วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSจ๊าก!ดอกเบี้ยจ่อขึ้นอีก รอกุมขมับรับสภาพ!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จ๊าก!ดอกเบี้ยจ่อขึ้นอีก รอกุมขมับรับสภาพ!!

อัตราเงินเฟ้อ!! ของประเทศไทยได้ทำสถิติใหม่อีกครั้ง เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีอัตราสูงขึ้นถึง 7.10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ…ยังเป็นอัตราที่สูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 13 ปีทีเดียว

ต้นเหตุใหญ่…ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแหวกแนวหรือคาดไม่ถึงอะไรทั้งสิ้น เพราะมาจากเรื่องของ ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ที่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 37.24% โดยเฉพาะ “ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง” ที่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 35.89% ซึ่งเป็นไปตามภาวะและทิศทางของตลาดโลก

ขณะที่ ราคาก๊าซหุงต้ม หรือ “แอลพีจี” ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8% หลังจากรัฐบาลยกเลิกการตรึงราคาและทยอยปรับขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่เม.ย.ที่ผ่านมา ในรูปแบบขั้นบันได เช่นเดียวกับ “อัตราค่าไฟฟ้า” ที่เพิ่มขึ้นถึง 45.43% จากการปรับขึ้นค่าเอฟทีหรือค่าไฟฟ้าผันแปร ในเดือนพ.ค.-ส.ค.65

ทั้งนี้จากข้อมูลของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ “กนง.” ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบัน เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ได้ทำให้ประชาชน ครัวเรือน ต่างมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแล้ว เดือนละประมาณ 850 บาท หรือประมาณ 3.6% ของรายได้

ที่สำคัญ!! แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ยังไม่ได้พุ่งสูงที่สุด แม้จะทุบสถิติในรอบ 13 ปี มาแล้วก็ตาม เพราะในเดือนมิ.ย.นี้ ยังเชื่อกันว่า “เงินเฟ้อ” ยังคงพุ่งทะยานต่อเนื่อง เพราะราคาพลังงานยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งราคาน้ำมัน ราคาแอลพีจี

ไม่เพียงเท่านี้…ปัญหาวิกฤติอาหารโลก ก็ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศปรับราคาสูงขึ้นตามไปด้วย เช่นเดียวกับ “ดีมานด์” หรือ ความต้องการในตลาด ก็เริ่มฟื้นตัวเพิ่มมากขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มผ่อนคลายจากการเปิดประเทศ

นอกจากนี้ ยังไม่มีใครคาดเดาได้ชัด ๆ ว่า…สุดท้ายอัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงสุดไปแตะที่เท่าใดกันแน่ ด้วยเพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงผันผวนต่อเนื่อง จากปัญหาสงครามรัสเซียและยูเครน

ล่าสุด “โกลด์แมน แซคส์” หนึ่งในสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของโลก ได้ออกมาคาดการณ์ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ อาจแตะที่ระดับ 135 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ในไตรมาสที่สามของปีนี้ มีแนวโน้มแตะสูงสุดที่ 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

แม้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ยังเพิ่มสูงขึ้นตลอด แต่ในด้านของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ “กนง.” เองแล้ว ยังไม่ตัดสินใจฟันธงขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันอยู่ที่ 0.50% เพื่อสะกัดกั้นเงินเฟ้อ

หลักใหญ่ก็มาจากการไม่ต้องการให้ “ดอกเบี้ย” กลายเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจ ในช่วงนี้ จึงทำให้เสียงของคณะกรรมการกนง.ในรอบนี้จึงไม่เป็นเอกฉันท์ โดย 4 เสียงให้คงดอกเบี้ยไว้ก่อน ขณะที่อีก 3 เสียงเสนอให้ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

ขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จากนี้ไป “ดอกเบี้ยนโยบาย” จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาสะกัดกั้นเงินเฟ้อ ไม่ให้ทำลายเศรษฐกิจไปมากกว่านี้อีก แต่ทั้งหมดก็ต้องดูให้แน่ใจให้ชัดเจนก่อน

เอาเข้าจริงแล้ว กนง.บอกว่า เมื่อดูข้อมูลจะพบว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 1% แม้ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนจะเพิ่มขึ้นถึง 120 บาท หรือประมาณ 0.5% ของรายได้ก็ตาม แต่ก็แตกต่างกับกรณีที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นถึง 7-8 เท่าทีเดียว

ในเรื่องนี้…กนง.ได้ออกมายอมรับชัดเจนว่า “เป็นห่วง” หากเงินเฟ้อสูงขึ้น และยิ่งสูงนาน ยิ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายนานขึ้น ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยแต่เพิ่มภาระเล็กน้อย แต่ทำให้เงินเฟ้อกลับลงมาได้ ก็น่าจะคุ้มค่าต่อการดูแลปัญหาปากท้องของประชาชนตาดำ ๆ ได้

ด้วยเหตุนี้จึงชี้ชัดได้ว่า นอกจากปัญหาปากท้องข้างของแพงแล้ว จากนี้ไปต้นทุนภาระทางการเงินจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะสูงตามไปด้วย

ปัญหาใหญ่ อยู่ที่ว่าการส่งสัญญาณที่ชัดเจนของ กนง. ในครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ “เข้าใจ” ได้มากน้อยขนาดไหน

เพราะ!! อย่าลืมว่า ทุกวันนี้ทุกคนต่างเผชิญภาวะ “แพงทั้งแผ่นดิน” อยู่แล้ว หาก “ดอกเบี้ยเงินกู้” ที่จำเป็นต้องไปขอกู้มาเพื่อ “เลี้ยงชีพ” ต้องแพงขึ้นไปอีก แล้วจะทนกันไหวมั๊ย

แม้ในภาพใหญ่ ในภาพรวม จะเป็นการดูแลเศรษฐกิจก็ตาม แต่อย่าลืมอธิบายให้ ตาสี ตาสา ยายมี ยายมา ให้เข้าใจด้วยก็เท่านั้น!!

……………….

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img