วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSความหมายแห่งบัณฑิต
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ความหมายแห่งบัณฑิต

ได้ย้อนอดีตกลับไป 35 ปีก่อน เมื่อย่างเท้าเข้ารั้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อร่วมแสดงความยินดีกับ บัณฑิต ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พ.ศ. 2561

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2473 ถือเป็นเกียรติสูงสุดของผู้สำเร็จการศึกษา

ทราบมาว่ามีผู้สำเร็จการศึกษาส่วนหนึ่งไม่เข้าร่วมพิธี เพราะต้องการแสดงจุดยืนตามคำชักชวนของผู้ที่แอบอยู่หลังม่าน

เท่านั้นไม่พอ ผู้ที่แอบอยู่หลังม่าน ยังส่งบริวารเป็น เพศชาย อายุประมาณ 30 ปี ยืนตะโกนโหวกเหวกที่ประตูท่าพระจันทร์ เพื่อสร้างความปั่นป่วน แต่ไม่เป็นผล เพราะญาติพี่น้องของบัณฑิตที่เข้าแถวรอตรวจค้นตามมาตรการรักษาความปลอดภัย ไม่ใส่ใจใด ๆ ทั้งสิ้น

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ต้องเอ่ยถึง เพื่อไม่ให้ถูกตีความผิด ๆ ก็คือ บัณฑิตที่ไม่เข้าร่วมพิธี ไม่ได้คิดต่อต้านสถาบันฯ ทุกคน เพราะบางคนติดภารกิจสำคัญ เช่น แพทย์แลกเวรไม่ทัน เนื่องจากมหาวิทยาลัยแจ้งให้ทราบกะทันหัน คือ แจ้งให้ทราบต้นเดือนและต้องเข้าร่วมพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรช่วงปลายเดือน

แม้บางคนจะมีเหตุติดขัดจำเป็น ไม่สามารถเข้าร่วมพิธีได้ ก็จะถูกตีความไปแล้วว่า เป็นกลุ่มต่อต้านสถานบันฯ  เป็นพวกหัวรุนแรงเพราะเรียนธรรมศาสตร์

หากสังคมไทยคิดเช่นนี้ ก็จะเข้าทางของ ผู้ที่แอบอยู่หลังม่าน ที่เลือกเอาธรรมศาสตร์มาสร้างเงื่อนไข เพื่อให้เกิดการเผชิญหน้า เพราะธรรมศาสตร์มีประวัติศาสตร์ที่นำมาเชื่อมต่อให้เกิดมโนภาพได้

ผู้ที่แอบอยู่หลังม่าน ปลุกปั่นบัณฑิตหนุ่มสาว จนบางครั้งก็เชื่อกันไปโดยไม่รู้ด้วยว่า เชื่อเพราะอะไรและข้อเท็จจริงอยู่ตรงไหน

การเชื่อที่ไร้เหตุผลนั้น ขัดต่อความเป็น “บัณฑิต” ซึ่งถึงผู้ทรงความรู้ มีปัญญา เป็นปราชญ์ นอกจากนี้ในทางพุทธศาสนา ถือว่า บัณฑิต คือ สัตบุรุษ มีความดีงาม สงบระงับด้วยกาย วาจา ใจ มีความคิดและความประพฤติที่ชอบ ไม่โลภ ไม่พยาบาทปองร้าย มีความเห็นชอบถูกต้องตามคลองธรรม เห็นผิดว่าผิด เห็นชอบว่าชอบ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบ ไม่พูดคำไม่เป็นประโยชน์ ทำแต่การที่เป็นทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น

บัณฑิต หรือ สัตบุรุษ จะต้องประกอบด้วย สัปปุริสธรรม 7 ประการ คือ รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักหมู่คน และ รู้จักบุคคล

ใครก็ตามที่ถูกปั่นหัวได้ง่าย หลงเชื่อคำยุยงโดยไม่คิดพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล จึงไม่ถือว่าเป็นบัณฑิตตามหลักสัปปุริสธรรม 7 ประการ

ผู้ที่ตั้งใจไม่เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญา อาจภูมิใจในจุดยืนของตัวเองที่ว่า ได้แสดงออกถึงการไม่ยอมรับ แต่ไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา เช่น ถูกตีความว่าเป็นพวกหัวรุนแรง จนบริษัทห้างร้านไม่กล้ารับเข้าทำงาน เพราะกลัวจะเข้าไปสร้างความปั่นป่วนในองค์กร

ประการสำคัญคนเหล่านี้ ลืมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยและศิษย์ร่วมสถาบัน เพราะการเอาธรรมศาสตร์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้ง จะทำให้ชาวธรรมศาสตร์ถูกตีความแบบเหมารวม

ย่อมจะถือได้ว่า เป็นผู้อตัญญูมหาวิทยาลัยและไร้น้ำใจต่อศิษย์ร่วมสถาบัน.

………………………….

#ดินสอโดม



- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img