วันอังคาร, พฤษภาคม 7, 2024
หน้าแรกHighlightQ4 ธุรกิจ-ปชช.อาจยืนระยะยาวไม่ได้ ต้องเปลี่ยนนโยบาย-มาตรการสู้โควิด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

Q4 ธุรกิจ-ปชช.อาจยืนระยะยาวไม่ได้ ต้องเปลี่ยนนโยบาย-มาตรการสู้โควิด

ไทยติดเชื้อใหม่ติดอันดับ 9 ของโลก มีแนวโน้มติดท็อปเทนไปเรื่อย เหตุจำนวนตรวจด้วยวิธี RT-PCR ของไทยน้อยกว่าหลายประเทศ และยังไม่ได้นับจำนวนตรวจ ATK ทำให้ตัวเลขต่ำกว่าความจริง ย้ำต้องปรับเปลี่ยนนโยบาย-มาตรการสู้ “สงครามโรค” หาไม่แล้ว Q4 ธุรกิจ-ปชช.จะยืนระยะยาวไม่ได้

เมื่อวันที่ 14 ส.ค.64 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์แนวโน้มการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 14 สิงหาคม 2564…เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 675,886 คน รวมแล้วตอนนี้ 206,864,964 คน ตายเพิ่มอีก 9,902 คน ยอดตายรวม 4,357,176 คน, 5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด คือ อเมริกา อิหร่าน อินเดีย บราซิล และสหราชอาณาจักร, อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 124,260 คน รวม 37,333,663 คน ตายเพิ่ม 720 คน ยอดเสียชีวิตรวม 637,114 คน อัตราตาย 1.7%, อินเดีย ติดเพิ่ม 38,713 คน รวม 32,155,765 คน ตายเพิ่ม 474 คน ยอดเสียชีวิตรวม 430,759 คน อัตราตาย 1.3%, บราซิล ติดเพิ่ม 33,933 คน รวม 20,319,000 คน ตายเพิ่ม 874 คน ยอดเสียชีวิตรวม 567,862 คน อัตราตาย 2.8%, รัสเซีย ติดเพิ่ม 22,277 คน รวม 6,557,068 คน ตายเพิ่ม 815 คน ยอดเสียชีวิตรวม 168,864 คน อัตราตาย 2.6%, ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 26,453 คน ยอดรวม 6,425,436 คน ตายเพิ่ม 74 คน ยอดเสียชีวิตรวม 112,561 คน อัตราตาย 1.8%

อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และสเปน ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ายังมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 86.71 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง, เวียดนาม เมียนมาร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ติดกันหลักพัน กัมพูชา ลาว และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไต้หวัน และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่นิวซีแลนด์ และฮ่องกง ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

…วิเคราะห์สถานการณ์ระบาดในภาพรวม ทั่วโลกมีประเทศที่มีจำนวนติดเชื้อแต่ละวันเกินหมื่น 17 ประเทศ ในขณะที่หลักพันมีอยู่ 41 ประเทศ หลักร้อย 60 ประเทศ นอกนั้นต่ำกว่าร้อยต่อวัน ไทยเรานั้นมีจำนวนติดเชื้อใหม่เมื่อวานนี้สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และมีแนวโน้มที่จะติดอันดับท็อปเทนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ทั้งนี้โดยแท้จริงแล้ว จำนวนการตรวจ RT-PCR ของไทยนั้นทำได้น้อยกว่าประเทศอื่นๆ หลายประเทศ และยังไม่ได้นับรวมจำนวนที่ตรวจพบจาก Rapid antigen test kit (ATK) ดังนั้นสถานการณ์ติดเชื้อใหม่แต่ละวันที่รายงานนั้นจึงน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงพอสมควร

