”นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img