วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSผู้ว่าฯแบงก์ชาติชี้ศก.ไทย... "ไม่เท่าเทียม-ปัญหายาว-ไม่แน่นอน"
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติชี้ศก.ไทย… “ไม่เท่าเทียม-ปัญหายาว-ไม่แน่นอน”

วันอังคารที่ผ่านมา “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ที่เพิ่งรับไม้ต่อจาก “ดร.วิรไท สันติประภพ” ซึ่งได้พ้นวาระไปหมาดๆ ออกมาพบปะสื่อมวลชนพร้อมกับโชว์วิสัยทัศน์ในการแก้วิกฤติเศรษฐกิจ หลังคลายล็อกดาวน์ และเป็นการเปิดตัวสู่สาธารณะครั้งแรกหลังจากที่หลายคนรอฟังว่าจะมีนโยบายการเงินอะไรใหม่ๆ ออกมาหรือไม่

เท่าที่ติดตามถ้อยแถลงก็ไม่ผิดหวัง เพราะมีแนวคิดใหม่ๆ นำเสนอและชำแหละปัญหาเศรษฐกิจไทยหลังคลายล็อกได้ชัดเจนถึงกึ๋น

“ดร.เศรษฐพุฒิ” แถลงว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นช็อกที่เข้ามากระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ที่เห็นคือภาคการท่องเที่ยวจากที่คาด 40 ล้านคน เหลือ 7 ล้านคน คิดเป็นรายได้หายไปราว 1.6 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 10% ของจีดีพี และเครื่องยนต์ภาคการส่งออกที่โดนกระทบจากการล็อกดาวน์ของต่างประเทศ ทำให้ส่งออกไตรมาส 2 หดตัวแรงที่สุดในรอบ 11 ปี

cr : BOT พระสยาม MAGAZINE

แต่ที่น่าสนใจคือการฉายภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังจากการคลายล็อกดาวน์ ว่ามีภาพที่เปลี่ยนไป อย่างน่าสนใจ

ทั้งนี้ได้พูดถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจว่า “ไม่เท่าเทียม” บางเซ็กเตอร์กลับมาได้ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เริ่มกลับมาใกล้เคียงก่อนโควิด-19 และบางเซ็กเตอร์กระทบหนัก เช่น โรงแรม กลับมาได้แค่ 25% หรือในเซ็กเตอร์โรงแรม แต่ละพื้นที่ก็ไม่เท่าเทียมกัน เช่นในภูเก็ตนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา แต่โรงแรมในพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯกลับมาดีขึ้น ทำให้การฟื้นตัวแตกต่างกัน ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการแก้ปัญหา

นอกจากนี้ยังมองว่า “ปัญหายาวและนาน” โดย ธปท.มองจีดีพีปีนี้หดตัว -7.8% และหลังจากนี้จะติดลบทุกไตรมาสยาวไปถึงไตรมาส 1 ปี 2564 โดยคาดว่าจะเห็นกลับมาบวกในไตรมาส 2 และเห็นการฟื้นตัวช้า ๆ โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีจะกลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด-19 ในไตรมาส 3/2565

สุดท้ายคือ “ความไม่แน่นอนสูง” โดยไม่สามารถตอบได้ว่า จะมีการระบาดรอบ 2 วัคซีนจะมาเมื่อไร และนักท่องเที่ยวมาได้ตอนไหน ไม่มีคำตอบชัดเจน ซึ่งความไม่แน่นอน จึงเป็นตัวถ่วงกิจกรรม ทำให้การบริโภคและลงทุนอยู่ในหมวดรอคอย

จากบริบทหลังโควิดที่เปลี่ยนไป ทำให้แนวทางการรักษาโรคทางเศรษฐกิจต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยจะต้องปรับจากที่เคยใช้มาตรการที่ปูพรมและการให้ความช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วน เปลี่ยนมาเป็นการช่วยเหลือแบบตรงจุด ครบวงจร และยืดหยุ่น มากขึ้นและต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงตามมา เนื่องจากมีทรัพยากรจำกัดจึงต้องให้ใช้ถูกจุดยิงให้ตรงเป้าที่สุด

อย่างกรณีการช่วยเหลือลูกหนี้ จะต้องเน้นการช่วยเหลือแบบตรงจุด ครบวงจร และยืดหยุ่น โดยพิจารณาถึงผลข้างเคียงและผลระยะยาว การแก้ปัญหาจะไม่ใช้เพียงซอฟต์โลนการให้สินเชื่อ แต่จะทำให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ได้เร็ว ท้ายที่สุดคือ การจัดการกับเอ็นพีแอลโดยใช้กลไกต่างๆ รวมถึงการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ ต้องมีเครื่องมือหลากหลาย เพราะการฟื้นตัวครั้งนี้ใช้เวลายาวและมีความไม่แน่นอนสูง

การแถลงนโยบายครั้งนี้ มีการแยกประเด็นที่เป็นรูปธรรมและแนวทางแก้ปัญหาที่ตรงจุดอย่างชัดเจน แตกต่างจากที่ผ่านมามักจะนำเสนอภาพใหญ่แบบเหมารวมและแก้ปัญหาแบบปูพรม จะเห็นได้ตั้งแต่ก่อนรัฐบาลนี้เข้ามาและในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา รัฐบาลใช้มาตรการต่างๆ มากมายแบบเหวี่ยงแห ทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไปเน้นการแจกเงินให้กับประชาชนโดยตรง ซึ่งเป็นการเยียวยาเฉพาะหน้าระยะสั้นๆ เท่านั้น

กรณีนโยบายลด แลก แจก แถม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่านการใช้จ่ายและการบริโภคของประชาชน ซึ่งหลายๆ ฝ่ายได้ตั้งความหวังว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัว แต่การกระตุ้นแบบนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะสั้นๆ เช่นกัน ไม่มีประโยชน์ต่อการเติบโตระยะยาวแต่อย่างใด ที่สำคัญทุกวันนี้ ทรัพยากรของประเทศมีอย่างจำกัด ดังนั้นมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาต่อไปนี้ จะต้องเล็งให้ตรงเป้า ไม่ใช่สาดไปแบบมั่วๆ จะทำให้เสียทั้งทรัพยากรและความเชื่อมั่นตามมา
………………………………
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”



- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img