วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSชิงเก้าอี้“ผู้ว่าฯกทม.” ลับ-ลวง-พราง.. “บิ๊กแป๊ะ”ลุ้น“ชัชชาติ”ถอนตัว
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ชิงเก้าอี้“ผู้ว่าฯกทม.” ลับ-ลวง-พราง.. “บิ๊กแป๊ะ”ลุ้น“ชัชชาติ”ถอนตัว

แม้จะมีข้อสงสัยการทำงาน โพลบางสำนัก  แต่หลายครั้งผลสำรวจ เกี่ยวกับบางเรื่องก็จุดความน่าสนใจให้สังคมได้ไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งนำมาสู่การถกเถียงได้มากเลยทีเดียว

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ “นิด้าโพล” เปิดเผยผลสำรวจประชาชน เรื่อง “อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 6” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-30 ก.ย. จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร (กทม.)  

กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,318 หน่วยตัวอย่าง เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 97.0 จากการสำรวจ เมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯกทม. พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 29.74 ระบุว่าเป็น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อันดับ 2 ร้อยละ 27.92 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ

อันดับ 3 ร้อยละ 13.66 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อันดับ 4 ร้อยละ 9.33 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อันดับ 5 ร้อยละ 4.10 ระบุว่าเป็น น.ส.รสนา โตสิตระกูล อันดับ 6 ร้อยละ 3.26 ระบุว่าเป็น ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อันดับ 7 ร้อยละ 2.73 ระบุว่าเป็นผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล (ก.ก.)

อันดับ 8 ร้อยละ 2.20 ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย (พท.) อันดับ 9 ร้อยละ 1.97 ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อันดับ 10 ร้อยละ 1.29 ระบุว่าเป็น นายสกลธี ภัททิยกุล

อันดับ 11 ร้อยละ 1.14 ระบุว่า ไปลงคะแนนแต่ไม่เลือกใคร (Vote NO) และ จะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ในสัดส่วนที่เท่ากัน และร้อยละ 1.52 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ผู้สมัครจากพรรคกล้า ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ  (พปชร.) ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ผู้สมัครจากพรรคไทยภักดี (ทภ.) และเฉยๆ ไม่ตอบ ไม่สนใจ

ใครติดตาม “นิด้าโพล” หรือโพลบางสำนัก  เวลาสอบถามผลสำรวจเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. มักจะพบว่า คะแนนนิยม “นายชัชชาติ” สูงติดอันดับแรกอยู่เสมอๆ แม้ว่าผลงานสมัยดำรงตำแหน่ง “รมว.คมนาคม” ในห้วงเวลา “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มีสถานะนายกรัฐมนตรี จะไม่เป็นชิ้นเป็นอัน รวมถึงโครงการระบบขนส่งมวลชน 2.2 ล้านบาท ก็ไปไม่ถึงฝากฝัน แถมการจัดงบพีอาร์โครงการใหญ่ ซึ่งกำหนด วงเงินไว้สูงถึง  240 ล้านบาท ก็ถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. )ชี้มูลความผิด อดีตเจ้าหน้ารัฐ  รวมทั้งสื่อบางสำนักก็ติดร่างแหไปด้วย

เพราะการเมืองไทยบางครั้งใครสร้างภาพเก่ง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อ มักได้เปรียบถูกยกให้เป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ จึงไม่แปลกเมื่อ “อดีตรมว.คมนาคม” จึงถูกมองว่า ตีตราจองตำแหน่ง “ผู้ว่าฯกทม.ฯ” ไว้เรียบร้อยแล้ว เว้นเสียแต่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ถูกรุมกินโต๊ะจากผู้สมัครรายอื่นๆ มีการเปิดโปงเรื่องฉาวในอดีต ซึ่งโยงใยถึงนายชัชชาติ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้ เนื่องจากประกาศตัวไว้อย่างชัดเจน จะลงสมัครแบบอิสระ ไม่สังกัดพรรค แม้จะมีความสัมพันธ์อันดีกับ “นายทักษิณ ชินวัตร” และ “คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์” ซึ่งเป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทย (พท.) ตัวจริงก็ตาม

ด้วยข้ออ้างไม่อยากผูกติดกับพรรคการเมืองไหน อยากให้ภาพตนเองเป็นอิสระ สามารถทำงานร่วมกับทุกฝ่ายได้ แต่ลึกๆ แล้วเชื่อว่า “อดีตรมว.คมนาคม” คงมองออกว่า แกนนำพรรคฝ่ายค้าน เปรียบเมือนสายล่อฟ้า เมื่อถึงเวลาหาเสียงเลือกตั้ง อาจมีการหยิบยกประเด็นอ่อนไหวมาโจมตี เพราะสถานภาพของ “นายทักษิณ” เป็น นักโทษหนีคดี การนำตัวไปผูกพันกับอดีตนายกฯ อาจต้องเผชิญวิบากกรรมจนหมดอนาคตการเมือง  เหมือนนักการเมืองหลายคน ยิ่งการเมืองไทยมีความซับซ้อน มักเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้เสมอ  

