วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSจับตา“เศรษฐกิจไทย”… โดนหางเลข SVB-Credit Suisse
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จับตา“เศรษฐกิจไทย”… โดนหางเลข SVB-Credit Suisse

ปรากฏการณ์การล่มสลาย Silicon Valley Bank (SVB) สะท้อนถึงสถาบันการเงินที่เป็นเหยื่อจากการสิ้นสุดยุคดอกเบี้ยต่ำ เนื่องจากได้รับผลกระทบโดยตรงจากกรณี ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ “เฟด” (Federal Reserve System) ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อมาอย่างต่อเนื่อง และยังมีท่าทีว่าจะปรับขึ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าระดับเงินเฟ้อจะเป็นที่น่าพอใจ

ใครจะไปเชื่อว่า ธนาคารที่มีอายุเกือบ 40 ปี ผลประกอบการดีมาตลอด เพิ่งได้รับยกย่องจาก Forbes ว่าเป็นหนึ่งใน ธนาคารที่ดีที่สุดของสหรัฐ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้นี่เอง กลับต้องมาพังครืนในพริบตา

เหตุการณ์นี้เกิดในวันที่ 10 มีนาคม 2566 เมื่อ SVB เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดใน Silicon Valley และใหญ่เป็นอันดับ 16 ของสหรัฐอเมริกา มีสินทรัพย์ 700,000 เหรียญ หรือมีขนาดใหญ่กว่าแบงก์ใหญ่ของไทย 2 แบงก์รวมกัน ซึ่ง SVB มีลักษณะพิเศษตรงที่,uความเชี่ยวชาญในการให้บริการทางการเงินการธนาคารกับกลุ่มสตาร์ทอัพ และบริษัทเทค เป็นหลัก

ปัญหาทั้งหลายเกิดจาก SVB มีวิธีการบริหารเงินต่างจากธนาคารพาณิชย์ทั่วๆ ไป โดยจะทำธุรกิจด้วยการรับฝากเงิน และปล่อยกู้แก่ผู้ต้องการเงินทุน จะมีกำไรจากผลต่างของดอกเบี้ย แต่ SVB เลือกนำเงินฝากของเหล่าสตาร์ทอัพ ไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนระยะยาวแทน

Silicon Valley Bank offices at the Hayden Ferry Lakeside I building at 80 East Rio Salado Parkway, Tempe, Arizona.

ที่ผ่านมาปัญหายังไม่โผล่ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ไม่มีปัญหาอะไร แต่หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย สหรัฐต้องเจอปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ “เฟด” ในฐานะธนาคารกลางต้องใช้มาตรการทยอยขึ้นดอกเบี้ย สกัดไม่ให้เงินเฟ้อสูง ปกติอัตราดอกเบี้ยจะแปรผันตรงข้ามกับตราสารหนี้ นั่นหมายความว่า พันธบัตรรัฐบาลที่ SVB ถือไว้ มีมูลค่าลดลงเรื่อยๆ เข้าตำรา “น้ำลดตอผุด” นั่นเอง

ประกอบกับกลุ่มสตาร์ทอัพที่ฝากเงินไว้กับ SVB เริ่มมีปัญหาธุรกิจ ขาดสภาพคล่อง จึงมาถอนเงินเพื่อประคับประคองธุรกิจ ไม่ได้มาแค่ราย-สองราย แต่แห่ถอนพร้อมๆ กัน จนเกิดกรณีที่เรียกว่า “Bank Run” เพราะธนาคารมีเงินสดไม่พอจ่ายคืน จำเป็นต้องขายพันธบัตรแบบขาดทุน ประมาณว่าขาดทุนถึง 62,000 ล้านบาท เลยทีเดียว

ยิ่งมีข่าวแพร่ออกไป บรรดาผู้ฝากเงินก็ยิ่งพากันแห่ถอนหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะกลัวแบงก์ล้ม ขณะที่สถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐ คุ้มครองเงินฝากให้แค่ 250,000 เหรียญ หรือ 8.5 ล้านบาทเทานั้น เท่ากับกว่า ใครที่ฝากมากว่านี้ ส่วนที่เกินก็จะสูญทันที ปรากฏว่าเงินที่ถูกถอนทั้งหมดราว 1.5 ล้านล้านบาท แต่ SVB มีเงินสดแค่ 33,000 ล้านบาท ไม่สามารถหาเงินคืนในส่วนที่เหลือได้

สุดท้าย สถาบันประกันเงินฝาก จึงต้องเข้ามาอุ้ม ผู้ฝากเงิน โดยประกาศคุ้มครองเงินฝากทั้งหมด เพื่อไม่ให้กระทบกับเศรษฐกิจภาพรวม สตาร์ทอัพจะได้มีเงินไปหมุน ไปจ่ายพนักงานพร้อมกับสั่งปิด SVB ทันที

