วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“มจร” จาก “วันวาน” ถึง “วันนี้”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“มจร” จาก “วันวาน” ถึง “วันนี้”

เห็นภาพพระนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ “มจร” ซ้อมรับปริญญา โดยมีคณาจารย์ คณบดี รองอธิการบดี ร่วมฝึกซ้อมและให้กำลังใจ ดูแล้ว “คึกคัก” ภูมิใจแทนผู้บริหารและศิษย์พวกเราชาว มจร ซึ่งปีนี้มีผู้จบการศึกษาทุกระดับชั้นทั้งสิ้น 4,370 ท่าน

และปีนี้ที่น่า “ปลื้มปีติ” กว่าทุกปี คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จมามอบปริญญาบัตรให้ หลังจากว่างเว้นมา 2-3 ปี เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

ปีนี้แม้จะเสด็จมาวันแรกวันเดียว แค่คาดว่า “ปีหน้า” คงมาครบทั้ง 2 วัน เนื่องจากการประทานปริญญาบัตรกับผู้จบการศึกษา นอกจากเกิดความภูมิใจมีเกียรติสำหรับผู้รับแล้ว มันสร้างความ “ผูกพัน” ระหว่างพระนิสิตกับ “สังฆบิดร” ด้วย

สำหรับ “มจร”  มีนิสิตที่สำเร็จการศึกษามาแล้วจำนวน  67 รุ่น แยกเป็นระดับปริญญาตรี 63,484 รูป/คน ปริญญาโท 10,154 รูป/คนและปริญญาเอก 2,537 รูป/คน รวมทั้งสิ้น 76,175 รูป /คน

เปิดการเรียนการสอนไปแล้วทั่วประเทศและทั่วโลก โดยในต่างประเทศมีสถาบันสมทบ 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศฮังการี สิงคโปร์ ศรีลังกา เกาหลีใต้ และใต้หวัน ส่วนการเซ็นต์ความร่วมมือหรือ MOU มีหลายประเทศเช่นเดียวกัน ซึ่งตรงนี้มันสื่อได้ว่า “มจร” กำลังเป็น “มหาวิทยาลัยสงฆ์” ระดับโลกนั่นเอง

สำหรับวิทยาเขตในไทย ครอบคลุมทุกภูมิภาคใน 45 จังหวัด เปิดการเรียนการสอนมากถึง 227 หลักสูตร เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไป มีนิสิตทั้งสิ้นประมาณ 20,000 รูป/คน มีผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่มากกว่า 3,000 รูป/คน

สำหรับปีนี้เท่าที่รู้มี “พระสังฆราช” จากต่างประเทศมารับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ อย่างน้อย 2 ประเทศ คือ ประเทศลาวและประเทศพม่า ส่วนภายในประเทศมีพระคุณเจ้าหลายรูปที่เข้ารับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เช่นเดียวกัน หรือแม้แต่ฆราวาสที่สังคมรู้จักก็เข้ารับหลายคน เช่น ชวน หลีกภัย, สุทธิพงษ์ จุลเจริญ, ฐาปน สิริวัฒนภักดี เป็นต้น

“มจร” ในวันนี้แตกต่างจากวันวานตอนที่ “เปรียญสิบ” เรียนอย่างสิ้นเชิง ตอนที่เปรียญสิบเรียนปีแรก “มจร” ยังไม่มีพระราชบัญญัติเป็นของตนเอง “วุฒิการศึกษา” สาขารัฐศาสตร์ที่ “เปรียญสิบ” เรียน กพ.ยังไม่รับรอง มีรุ่นพี่หลายคนเรียนเก่งมีความรู้ไปสมัครสอบ “ราชการ” ติด แต่เมื่อเขาเช็ควุฒิการศึกษาแล้ว “ไม่ผ่าน” บางคนท้อแท้สิ้นหวังกลับไปไถนา ทำไร่ ทำสวนหรือแม้กระทั้ง “บวชใหม่” หันไปสอนนักธรรม บาลี ใหม่ก็มี

ครูบาอาจารย์ก็ไม่ได้ “ล่ำซำ” แบบทุกวันนี้ ยุคนั้นรายได้ชั่วโมงละ 300 บาท บางคนใจดีสอนเสร็จสั่งน้ำมาเลี้ยงนิสิตก็มี

