วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์... “จะเดินหน้า” หรือ “หยุดแค่นี้”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์… “จะเดินหน้า” หรือ “หยุดแค่นี้”

ครบ 1 เดือนแล้วที่รัฐบาลผลักดันโปรเจกต์ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ถือเป็นการซ้อมมือพลางๆ ก่อนที่จะเปิดประเทศใน 120 วัน ขณะเดียวกันก็หวังจะปักธงท่องเที่ยวไทยให้โลกได้รู้ว่า ภูเก็ตพร้อมเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกแล้ว แม้สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระลอก 3 กำลังแรงและหนักขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องผลักดัน “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ให้นักท่องเที่ยวเข้ามา เพราะความจำเป็นด้านเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตเอง ถ้าไม่เปิด เศรษฐกิจก็จะพัง ยิ่งหากปล่อยให้ยืดเยื้อออกไปเรื่อยๆ ภูเก็ตที่เคยเป็น “จังหวัดเศรษฐี” จะกลายเป็น “จังหวัดยาจก” ทันที

จากงานวิจัยของ คณะการบริการและการท่องเที่ยวมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ระบุว่า มีความเป็นไปได้อย่างสูง ที่รายได้ของคนภูเก็ตระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 1,984 บาทต่อเดือน ขณะที่เส้นความยากจนของไทย 3,044 บาทต่อเดือน หากรัฐบาลไม่ทำอะไร รายได้คนภูเก็ตก็จะต่ำกว่าเส้นความยากจน อันเป็นผลมาจากรายได้จากการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตลดลงเฉียบพลัน นั่นเอง

นี่คือคำตอบทำไมต้องมี “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” และรัฐบาลเองก็หวังจะใช้ภูเก็ต สร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเกิดความมั่นใจ ถึงกับยกขบวนคณะรัฐมนตรี และระดมหอการค้าทั่วประเทศไปร่วมงานกันอย่างคึกคัก จนมีหลายคนตั้งข้อสังเกตุว่า งบประมาณในการจัดพิธีเปิด, ค่าจ้างออร์กาไนซ์จัดงาน และค่าจ้างพีอาร์ทำประชาสัมพันธ์โครงการ อาจจะมากกว่ารายได้ที่ได้มาจากนักนักท่องเที่ยว

จากการประเมินความสำเร็จ โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและค่าใช้ต่างๆ ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการคือ มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในภูเก็ตแล้ว 12,000 กว่าคน นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 อันดับแรกที่เข้ามา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, อิสราเอล, เยอรมนี และฝรั่งเศส อัตราเฉลี่ยการเข้าพักต่อคนอยู่ที่ 11 คืน

ในด้านรายได้นั้น ประเมินค่าใช้จ่ายต่อทริปอยู่ที่ 70,000 บาท ได้แก่ ค่าที่พัก, ค่าตรวจสว็อป, ค่าอาหารและเครื่องดื่ม, ค่าพาหนะเดินทางในจังหวัด, ค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เฉลี่ยการใช้จ่ายอยู่ที่ 5,500 ต่อคนต่อวัน ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนอยู่ที่ 534.31 ล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

แม้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาแล้วกว่าหมื่นคน แต่หากเที่ยบกับเป้าหมายที่เคยประเมินกันไว้ ยังถือว่าห่างไกลเป้าหมายพอสมควร เดิมทีทางภาครัฐมีการประเมินว่า ในช่วงไตรมาส 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2564) จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 1 แสนคน สร้างรายได้ 8.9 พันล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้ต่ำว่าที่เคยประเมินกันไว้ก่อนหน้านี้คือ มีนักท่องเที่ยว 1.29 แสนคน และสร้างรายได้กว่า 11,492.2 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ภาพของจังหวัดภูเก็ตวันนี้มี 2 ภาพที่ทับซ้อนกัน ขณะที่รัฐบาลรณรงค์โครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” รับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ แต่อีกด้านหนึ่ง ชาวบ้านก็อยู่กันอย่างหวาดผวาด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้ทางจังหวัดภูเก็ตได้เพิ่มมาตรการปิดพื้นที่เสี่ยง ที่เป็นจุดของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด ที่มีผลตั้งแต่ 27 กรกฎาคม-2 สิงหาคม 2564 ได้แก่…

ปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า และเฟสติวัล เป็นระยะเวลา 7 วัน, ปิดโรงเรียน สถานศึกษา, ปิดสนามกีฬา สนามฟุตบอล สนามฟุตซอล และสนามแบดมินตัน การจัดกิจกรรมรวมตัวกันได้ไม่เกิน 100 คนตลาดนัด/ตลาดสด จำกัดคนเข้าใช้พื้นที่ 4 ตารางเมตรต่อคน

ภูเก็ต

ล่าสุดในวันที่ 29 กรกฎาคม จังหวัดภูเก็ตออกคำสั่ง เรื่อง ยกระดับมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต มีผลตั้งแต่วันที่ 3-16 สิงหาคม 2564 โดยมีสาระสำคัญคือ ห้ามบุคคลและผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภทเข้าจังหวัดภูเก็ต ทั้งทางบก (ด่านตรวจท่าฉัตรไชย) ทางน้ำ (ท่าเรือ) ทุกท่าในจังหวัดภูเก็ต และช่องทางภายในประเทศ (ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต) เว้นแต่เป็นบุคคลหรือผู้ขับขี่ยานพาหนะที่จำเป็น

แม้ทางจังหวัดจะออกมาตรการเข้มข้นก็ตาม แต่ผลกระทบในเชิงจิตวิทยาย่อมมีผลอย่างมาก ทุกวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ ต่างพากันหวาดผวากับการระบาดที่อาจจะรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันทางจังหวัด ต้องสั่งปิดโรงเรียนทั่วเกาะภูเก็ต เด็กๆ ที่เรียนในโรงเรียน ต้องกลับไปเรียนออนไลน์ ทำให้ต้องเสียโอกาสทางการศึกษา เพื่อแลกกับความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ

แต่ที่ดูเหมือนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ไม่พ้นวิบากกรรม เมื่อกลางเดือนที่แล้วก่อนที่จะมีการ “ปิดเมือง” มีข่าวจากต่างแดนที่ไม่เป็นผลดีกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์นัก เมื่อคณะมนตรียุโรป ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ทั้ง 27 ประเทศ ออกแถลงการณ์ ถอดรายชื่อประเทศไทยและรวันดา ออกจากรายชื่อประเทศปลอดภัย ที่ชาติสมาชิกพิจารณาให้สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ในช่วงที่โรคโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด

แม้จะเป็นประกาศจำกัดการเข้าประเทศของเขา แต่เมื่อมีประกาศอย่างนี้ ย่อมมีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยและโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” อย่างมิอาจปฏิเสธได้ คงไม่มีใครอยากมาเที่ยวประเทศที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นทุกวันแน่ๆ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ จึงกลายเป็นความท้าทายของ ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’ กับคำถามที่ว่า ‘จะเดินหน้าต่อไป’ หรือ ‘จะหยุดอยู่แค่นี้’

แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลหรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยังจะเดินหน้าต่อไป แต่หากไปถามความรู้สึกชาวบ้าน อาจจะได้รับคำตอบที่ตรงข้ามก็เป็นได้

……………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย… “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img