วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSฟื้นสัมพันธ์“ไทย-ซาอุ”...ขุมทองใหม่ที่ไม่ใช่“แรงงาน”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ฟื้นสัมพันธ์“ไทย-ซาอุ”…ขุมทองใหม่ที่ไม่ใช่“แรงงาน”

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ที่ห่างเหินกันเป็นเวลานานกว่า 3 ทศวรรษ เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นับเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองประเทศจะกลับมาร่วมมือกันอีกครั้ง โดยยึดหลักผลประโยชน์ร่วมกัน ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แต่ได้มีการเจรจากันมาในทุกรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 6 ปีหลังสุดมานี้ ซาอุดีอาระเบียส่งสัญญาณการตอบรับที่ดีให้กับทางฝ่ายรัฐบาลไทยโดยตลอด

ย้อนเรื่องราวสาเหตุความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศต้องขาดสะบั้นลง ไม่ใช่เพราะกรณี “เกรียงไกร เตชะโม่ง” ขโมยเพชรจำนวนมหาศาลเท่านั้น แต่ความไม่พอใจกลับให้น้ำหนักไปที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียเห็นว่า รัฐบาลไทยในสมัยนั้นไม่จริงจังในการแก้ปัญหา เฉพาะอย่างยิ่งทางการไทยไม่สามารถคลี่คลายคดีฆาตกรรมนักการทูตและการหายตัวไปของนักธุรกิจซาอุดีอาระเบียได้

รัฐบาลซาอุดีอาระเบียไม่ได้เห็นประเทศไทยเป็น “ศัตรู” แต่แค่แสดงความ “ไม่พอใจ” ในท่าทีรัฐบาลไทยเท่านั้น ดังนั้นแม้ความสัมพันธ์ทางการทูตจะถดถอย แต่ทางด้านการค้าก็คงยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขการค้าล่าสุดในปี 2564 ทั้งสองฝ่ายมีการค้าระหว่างกัน คิดเป็นมูลค่า 233,074.6 ล้านบาท แต่ก็ต้องสูญเสีย “นักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก” และ “แรงงาน” ราวๆ 3 แสนคนที่สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความสันพันธ์จะฟื้นกลับมาอยู่ในระดับปกติก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่า บริบทของทั้งสองประเทศที่ห่างเหินกันไปนานกว่า 30 ปีได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะนโยบายด้านแรงงานที่เรียกว่า “SAUDIZATION” ที่ลดอัตราการจ้างงานแรงงานต่างชาติลง โดยกำหนดให้รัฐ-เอกชน จะต้องจ้างคนของเขาทำงานร้อยละ 20 ของคนงานทั้งหมด

นั่นหมายความว่าจะส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยในอนาคตอย่างมิอาจปฏิเสธได้ รวมถึงการที่แรงงานไทยได้ห่างหายไปจากตลาดแรงงานในซาอุดีอาระเบียนาน ทำให้มีแรงงานจากชาติต่างๆ เข้ามาแทนที่ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานอินเดียที่มีทักษะสูง อย่างพวกวิศวกร ฟิลิปปินส์ที่ถนัดงานด้านบริการ แม่บ้าน พยาบาล ที่มีความได้เปรียบด้านภาษา ส่วนแรงงานระดับล่าง ก็จะมีปากีสถาน บังคลาเทศเข้ามาแทนที่

อย่างไรก็ตาม แม้ทุกวันนี้ ซาอุดีอาระเบียยังมีการลงทุนโครงการก่อสร้างระดับเมกะโปรเจ็กต์ ที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก อาจจะเป็นผลดีต่อแรงงานจากไทยบ้าง แต่อย่างที่กล่าวข้างต้น ตลาดแรงงานในซาอุดีอาระเบียอาจจะไม่ง่ายเหมือนในอดีตอีกต่อไป