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เว้นเสียแต่ช่วงต้นปีหน้า ซึ่งถูกกำหนดเวลาให้มีการเลือกตั้ง ผู้เข้ามาทำหน้าที่บริหารเมืองหลวง กระแสความนิยมอาจพลิกไปอยู่กับ “พท.” จนทำให้ “นายชัชชาติ” ต้องทบทวนตัดสินใจการทำงานการเมืองใหม่ ขอลงสมัครในสังกัดพรรคแกนนำฝ่ายค้าน หรือตัดสินใจหันเหๆลงเล่นการเมืองสนามใหญ่  

โดยอาศัยบารมีและเงินทุน “นายทักษิณ” และ “คุณหญิงพจมาน” เพื่อก้าวไปชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี  เพราะไม่ว่ารูปแบบการการเลือกตั้ง จะเป็นแบบไหนก็ตาม พท.ยังได้เปรียบอยู่ดี แม้ต้องเผชิญแรงเสียดทานมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าคว้าชัยชนะแล้ว เสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง (250 เสียง) จะมีใครมาร่วมงานด้วยหรือไม่ ก็ต้องรอลุ้นกันอีกที เนื่องจากการเมืองไทยมีตัวแปรหลายอย่าง อีกทั้ง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ก็ยังมีสิทธิให้ความเห็นชอบ กระบวนการเลือกนายกฯด้วย

แต้ถ้าจับเข่าถาม “นายชัชชาติ” วันนี้อยากทำอะไรในอนาคต คำตอบที่ได้รับ อยากลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. มากกว่า เพราะทำงาน ด้วยความอิสระ ไม่ต้องคำนึงถึงการตอบแทนบุญคุณใคร อีกทั้งถ้าประสบความสำเร็จ ความนิยมก็คงจะตกกับตัวเอง มีผลต่อการลุ้นชิงเก้าอี้นายกฯในอนาคต เช่นเดียวกับ “นายสมัคร สุนทรเวช” หัวหน้าพรรคพลังประชาชน (พปช. ) ซึ่ง “อดีตรมว.คมนาคม” มีหนทางเลือกอยู่หลายทาง เนื่องจากอายุยังไม่มาก ภาพลักษณ์ภายนอกดูดี   

ขณะที่ผู้สมัครที่มีความตั้งใจแน่วแน่ กับลงสู้ศึกครั้งนี้ คงหนีไม่พ้น “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา  อดีตผบ.ตร.  ซึ่งทั้งทีมงานละตัวเองก็ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบปัญหาโควิด-19 และภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอย่างอดีตผบ.ตร. จะลงสมัครแบบอิสระ ไม่สังกัดพรรค มี “พลังประชารัฐ” (พปชร.) แกนนำรัฐบาล เป็นกองหนุน แม้จะมีข่าว “บิ๊กวิน” พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. คนปัจจุบัน ซึ่งอาจตัดสินใจลงสมัครแบบไม่สังกัดพรรค โดยเชื่อว่าจะมีแรงหนุนจาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี

@chakthipchaijinda.official

แต่ในที่สุด สมาชิกพรรคพปชร. โดยเฉพาะส.ส. กทม.คงให้การสนับสนุน “อดีตผบ.ตร.” เพราะเคยมีข่าว “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ หัวหน้าพรรคพปชร. ส่งสัญญาณให้สมาชิกพรรคสนับสนุน “พล.ต.อ.จักรทิพย์”

ขณะที่ “บิ๊กแป๊ะ” ก็ยอมรับว่า คะแนนยังเป็นรอง “นายชัชชาติ” ยังหวังลึกๆ ว่า “อดีตรมว.คมนาคม” จะถอนตัว ไม่ลงสู้ศึกในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อไปไปลุ้นเก้าอี้นายกฯในสนามใหญ่ เพราะถ้าอดีตรมว.คมนาคมเกิดพ่ายแพ้ จะกลายเป็นรอยด่างทางการเมือง ถูกฝ่ายตรงข้ามนำไปขยายผล ในทำนองเลือกตั้งชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.ยังพ่ายแพ้ แล้วจะมาเสนอตัวเป็นหัวหน้ารัฐบาลได้อย่างไร ใครยังจะเลือกอีก  เนื่องจากความพ่ายแพ้ ย่อมต้องเกิดอาการบอบช้ำทางการเมือง

ส่วน “อดีตผบ.ตร.” แม้ในที่สุดเกิดพลาดท่าเสียที ก็ไม่เสียหายอะไรมากหนัก ไม่ได้ตั้งเป้าหวังไกลไปถึงตำแหน่งนายกฯ ในอนาคตอาจไปสมัครเป็น สมาชิกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ด้วยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ “นายเนวิน ชิดชอบ” ประธานสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด หรืออาจไปร่วมงานกับ “พรรคปลัดฉิ่ง” นายฉัตรชัยพรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะรองรับนักการเมืองจากพรรคพท.ที่จะย้ายออกจากพรรค

ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆนั้น ทั้ง “พท.” หรือแม้กระทั่ง “ประชาธิปัตย์” (ปชป.) ก็คงเป็นเพียงแค่ไม้ประดับ  ด้วยคะแนนตามโพลไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะ “แกนนำพรรคฝ่ายค้าน” คงอาศัย “นายชัชชาติ” ช่วยทำหน้าที่สงครามตัวแทน แต่พรรคการเมืองเก่าแก่ ซึ่งเคยเจ้าสนามยึดพื้นที่กทม.มาอย่างยาวนาน แต่ผลเลือกตั้งล่าสุด กลับประสบความล้มเหลว ไร้ส.ส.ในเขตเมืองหลวงประเทศไทย ก็ยังขอลุ้นตำแหน่งสำคัญด้วย

ขณะที่ “นายราเมศ รัตนะเชวง” โฆษกพรรคปชป. กล่าวถึงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยนิด้าโพล ที่ออกมาเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ว่า ไม่กังวลกับผลโพล เพราะเชื่อมั่นชาวกรุงเทพฯ ที่ให้ความไว้วางใจผู้สมัครของพรรคปชป. ตลอดมา ซึ่งขณะนี้พรรคได้เตรียมการทุกอย่างไว้ครบถ้วนแล้ว ทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ทีมงาน และที่สำคัญที่สุด คือเรื่องนโยบาย ที่มีการจัดเตรียมไว้ครบถ้วน ซึ่งพรรคได้มีการเตรียมความพร้อมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เพราะพรรคให้ความสำคัญกับพี่น้องชาวกรุงเทพฯเสมอ

ส่วนผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ในนามพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นใครนั้น นายราเมศ กล่าวว่า เมื่อเปิดตัวมา ชาวกทม. จะให้การตอบรับอย่างสูงสุด เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ มีศักยภาพที่จะบริหารราชการกรุงเทพฯ พัฒนาไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ไปสู่ความสำเร็จอย่างแน่นอน และ มีผลงานด้านการบริหารจัดการเป็นที่ประจักษ์ จึงมีความมั่นใจว่าชาวกรุงเทพฯ จะไว้วางใจให้ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ให้ได้เข้ามาทำงานอย่างแน่นอน

ก่อนหน้านั้น “นายองอาจ คล้ามไพบูลย์” รองหัวหน้าพรรคปชป.  และ ประธานยุทธศาสตร์กทม. ในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่กทม. เคยกล่าวไว้ว่า สำหรับผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ปชป.ดำเนินการสรรหาตัวผู้สมัครมา ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว โดยมีการพูดคุยคนที่สนใจและคนที่พรรคคิดว่าน่าสนใจ 3-4 ท่าน จนขณะนี้เหลืออยู่ 2 ท่าน ที่อยู่ในข่ายพรรคจะพิจารณา เมื่อถึงเวลาเหมาะสมที่ต้องตัดสินใจ ก็จะมีการประชุมคณะกรรมการสรรหาและคณะกรรมการบริหารเพื่อตัดสินใจครั้งสุดท้าย 

คิดว่าคงไม่น่าจะมีใครมาขอลงสมัครเพิ่มอีกแล้ว เกณฑ์ในการเลือกผู้สมัครของเรา คือ มีรู้ความสามารถ เป็นบุคคลสาธารณะ ความมุ่งมั่น มีบุคลิกลักษณะที่พร้อมจะทำงานร่วมกับคนอื่นได้ และ มีภาวะผู้นำผู้บริหารระดับสูง

หลายคนเชื่อว่า 2 คนที่อยู่ในข่าย ได้รับการผลักดันให้ลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในนามตัวแทนปชป. น่าจะมีหนีไม่พ้น “ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งมักออกเสนอแนวความคิด เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาต่างในพื้นที่เมืองหลวง ส่วนอีกคนน่าจะเป็น “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” รองหัวหน้าพรรคปชป. ซึ่งช่วยดูแลงานด้านเศรษฐกิจให้พรรค ซึ่งผ่านงานการเป็นผู้บริหาร ให้บริษัทเอกชนหลายแห่ง

แต่แม้คนเมืองหลวงจะมีหลายทางเลือก แต่บางพรรค ยังไม่มีข้อสรุป หลายคนยังไม่ตัดสิน เหมือนออกอาการลังเล ใช้ยุทธวิธีลับลวงพราง  จะมีเพียง “บิ๊กแป๊ะ” เท่านั้น ที่ยืนหนึ่งมาตลอด ขอลงชิงชัยในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. แต่ก็ยังลุ้นให้ “นายชัชชาติ” ถอนตัว ไปลงเลือกตั้งสนามใหญ่ ลุ้นเก้าอี้นายกฯกับ “พท.”  แต่กว่าจะถึงวันที่เปิดรับสมัครชิงตำแหน่ง “ผู้ว่าฯกทม.” อาจมีเซอร์ไพรส์ ให้คนเมืองหลวงได้เห็นอีกก็ได้

…………………………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย… “แมวสีขาว”

                                                                                                               

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img