วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSค่าแรง!เรียกคะแนนเสียง สร้างปัญหาถมเศรษฐกิจ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ค่าแรง!เรียกคะแนนเสียง สร้างปัญหาถมเศรษฐกิจ

ค่าแรง 600 บาท…ได้ถูกหยิบยกมาเป็นเครื่องมือในการ “หาเสียง” อีกครั้ง!! เรียกได้ว่า ซ้ำรอยเดิมกับ “ค่าแรง 300 บาท” เมื่อปี 55-56 ที่ในครั้งนั้น ได้สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับบรรดาภาคเอกชนไม่น้อย

ด้วยเพราะ…ต้นทุนค่าแรงเพิ่มมากขึ้นกว่า 70% หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นวันละ 141 บาท กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง ทั้งเรื่องของการลงทุน ทั้งเรื่องของการส่งออก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาเอสเอ็มอี ที่ในเวลานั้นต้องปิดตัวเองไปจำนวนไม่น้อย ส่วน บรรดารายใหญ่ ก็หันหนีค่าแรงไปซบประเทศเพื่อนบ้านที่คุ้มค่ากว่า โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ที่มีประชากรเยอะ และยังมีค่าแรงที่ถูก

เช่นเดียวกับ…นักลงทุนต่างประเทศ ก็เบนเข็มเฉกเช่นเดียวกับนักลงทุนไทย ที่หันไปให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหนีต้นทุนค่าแรงแพง

มาในครั้งนี้เรื่องราวของค่าแรง ได้กลับมาเป็น “กลยุทธ์” สำคัญ เพื่อซื้อใจ “คนไทย” แม้การชูรสครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใดเมื่อได้เป็นรัฐบาล แต่จะเกิดขึ้นภายในปี 2570 หรือภายใน 4 ปีที่ได้บริหารประเทศ

เช่นเดียวกับ…นโยบายเงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำเดือนละ 25,000 บาท ที่มาควบคู่กับค่าแรง 600 บาท ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แค่ 2 นโยบายหลักนี้ ก็เรียกว่า “ได้ใจ” ผู้มีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกตั้ง ไปไม่น้อยเช่นกัน

เพราะอย่าลืมว่า ด้วยนโยบายที่โดนใจเช่นนี้ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ “ชนะ” การเลือกตั้งแบบถล่มทลาย!!

แต่กระแสการเรียกคะแนนครั้งนี้ กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในทางที่เห็นด้วย และในทางที่ไม่เห็นด้วย ทั้งจากฝ่ายตรงข้าม และจากฝ่ายคนกลาง โดยในทางที่ไม่เห็นด้วยดูจะแน่นหนามากกว่า

อย่างกรณีของภาคเอกชน โดยเฉพาะ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน หรือ กกร. ที่ชี้ให้เห็นว่า การขึ้นค่าแรงต้องเป็นไปตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ในทุกมุม ในทุกมิติ

เพราะสุดท้ายแล้ว!! เอกชนที่แบกรับภาระไม่ไหว ต้องเลิกกิจการ บางรายต้องย้ายฐาน นักลงทุนต่างชาติหนีหาย ไม่เข้ามาลงทุนในไทย คนที่รับกรรม!! ก็หนีไม่พ้น “แรงงาน”

แรงงานต่างด้าว / @armyprcenter


ขณะที่ฟากฝั่งของ “คนการเมือง” ด้วยกัน ก็อดรนทนไม่ได้ ที่เรียกร้องให้หยุด…ให้เลิก…นำเรื่องของแรงงานมาเป็น “เครื่องมือ” ในการหาเสียง เพราะมีแต่สร้าง “หายนะ” ให้กับเศรษฐกิจ

ส่วน “คนกลาง” ชี้ให้เห็นชัด ๆ ว่า ค่าแรง 600 บาท ย่อมทำให้ “ผีน้อย” จากหลายชาติดาหน้าเข้ามาทำงานในไทยต่อเนื่อง ขณะที่แรงงานไทยบางส่วนยังต้องตกงานและอีกหลายชีวิต!! ต้องเผชิญความยากลำบาก

ด้านประชาชนคนไทย ก็ต้องแบกรับภาระ “ค่าครองชีพ” ที่สูงขึ้น กระทบต่อทุกคน ทั้งธุรกิจ ทั้งแรงงาน คนที่มีรายได้ประจำสุดท้ายก็ย้อนมายังระบบเศรษฐกิจ

ต่อให้ !!การขึ้นค่าแรงไม่ใช่ทำทันทีทันใดก็ตาม แต่ก็อย่าลืมว่า ถ้าในช่วง 4 ปีนั้น เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างน้อย 5% ตามศักยภาพพื้นฐานของประเทศไทย ย่อมทำให้ “ค่าแรง” ต้องปรับขึ้นตามสภาพของเศรษฐกิจไปโดยปริยาย

การตั้งโจทย์ค่าแรงที่ 600 บาท นั่นหมายความว่า…ค่าแรงต้องเพิ่มขึ้นถึง 40% หรือเฉลี่ยปีละ 10% !!

ถามว่า? ผู้บริหารประเทศจะสามารถทำให้เศรษฐกิจในเวลานั้นสามารถขยายตัวได้อย่างน้อย 6-7% หรือไม่? และยังสามารถควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้สูงมากเกินไปกว่า 3% หรือไม่

คำตอบ!! ถ้าทำได้ ก็ไร้ปัญหา เพราะเศรษฐกิจที่ขยายตัวที่เติบโตขึ้น ย่อมต้องสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น โดยระบบของเศรษฐกิจย่อมทำให้ค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วยในอัตราที่เหมาะสม

แต่…ถ้าทำให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพไม่ได้  แล้ว!! ดันทุรัง!!  ภาระก็ต้องตกไปอยู่ที่ภาคเอกชน ที่เป็นผู้จ่ายค่าจ้าง รวมทั้ง “แรงงาน” ที่ต้องอาจเจอสภาพ “เลิกจ้าง” เพราะสู้ค่าแรงไม่ไหว

…………..

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img