วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“เงินบาทอ่อนค่า” เศรษฐกิจไทยได้หรือเสีย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาทอ่อนค่า” เศรษฐกิจไทยได้หรือเสีย

ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า นิยามของคำว่า “ค่าเงินบาทอ่อน” นั้น หมายถึง อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ทำให้ “เงินบาทมีค่าลดลง”

สมมติว่า จากเดิม 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 30 บาท แต่เมื่อค่าเงินบาทลดลง 5 บาท ก็จะทำให้จากเดิมที่ต้องใช้เงิน 30 บาทในการแลกเปลี่ยนกับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ กลับต้องใช้เงินเพิ่มเป็น 35 บาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่าเดิม

ส่วนปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนนั้น มีหลายปัจจัยด้วยกัน เช่นมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสูง หรือมีการเก็งกำไรกับค่าเงิน แต่ค่าเงินบาทอ่อนที่กำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้ เกิดจากเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และจากสัญญาณเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในสหรัฐอเมริกา ตลอดจนการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย

แต่น่าสนใจตรงที่สถานการณ์ล่าสุดของค่าเงินบาทของไทยเวลานี้ แตะระดับอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 5 ปีอยู่ที่ 34.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ อันที่จริงปรากฏการณ์ค่าเงินอ่อนนั้นเป็นเหมือนกันเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯขยับแข็งค่าขึ้น

ประเทศไทยนั้นพึ่งพารายได้จากการส่งออกถึง 75% การส่งออกจึงเปรียบเสมือนหัวใจของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นเมื่อค่าเงินลดลง ผู้ส่งออกก็จะได้กำไรมากขึ้น เช่น จากเดิมขายส่งออกสินค้าชิ้นละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ แลกเป็นเงินไทยได้ 3,000 บาท แต่หากค่าเงินบาทอยู่ที่ 35 บาท การขายสินค้า 1 ชิ้น จะได้เงินเพิ่มเป็น 3,500 บาท จึงถือเป็นช่วงเวลาทองสำหรับผู้ส่งออกที่จะเร่งทำกำไร

จึงไม่แปลกใจ เวลาค่าเงินบาทเกิดผันผวนกลับมาแข็งค่า บรรดาองค์กรธุรกิจและผู้ส่งออกจึงพยายามเรียกร้องแบงก์ชาติและรัฐบาลให้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนลง อ้างว่าค่าเงินบาทแข็งส่งผลสินค้าส่งออกของไทยราคาสูงกว่าคู่แข่ง ทำให้แข่งขันไม่ได้

อย่างที่กล่าวข้างต้น ประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นรายได้หลักของไทย ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันถึง ในยุคแรกๆ ส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ต่อมาเริ่มพัฒนาเป็นสินค้าเกษตรแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าเช่น น้ำตาล ยางพารา กระทั่งเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม แต่สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกของไทยก็ใช้แรงงานเป็นหลัก ไม่ใช่พวกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงหรือสินค้าประเภท นวัตกรรมที่มีมูลค่าสูง

กลยุทธ์การส่งออกของไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีอย่างเดียวคือ ต้องสู้กับคู่แข่งด้วย “ราคา” ดังนั้น “ค่าเงินบาทอ่อน” จึงเป็นอาวุธลับสำคัญในการขายสินค้าสู้คู่แข่งมาตลอด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่เคยมีการพัฒนายกระดับสินค้าส่งออกเป็นสินค้าคุณภาพที่ขายได้ราคา อย่างสินค้าประเภทไฮเทคโนโลยี สินค้านวัตกรรมเหมือนอย่างประเทศที่ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขั้นสูง อย่างสหรัฐอเมริกา เยอรมันและญี่ปุ่น หรือแม้แต่ไต้หวัน ที่ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทีหลังเรา แต่ทุกวันนี้แซงหน้าไปไกลแล้ว เพราะเรามัวแต่หวังพึ่งค่าเงินบาทอ่อนไว้สู้คู่แข่ง

ขณะเดียวกัน “ธุรกิจท่องเที่ยว” ก็ต้องพึ่งเนื้อนาบุญ “ค่าเงินบาทอ่อน” เพราะเมื่อค่าเงินอ่อนตัวลง นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะเห็นว่า ค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในการท่องเที่ยวในเมืองไทยถูกลง ก็จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น สร้างโอกาสทางการค้าให้กับธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศ ทั้งสายการบิน การเดินทางรูปแบบต่าง ๆ ธุรกิจโรงแรม ที่พัก บังกะโล รวมถึงอาหารการกิน ของฝาก ของที่ระลึก ได้ใช้โอกาสทองนี้ทำกำไร

อย่างที่บอก “ค่าเงินบาทอ่อน” เหมือนเหรียญสองด้าน มีคุณอนันต์และโทษมหันต์ ส่วนที่มีคุณอนันต์ ตัวอย่างจากกรณีวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 40 ตอนนั้นค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงถึง 52 บาท ทำให้การส่งออกของไทยพุ่งกระฉูด โดยเฉพาะสินค้าเกษตรราคาดีและส่งออกได้มาก นักท่องเที่ยวก็พากันแห่มาเที่ยวประเทศไทย เพราะราคาถูก

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทอ่อน ก็มีโทษมหันต์เช่นกัน หากค่าเงินบาทอ่อนตัวเร็วเกินไป จะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจหลายๆด้าน แต่ผู้ที่เสียประโยชน์แน่ๆ คือ “ผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ” ต้องนำเข้าสินค้าในราคาที่เเพงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในการผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เครื่องจักร หรือปัจจัยการผลิตในสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่มีความจำเป็น

แต่ที่หนักที่สุดและส่งผลกระทบคนในวงกว้างมากที่สุด คือ เมื่อค่าเงินบาทอ่อน ทำให้ต้นทุนนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีความจำเป็นสำหรับประเทศไทยอย่างมาก จะต้องมีราคาแพงขึ้นด้วยเช่นกัน

นั่นหมายความว่า จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะค่าขนส่งแพงขึ้น ที่สำคัญ “ค่าครองชีพ”ของประชาชนสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็ต้องใช้สินค้าแพงขึ้น

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบไปของเกษตรกร ชาวนาชาวไร่ เพราะทั้ง ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ ราคาแพงขึ้นหลายเท่าตัว ว่ากันว่าตอนนี้ราคาปุ๋ยแพงกว่าราคาข้าว อันเนื่องมาจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนของชาวนาชาวไร่เพิ่มขึ้นอีกมหาศาล เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ น้ำมันคือต้นทุนสำคัญของเกษตรกรไปแล้ว

ที่หนักที่สุดคือ ค่าเงินบาทอ่อนค่าในห้วงเวลาที่ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น เท่ากับว่าสินค้านำเข้าต้องเจอสองเด้ง

ฉะนั้น ค่าเงินบาทอ่อนในสภาพเช่นนี้ ก็อาจไม่ใช่ผลดีเสมอไป เนื่องจากทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะราคาน้ำมันสูงขึ้น จนอัตราเงินเฟ้อเร่งแรง นั่นเอง

…………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img