ยุคนั้นคนที่มีรถเบน์ขับน่าจะเป็น “ดร.ธีรยุทธ์ พึ่งเทียร” ท่านเดียว ส่วน “ดร.สุรพล สุยะพรหม” เพิ่งสึกออกมาใหม่ ๆ ตอนนั่นร่ำลือว่า “ทักษิณ ชินวัตร” ชวนไปเล่นการเมืองบ้าง เนื่องจากทักษิณ จะตั้งพรรคการเมืองและเป็นคนเหนือด้วยกัน หรือแม้กระทั้งว่าจะมี “มหาวิทยาลัยอื่น” ชวนท่านไปอยู่บ้าง “มจร” โชคดีที่ท่านไม่จากไป เพราะปัจจุบัน “มจร” ได้ ดร.สุรพล สุยะพรหม เป็น “กำลังหลัก” สำคัญในการพัฒนา “มจร” ให้ก้าวหน้า ทันสมัย และมีเครือข่ายภาคประชาสังคมอื่น ๆ

“พระนิสิต” ตอนนั้นไปเรียนศูนย์วัดศรีสุดาราม ไม่มีรถรับส่งประจำแบบนี้ ยุคนั้นหากจำไม่ผิด “มจร” มี รถรับส่งเก่า ๆ แค่ 2 คัน มาบ้างไม่มาบ้าง เพราะเสียบ่อย จะไปพึ่งรถเมล์ ๆ ก็ไม่ค่อยรับพระเพราะรับพระไม่ได้เงิน ต้องอาศัยเรือด่วนเจ้าพระยาและรถกระเปาะตรงสถานีรถไฟติดกับ รพ.ศิริราช ภัตตาหารเพล ก็ไม่มีเลี้ยง หอพักไม่มี ห้องสมุดหนังสือน้อยกว่านี้มากนัก บางวันอาจารย์ไม่มาสอน “เปรียญสิบ” จะแวะไปอ่านหนังสือที่คณะรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเนืองนิตย์ เพราะมีหนังสือดีกว่า ใหม่กว่า ทันสมัยกว่า

ทุกวันนี้ “มจร” ก้าวไกล เป็นที่รู้จักไม่เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น แม้แต่นานาชาติก็รู้จัก โดยเฉพาะเรามีจุดแข็งคือด้าน “พุทธศาสน์”  ซึ่งมีหลักสูตรและอาจารย์สอนที่เชี่ยวชาญและงานวิจัยที่เข้มข้นอยู่ตรง มจร.

ไม่แปลกใจที่วันนี้ “มจร”  มีนิสิตนานาชาติแห่มาเรียนถึง 1,300 รูป/คน จาก 28 ประเทศ

มหาวิทยาลัยในไทยไม่ว่าจะเป็น จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหิดล หากพูดถึงนิสิตต่างชาติมาเรียนมากมายขนาดนี้ ไม่มีสถาบันไหนสู้ “มจร” ได้

เห็นภาพผู้บริหารนำพระนิสิต นิสิตรุ่นน้องซ้อมรับปริญญากันแล้วจึง “ภูมิใจ” แทนที่วันนี้ “มจร” ของพวกเรามีพัฒนาการก้าวไกลและก้าวหน้ามาก เป็น “มหาวิทยาลัย” ที่คณะสงฆ์นานาชาติและชาวพุทธ “มุ่งหวัง” อยากมาเรียน อยากมาเยือน นำเป็นแบบอย่างไปพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนของพวกท่าน

แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่ “มจร” มีได้ดังทุกวันนี้ มิใช่ได้มาแบบ “ลาภลอย” หรือมีคน “บันดาล” ให้ หรือ “โชคช่วย” ที่เกิดขึ้นได้เนื่องจากเพราะ“มจร” มีการทุ่มเทและเสียสละจาก “คณะผู้บริหาร” ทั้งในยุคเก่าและยุคปัจจุบันนั่นเอง

วันนี้เขียนด้วยความ “ปลื้มใจ” และภูมิใจในฐานะศิษย์เก่าที่เห็นปรากฎการณ์แบบนี้เกิดขึ้นใน “มจร”

หวังว่าพวกเราจะรักษามาตรฐานและเอกลักษณ์ความเป็น “มหาวิทยาลัยสงฆ์” แบบนี้อีกนานเท่านาน

เมื่อนั้น “มจร” ของพวกเราก็จะเป็น “ที่พึ่ง” ให้กับสังคมและประเทศชาติด้าน “คุณธรรมและสติปัญญา” ตลอดไปเช่นกัน

…………

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย…“เปรียญสิบ” : riwpaalueng@gmail.com

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img