เรื่องสำคัญที่รัฐควรพิจารณา และประชาชนควรที่จะต้องรับรู้คือ การเลือกใช้ชุดตรวจแบบ ATK นั้นต้องมีหลักการที่ใช้ความรู้ที่ถูกต้อง จึงจะมีโอกาสเกิดประโยชน์ และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการนำมาใช้ การตรวจคัดกรองโรคที่มีความรุนแรงหรือน่ากลัวนั้น จำเป็นจะต้องใช้ชุดตรวจที่มีความไวสูง (High sensitivity) หมายถึง หากนำคนติดเชื้อ 100 คนมาตรวจ โอกาสตรวจด้วยชุดตรวจนี้แล้วได้ผลบวกจะต้องสูง ยิ่งได้ 100% ยิ่งดี หรือถ้าต่ำกว่าร้อยก็ต้องต่ำกว่าไม่มากนัก กล่าวคือ หากชุดตรวจนั้นมีความไว 95% โอกาสที่นำไปใช้ตรวจคนติดเชื้อ 100 คน ก็จะมีโอกาสได้ผลลบปลอม หรือหลุดได้ 5 คน หากความไวเหลือ 90% โอกาสหลุดคือ 10 คน

ดังนั้น หากมีการจัดซื้อจัดหามาใช้ในประเทศ ข้อตกลงเบื้องต้นในระดับนโยบายที่ควรระบุคือ หาชุดตรวจที่มีความไวสูงสุดและได้มาตรฐานรับรองระดับสากล ทั้งนี้หากใช้ชุดตรวจที่มีความไวต่ำลง จาก 95% เหลือ 90% แล้วนำไปใช้ในสถานการณ์จริงโดยมีคนจำนวนมาก ลองคาดประมาณคร่าวๆ จาก 8.5 ล้านชุดที่ใช้ตรวจ ความชุกของโรคเฉลี่ย 10-15% ของประชากร จะมีคนที่ติดเชื้ออยู่เบื้องต้น 850,000-1,275,000 คน โอกาสที่คนที่ติดเชื้อเหล่านี้ใช้ตรวจแล้วจะหลุด คือได้ผลลบปลอมนั้น อาจสูงถึง 42,500-63,750 คน และหากไม่ระมัดระวังตัว ก็จะมีโอกาสแพร่ไปให้สมาชิกในครอบครัว คนใกล้ชิด หรือคนอื่นๆ ในสังคมได้มาก ทั้งนี้หากประมาณจากสมรรถนะของเชื้อสายพันธุ์เดลต้าที่มีการศึกษาในอเมริกาแล้วพบว่า คนติดเชื้อ 1 คนจะมีโอกาสแพร่ให้ผู้อื่นได้เทียบเท่ากับโรคสุกใส คือประมาณ 8 คน

นั่นแปลว่า หากใช้ชุดตรวจที่มีความไวลดลง 5% ในการไปตรวจ 8.5 ล้านคน โดยมีความชุกของโรค 10-15% จะมีโอกาสที่จะเกิดการแพร่ต่อไปให้คนจำนวนมากได้ถึง 340,000-473,004 คน และยังไม่นับว่าจำนวนดังกล่าวจะส่งต่อไปอีกกี่ทอด พยายามวิเคราะห์ให้ดูถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ และควรวางแผนรับมืออย่างรอบคอบ ทั้งในเรื่องการวางแผนการใช้ชุดตรวจ ATK ให้เหมาะสม เช่น การใช้ตรวจในช่วงที่มีอาการภายในระยะเวลาที่ร่างกายจะมีปริมาณไวรัสมาก (ช่วงต้นสัปดาห์แรก), การเน้นย้ำ ให้คำแนะนำแก่ประชาชนให้ตระหนักถึงโอกาสเกิดผลลบปลอม และจำเป็นต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ระหว่างที่รอตรวจซ้ำใน 3-5 วันถัดมากรณีที่สงสัย

หากประเมินภาพรวมสถานการณ์ของไทยเราตอนนี้ บอกได้เพียงว่า จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายและมาตรการในการสู้กับสงครามการระบาดโควิด-19 ครับ มิฉะนั้นคงไม่สามารถกดการระบาดได้ ธุรกิจห้างร้านและประชาชนในประเทศอาจยืนระยะไม่ไหว โดยอาจเห็นสถานการณ์นั้นได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเป็นต้นไป

สำหรับประชาชนทุกคน ขอให้มีกำลังใจป้องกันตัวเองและครอบครัวอย่างเต็มที่ มุ่งเป้าอย่าให้เราและครอบครัวติดเชื้อ ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า สำคัญมาก เอาใจช่วยทุกคน ด้วยรักและห่วงใย

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img