งานนี้ต้องบอกว่า ทางการสหรัฐได้ยื่นมือเข้ามาแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลาม แต่กระนั้นก็ตามยังมี Signature Bank ต้องเจอปัญหาเดียวกันและก่อนหน้า SVB ก็มี Silvergate Bank เจอวิกฤติไปก่อนหน้าเพียงวันเดียว

ถัดมาไม่ถึงสัปดาห์เมื่อวันที่ 15 มีนาคม เมื่อ ราคาหุ้นธนาคาร Credit Suisse ร่วงลงมา 24% ถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากธนาคารยอมรับในรายงานว่า พบความอ่อนแอในรายงานทางการเงิน ทำให้ธนาคารแห่งชาติซาอุดิอาระเบีย (Saudi NATIONAL Bank) ประกาศไม่อัดฉีดเงินทุนให้ Credit Suisse ทำให้ในวันรุ่งขึ้นราคาหุ้นธนาคารก็ลงลงอีก 30% จึงสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ฝากเงิน

เหตุการณ์ของ Credit Suisse แม้จะไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่มีปัญหามานานและไม่กี่ปีมานี้ก็มีเรื่องอื้อฉาวหลายครั้งทั้งเรื่องฟอกเงินและอื่นๆทำให้ต้องสูญเสียเงินมหาศาล แต่เนื่องจาก Credit Suisse  มีประวัติเป็นธนาคารเก่าแก่ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1856 เป็นธนาคารใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสวิส มีสินทรัพย์มากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ อีกทั้งได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 30 ธนาคารที่มีอิทธิพลต่อการเงินของโลก และมีความเชื่อมโยงต่อการเงินโลก

Credit Suisse

เมื่อมีปัญหา ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า จะกลายเป็นไฟลามทุ่ง ธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์จึงต้องออกมาเร่งดับไฟทันที โดยอัดฉีดเงินก้อนใหญ่จำนวน 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.85 ล้านล้านบาท เพื่อให้มีสภาพคล่อง

เมื่อวาน (เช้าวันจันทร์) มีข่าวว่าธนาคาร UBS ตัดสินใจเข้าเทคโอเวอร์ Credit Suisse ในราคา 3,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 110,987.5 ล้านบาทผ่านการทำข้อตกลงกับหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารใหญ่อันดับ 1 กับอันดับ 2 ของสวิส เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว

การควบรวมกิจการแบบสายฟ้าแลบ ขีดเส้นตายต้องแล้วเสร็จก่อนก่อนตลาดหุ้นจะเปิดทำการ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ Credit Suisse ว่ามีอิทธิพลมากน้อยเพียงใด

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งกับ SVB และ Credit Suisse สะท้อนให้เห็นการทำงานที่เด็ดขาดฉับไวของทางการสหรัฐและสวิส เรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาให้เร็วที่สุด เพื่อสกัดไม่เกิดวิกฤติความเชื่อมั่นรุนแรงมากกว่านี้

สำหรับประเทศไทย ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ก็มีผลต่อตลาดหุ้นไทยที่อ่อนไหวก่อนหน้านี้แล้ว ก็ร่วงระเนระนาดแดงเถือกเกือบทั้งกระดานตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะข้ามมาสัปดาห์นี้ด้วย แต่ในส่วนสถาบันการเงินอาจจะยังไม่กระทบ เพราะฐานะทางบัญชีของธนาคารไทยยังเข้มแข็ง ดังนั้นผลกระทบกับไทยตรงๆ คงไม่มี

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปคงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้แน่ๆ นั่นหมายความว่า ไทยต้องโดนหางเลขทางอ้อม เพราะทั้งสหรัฐและยุโรป เป็นตลาดหลักสินค้าส่งออกของไทย ถ้าทั้งสองตลาดได้รับผลกระทบ ไทยก็ส่งออกไม่ได้ อย่าลืมว่า ภาคส่งออกของไทยคือเครื่องยนต์หลักในการสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยมีสัดส่วนกว่า 60% ของจีดีพี ขณะที่ท่องเที่ยวเต็มที่ก็แค่ 12% เท่านั้น อีกทั้งไม่รู้ว่าท่องเที่ยวไทยจะเป็นไปตามที่ตั้งเป้าหรือไม่

ที่สำคัญหากสหรัฐยังต้องขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อต่อไป จะปัจจัยกดดันให้ไทยต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม ก็จะทำให้ต้นทุนส่งออกของไทยสูงขึ้น การแข่งขันก็จะยิ่งยาก แม้ว่าวิกฤติเที่ยวนี้ไม่กระทบสถาบันการเงินแต่จะกระทบการส่งออกและเศรษฐกิจภาพรวมของไทย อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img