วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSยกเว้นค่าปรับ-ยกดอกเบี้ย กยศ. “รุ่นน้อง”...มีเสียวจ่อ“อดเรียน”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ยกเว้นค่าปรับ-ยกดอกเบี้ย กยศ. “รุ่นน้อง”…มีเสียวจ่อ“อดเรียน”

ในที่สุด!! สภาผู้แทนราษฎร ก็มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ “กยศ.” ฉบับแก้ไข เป็นที่เรียบร้อย

สาระสำคัญของร่างกฎหมาย คือ การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาแบบปลอดดอกเบี้ย แถมยังไม่มีการคิดค่าปรับการผิดนัดชำระหนี้

ที่สำคัญ… ถ้าผ่านกระบวนการตามขั้นตอนแล้วเสร็จ ยังมีผลย้อนหลังกับบรรดาเด็กนักเรียน นักศึกษา ผู้กู้ยืมเงินรวมไปถึงบรรดาผู้ค้ำประกันทุกรายอีกต่างหาก

แม้ร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ จะมีผลให้บรรดาลูกหนี้ ที่กู้ยืมเงินจาก กยศ.กว่า 3.4 ล้านบัญชี ที่เป็นกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีนับล้านราย และที่ถูกฟ้องดำเนินคดีอีกจำนวนมาก ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมดก็ตาม

แต่ก็อย่าลืมว่า กฎหมายฉบับใหม่ อาจเป็นดาบสองคม ที่กลับมาทำร้าย กยศ.ในอนาคต ก็เป็นไปได้ หากมีลูกหนี้ ที่ไม่ซื่อสัตย์ ไม่เที่ยงตรง จงใจ “เบี้ยวหนี้”

จนสุดท้าย “คนรุ่นหลัง” อาจไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น ไม่มีโอกาสได้รับยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น อาจวนเวียนกลับมาเป็นภาระของรัฐบาลในอนาคตเข้าให้อีกเช่นกัน

ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเป็นหนี้!! ก็ต้องใช้หนี้ โดยเฉพาะถ้าเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ที่ทุกคนต้องตระหนักในเรื่องนี้ให้ดี

เดชะบุญ!! ที่เวลานี้ยังมีการ “ยั้งคิด” ที่ยังไม่ถึงขั้น “ล้างหนี้” ให้กับทุกคนที่เป็นหนี้ กยศ. อย่างที่ก่อนหน้านี้
มีกระแส มีการล่ารายชื่อ เพื่อให้ออกกฎหมายล้างหนี้กันทีเดียว ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นตรรกะที่ป่วย ได้อย่างชัดเจน

ทั้งที่กองทุน กยศ. ได้เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียน นักศึกษา กว่า 6.21 ล้านราย มีโอกาสได้รับการศึกษา ด้วยวงเงินให้กู้ยืมมากกว่า 6.96 แสนล้านบาท ขณะที่ยอดหนี้คงเหลืออยู่ที่  3.37 แสนล้านบาท ส่วนผู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ มีอยู่ประมาณ 3.45 ล้านราย หรือ 56% ของผู้กู้ยืมทั้งหมด

ขณะที่ผู้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นไปแล้วมีจำนวนประมาณ 1.63 ล้านราย หรือคิดเป็นประมาณ 26% ของจำนวนผู้กู้ยืมทั้งหมด

แม้เรื่องราวของ กยศ. จะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างขว้างขวาง ในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องของการ “เบี้ยวหนี้” แต่ก็มีกระบวนการกระตุ้น ดึงดูด ชักชวน ให้ทุกคนจ่ายหนี้คืนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดเบี้ยปรับ การยืดเวลาชำระหนี้ การไกล่เกลี่ยหนี้ หรือแม้แต่การพักหนี้

กยศ. ถือกำเนิดเกิดมาตั้งแต่ปี 38 ในรูปแบบของเงินทุนหมุนเวียน ก่อนออกกฎหมายมารองรับเพื่อให้ฐานะของกยศ.เป็นนิติบุคคล โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังเมื่อปี 41

เป้าประสงค์หลัก ก็เพื่อ…ให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนแก้ไข โดยในปี 60 ได้มีนำ กยศ. และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต หรือ กรอ. ให้มาอยู่ในกฎหมายเดียวกัน

“ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์” ผู้จัดการ กยศ. แห่งนี้ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า กองทุน กยศ. มีเงินหมุนเวียนจากการชำระหนี้คืนจากผู้กู้ยืมปีละกว่า  30,000 ล้านบาท จึงทำให้กองทุนมีเงินให้นักเรียน นักศึกษารุ่นต่อไปกู้ยืมได้โดยไม่ต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปีการศึกษา 61 ที่ผ่านมา

ขณะที่ ในปีการศึกษา 65 นี้ กยศ.ยังได้เตรียมเงินกว่า 38,000 ล้านบาท เพื่อรองรับเด็ก นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่จะเข้ามาใช้บริการอีกกว่า 6 แสนราย

เห็นกันอย่างนี้แล้ว!! ก็น่าจะสนับสนุนเป้าหมายหลักของ กยศ. ให้เดินหน้าได้โดยไม่สะดุด ไม่ติดขัด เพราะสุดท้ายแล้วผลประโยชน์ไปตกอยู่กับเด็กรุ่นใหม่ที่จะมีโอกาสได้เรียนหนังสือกันมากขึ้น

อย่างที่บอก…กฎหมายใหม่ที่แก้ไขกันอยู่นี้ แม้เป็นประโยชน์กับบรรดาผู้กู้ยืมก็จริง แต่ก็อย่าลืมว่า หากผู้กู้ยืมติดนิสัย “เบี้ยวหนี้” เพราะรู้อยู่แล้วว่าไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีค่าปรับ ก็อาจทำให้ “รุ่นน้อง” ที่จะเข้ามาขอกู้ยืมเงินต่อ อาจเห็นแค่เพียงแสงริบหรี่ก็เป็นไปได้เช่นกัน!!

……………………………….

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img