วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSเปิดช่อง“ต่างชาติ”ซื้อที่ดินไทย “พายุใหม่”กระหน่ำรัฐบาล
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เปิดช่อง“ต่างชาติ”ซื้อที่ดินไทย “พายุใหม่”กระหน่ำรัฐบาล

ในที่สุด…ครม.ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็ได้ร่วมกันตัดสินใจ “ปลดล็อก” ให้บรรดาชาวต่างชาติที่มีรายได้สูง สามารถถือครองที่ดินในเมืองไทยได้ไม่เกิน 1 ไร่

แต่!! มีเงื่อนไขสำคัญโดยชาวต่างชาตินั้น ๆ ต้องลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งการลงทุนที่ว่า…อาจเป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

ส่วนชาวต่างชาติที่จะเข้ามาซื้อที่ดินในเมืองไทยในครั้งนี้ได้ ก็กำหนดไว้ 4 ประเภท คือ ต้องเป็นคนรวยเป็นเศรษฐี หรือที่เรียกว่ามีความมั่งคั่งสูง หรืออาจเป็น กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ หรือ กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย หรือ คนที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ โดยทั้งหมดต้องได้รับสิทธิวีซ่าพำนักระยะยาว (Long-Term Resident Visa) หรือ “แอลทีอาร์ วีซ่า-LTR Visa” แล้วเท่านั้น

นอกจากนี้ การถือครองที่ดินในไทยครั้งนี้ ก็ต้องเป็นที่ดินภายในกทม. เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองเท่านั้น

ทั้งหลายทั้งปวง!! ก็เพื่อเดินหน้ากระตุกเศรษฐกิจให้โงหัวขึ้นให้ได้ ซึ่งการเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติทั้ง 4 กลุ่มถือครองที่ดินในไทยได้ ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ

หากจำกันได้…ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ประกาศเปิดรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ใน 4 กลุ่ม ให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยให้ได้ 1 ล้านคน ภายใน 5 ปี นับจากนี้ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อในประเทศไทยให้มากขึ้น

แต่กว่ารัฐบาลจะตัดสินใจเคาะมาตรการนี้ออกมาก็ใช้เวลาเกือบ 1 ปีกันทีเดียว ด้วยเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และต้องสร้างความมั่นใจให้กับสังคมให้ได้ว่า ทำเพื่อประโยชน์ของชาติ ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ให้ต่างชาติมาฮุบแผ่นดินไทย

รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้มาตรการนี้ เป็นทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของต่างชาติที่กำลังซื้อสูง และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายและเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะมาตรการนี้ได้ดึงดูดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญสูง ในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่เข้ามาทำงานในไทยมากขึ้นด้วย

ปัจจุบันไทยมีชาวต่างชาติอยู่ในไทยแล้วประมาณ 4 แสนคน หากสามารถเพิ่มผู้ที่มีศักยภาพสูงเหล่านี้ได้ตามเป้าหมาย นั่นหมายความว่า จะเกิดกำลังซื้อในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุญาตให้ผู้ที่มีศักยภาพสูงทั้ง 4 กลุ่มเหล่านี้ สามารถขอ “แอลทีอาร์ วีซ่า-LTR Visa” เพื่อพำนักอยู่ในไทยได้นานถึง 10 ปี

เป้าหมายของรัฐบาลได้คาดหวังไว้ว่า หากชาวต่างชาติทั้ง 4 กลุ่มเหล่านี้ เข้ามาอยู่ในไทยจนเต็ม 1 ล้านคน ก็จะช่วยใช้จ่ายในไทยได้มากถึงปีละ 1 ล้านล้านบาท เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีการใช้จ่ายสูงกว่าสูงกว่า 1 ล้านบาทต่อคนต่อปีอยู่แล้ว

ไม่เพียงเท่านี้ หากรัฐบาลสามารถดึงดูดให้นักลงทุนต่างประเทศ เข้ามาลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ยา ดิจิทัล และการท่องเที่ยว ได้ด้วย

นั่นหมายความว่า…จะมีเงินลงทุนรอบใหม่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท ในช่วง 2 ปี ซึ่งเท่ากับว่าจะเป็นการปรับฐานอุตสาหกรรมของประเทศ และช่วยพลิกโฉมให้กับประเทศได้

อย่าลืมว่า!! ประเทศไทยที่เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ได้ ก็ยังต้องอาศัยยังต้องพึ่งพิงชาวต่างชาติเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุน การพัฒนา การสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยีต่าง ๆ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรดา กูรู นักวิชาการทั้งหลายจะสนับสนุนเป้าหมายการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะการทำให้ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาใช้จ่ายในไทย

เพราะไม่ใช่เพียงแค่…เข้ามาจับจ่ายใช้สอยเท่านั้น แต่ยังเป็นการดึงดูดบรรดาผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ผู้มีทักษะ เข้ามาทำงานในเมืองไทยด้วย ซึ่งประเทศไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือความเชี่ยวชาญพิเศษไปในตัว

ต้องยอมรับความจริงว่าประเทศไทย ยังไม่ได้ก้าวหน้า…ก้าวทัน…ก้าวเทียม บรรดาประชากรจากซีกโลกตะวันตก หรือซีกโลกตะวันออกในบางประเทศ จึงหนีไม่พ้นที่ไทยยังต้องยืมจมูกจากต่างประเทศมาช่วยหายใจด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ณ เวลานี้… ฐานะของรัฐบาลกำลังง่อนแง่น โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ที่กำลังหมดแรงดึงดูด ความพยายามผลักดันมาตรการที่ละเอียดอ่อน มาตรการที่เสี่ยงต่อการถูกโจมตี ออกมาในช่วงโค้งสุดท้าย ก็น่าเป็นห่วง!

ซึ่งนับจากนี้…ก็ต้องตามติดกันต่อไปว่า การให้ต่างชาติถือครองที่ดินไทยได้ในครั้งนี้ จะกลายเป็นประเด็นเป็น “หอกข้างแคร่” ที่ทิ่มแทงรัฐนาวาของพล.อ.ประยุทธ์ หนักหนาสาหัสขนาดไหน?

………….

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img