วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกHighlightสธ.จับตาคนเดินทางจากประเทศเสี่ยง เตรียมแล็บรองรับตรวจเชื้อ“ฝีดาษลิง”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

สธ.จับตาคนเดินทางจากประเทศเสี่ยง เตรียมแล็บรองรับตรวจเชื้อ“ฝีดาษลิง”

กรมควบคุมโรคเข้มสแกน’’ฝีดาษลิง’’ตั้งแต่สนามบิน จับตาคนเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยง พร้อมแจก บัตรเตือนสุขภาพ สั่งการสถานพยาบาลเฝ้าระวัง พบป่วยปิดสังเกตส่งตรวจหาเชื้อ รายงานทันที ชี้การระบาดแตกต่างจากโควิด -19 ด้านกรมวิทย์ฯเตรียมแล็ปรองรับ 

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 65 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค  กล่าวถึงการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง(monkey pox) ว่า การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคฝีดาษลิง เพื่อเฝ้าระวัง คัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด ช่วยให้ตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศไทย หลังพบการแพร่ระบาดในหลายประเทศ และสามารถติดต่อจากคนสู่คน ทั้งนี้เราต้องยกระดับศูนย์เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรับมือได้ทัน เพราะโรคนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ ต้องรักษาแบบประคับประคอง  

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค

ทั้งนี้การคัดกรองที่สนามบิน เนื่องจากระหว่างเดินทางมาอาจจะยังไม่มีอาการ แล้วมาแสดงอาการในภายหลัง ดังนั้นที่สนามบินจะมีการคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยงสูง จากประเทศแอฟริกากลาง เช่น ไนจีเรีย และคองโก และประเทศในยุโรปที่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศแล้ว คือ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส โดยการคัดกรองจะมีการดูว่าผู้เดินทางมีแผลหรืออะไรหรือไม่ พร้อมแจกบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) เป็นคิวอาร์โค้ดให้สแกนทุกคนที่เดินทางมาจากประเทศดังกล่าว  

ซึ่งจะระบุว่าหากมีอาการ เช่น ไข้ มีตุ่มให้รายงานเข้าระบบและรีบไปพบแพทย์ใน รพ.ที่ใกล้ที่สุด รวมถึง แจ้งประวัติการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย นอกจากนี้ยังมีการเฝ้าระวังที่สถานพยาบาลหากพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัย อาการเข้าได้กับโรคและมีประวัติเดินทางจากประเทศเสี่ยงที่กำลังมีโรคนี้ระบาด ให้สถานพยาบาลเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจหาเชื้อ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และรายงานเข้าระบบการเฝ้าระวัง 

นพ.จักรรัฐ กล่าวถึงกรณีการระบาดในยุโรปว่า โรคฝีดาษลิงเกิดประปรายในแอฟริกามานานหลายปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่มีคนไปนำโรคออกมานอกภูมิภาคดังกล่าว แต่ครั้งนี้มีคนไปนำโรคออกมา ไปติดเชื้อมาจากประเทศในแอฟริกาและบินกลับนำเชื้อเข้ามาในยุโรปทั้งอังกฤษ สเปน โปรตุเกส จากนั้นไปสัมผัสใกล้ชิดกันมากกับผู้ที่ติดเชื้อจึงติดเชื้อกัน ในหลายกลุ่ม แต่กลุ่มที่มีการระบาดค่อนข้างมาก ใน 100 กว่าราย มีหลายคลัสเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชายรักชาย แต่จริง ๆ แพร่ได้หมดไม่ว่าจะเป็นใคร หากมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ทั้งนี้กลุ่มผู้ติดเชื้อที่เจอในแต่ละประเทศในยุโรปไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แต่เป็นการนำเชื้อมาจากประเทศแถบแอฟริกา ซึ่งเมื่อหลุดออกมาจากแอฟริกาเข้ายุโรปแล้ว จากนี้ก็อาจจะเกิดการแพร่ข้ามประเทศในยุโรปกันเอง

ถามต่อว่าจะต้องมีการปลูกฝีป้องกันฝีดาษใหม่หรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ยัง เพราะตอนนี้ทั่วโลกยังไม่มีวัคซีน smallpox มากขนาดนั้นแล้ว เพราะเป็นโรคที่ถูกกวาดล้างไปหมดแล้ว จะมีเพียงบางประเทศที่ยังเก็บวัคซีนนี้ไว้ ในประเทศไทยไม่มี กำลังมีการประสานงานหาวัคซีนอยู่ว่ามีประเทศใดเก็บไว้บ้าง หรือถ้าจะผลิตเพิ่มก็ต้องดูว่ามีบริษัทใดจะผลิตเพิ่มได้บ้าง เพราะคงต้องใช้เชื้อ ซึ่งเชื้อ smallpox เดิมมีแค่ 2 ประเทศที่เก็บไว้ คือ สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย แต่ก็สามารถจำลองสายพันธุ์ออกมาทำวัคซีนได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวจริง ทั้งนี้ คนไทยที่เกิดก่อนปี 2523 จะได้รับการปลูกฝีป้องกันฝีดาษ (smallpox) ทุกคน แต่ที่เกิดหลังจากปี 2523 จะไม่ได้รับวัคซีนนี้เพราะโรคฝีดาษถูกกวาดล้างไปหมดแล้ว

ผู้สื่อข่าวถาม ความเสี่ยงของการระบาดโรคฝีดาษลิงจะเป็นระดับเดียวกับโควิด-19 หรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า น่าจะต่างกัน เพราะโควิด-19แพร่กระจายได้เร็ว แต่แล้วแต่สายพันธุ์ ส่วนฝีดาษลิง เท่าที่ดูในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็แพร่กระจายได้ค่อนข้างเร็ว ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์และข้อมูลของฝีดาษลิงเพิ่มขึ้นว่ากลไกในการติดเชื้อนอกจากการอยู่ใกล้ชิดแล้ว มีกลไกอื่นอีกหรือไม่ ต้องติดตามข้อมูลเพิ่มขึ้นพอสมควรอย่างใกล้ชิด เพราะตอนนี้มีข้อมูลน้อยมาก และทั่วโลกมีรายงานผู้ติดเชื้อเพียง 100 ราย ส่วนสายพันธุ์แตกต่างจากที่เคยเจอหรือไม่ จะต้องติดตาม 

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การติดเชื้อโรคฝีดาษลิงในคนสู่คน เกิดจากการสัมผัสแลกเปลี่ยนสารคัดหลั่ง ละอองฝอยน้ำลาย รวมถึงเลือดดังนั้นกรณีที่มีแผลก็ทำให้ติดเชื้อได้ ฉะนั้น ความคิดว่าส่วนใหญ่จะติดเชื้อในกลุ่มคนรักร่วมเพศจึงไม่ถูกต้อง เพราะสามารถติดได้ในทุกคน เพราะเป็นการติดเชื้อในลักษณะใกล้ชิดกันมาก อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อไม่ได้ง่ายเหมือนโควิด-19 และมีความน่ากังวลน้อยกว่าโรคฝีดาษคน (Smallpox)

 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์ ได้ตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อโรคฝีดาษลิงในผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อแล้ว หากผู้ที่มีผื่น ตุ่มหนองตามร่างกาย ทางสถานพยาบาลก็สามารถสวอป (Swab) เชื้อบริเวณแผล ส่งตรวจ RT-PCR ได้ที่แล็บซึ่งมีน้ำยาตรวจเฉพาะ และใช้เวลารอผลเหมือนกับการตรวจโควิด-19

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img