ต้องบอกว่า หลังจากที่ตลาดแรงงานซาอุดีอาระเบียปิดประตู ไม่ต้อนรับ แรงงานไทยก็หันหัวเรือไปขายแรงงานในอิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ที่มีอัตราค่าแรงสูงกว่า โดยปัจจุบันอัตราค่าแรงงานไร้ฝีมือในตะวันออกกลางอยู่ราวๆ ราว 16,500 บาทต่อเดือน แรงงานกึ่งฝีมือ 17,200 บาทต่อเดือน แรงงานฝีมือราว 19,800-26,500 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ค่าแรงในเกาหลีใต้และอิสราเอล ตกเดือนละ 50,000 บาท ญี่ปุ่นชั่วโมงละ 270 บาท ไต้หวัน 30,000 บาทต่อเดือน ค่าแรงที่ต่างกันมาก คงไม่จูงใจแรงงานไทยเท่าไหร่นัก

ที่สำคัญหากแรงงานไทยจะกลับไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย ต้องปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่คุ้นชิน ภาพจำในอดีตที่คนรุ่นพ่อถูกหลอกถูกโกง จากตัวแทนหางานเอกชน ต้องไปตกระกำลำบากเป็นหนี้เป็นสิน บางคนบ้านแตกสาแหรกขาด จนมีวลีอมตะ “ไปเสียนา มาเสียเมีย” ยังตามหลอนถึงรุ่นลูกๆ ประกอบกับปัจจุบันนี้ ในประเทศเองยังขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก ต้องนำแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน มาทดแทน 3-4 ล้านคน

แต่ที่น่าสนใจตรงที่ภายใต้การปกครองของคณะผู้นำรุ่นใหม่ ประกาศ “วิสัยทัศน์ 2030” เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ ลดการพึ่งพานํ้ามัน หันไปพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆในการสร้างความมั่งคั่ง เช่น การท่องเที่ยว การบริการด้านการเงิน อีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลไทยต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ นโยบายด้านความมั่นคงด้านอาหารของเขา

 

ในช่วงสิบกว่าปีมานี้ รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย เร่งแสวงหา “ที่ดิน” เพื่อใช้เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าว เพื่อป้อนประชาชนของเขา จึงน่าจับตาดูว่าการฟื้นสัมพันธ์กับไทยในครั้งนี้ จะเกี่ยวข้องอะไรกับการหาที่ดินสำหรับทำนาปลูกข้าวหรือไม่ อันที่จริงเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด คงจำกันได้ในสมัยของรัฐบาลไทยรักไทย ที่มี “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรีไทย เคยเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการกว้านซื้อที่ดินเพื่อทำ “เกษตรพันธะสัญญา” เพื่อผลิตข้าวป้อนซาอุดีอาระเบียมาแล้ว แต่ไม่สำเร็จเพราะโดนต่อต้าน หลังจากนั้นก็มีข่าวว่า มีเศรษฐีซาอุดีอาระเบียมาซื้อที่นาเพื่อปลูกข้าวอยู่เนืองๆ แต่ก็เป็นแค่ข่าวลือ

เชื่อว่า สิ่งที่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้ให้ความสนใจประเทศไทยตอนนี้ น่าจะเป็นเรื่องการเป็น “ครัวของโลก” เป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก เพราะประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ ตรงนี้แหละที่น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยและคนไทย มากกว่าการคิดขายแค่แรงงานราคาถูก อีกเรื่องที่น่าจะเป็นโอกาสจริงๆ คือเรื่อง “การท่องเที่ยว” อย่างที่ทราบกันดี นักท่องเที่ยวชาวซาอุดิอาระเบียนั้น เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก หากการกลับมาคืนดีกันก็น่าจะปลุกการท่องเที่ยวไทยคึกคักอีกครั้ง

“แรงงาน” จึงไม่ใช่แหล่งสร้างรายได้เข้าประเทศเหมือนในอดีตอีกต่อไป แต่มีขุมทรัพย์ใหม่ที่ใหญ่กว่านั่นคือ จะทำอย่างไรให้ไทยเป็น “ครัวของโลก” เป็นแหล่งผลิตอาหารป้อนให้กับประชากรซาอุดีอาระเบียและการเปิดให้ “นักท่องเที่ยว” ของเขาได้เข้ามาเที่ยวในบ้านเรามากกว่า

……………………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย...“ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img