วันจันทร์, เมษายน 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSถอดบทเรียน“แอชตัน อโศก” เร่งแก้ไขก่อน“ความเชื่อมั่น”หายหมด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ถอดบทเรียน“แอชตัน อโศก” เร่งแก้ไขก่อน“ความเชื่อมั่น”หายหมด

คดีประวัติศาสตร์!! อย่างโครงการคอนโดมีเนียมหรูสูง 51 ชั้น “แอชตัน อโศก” หลังศาลปกครองสูงสุดสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการย้อนหลัง ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนทั่ววงการอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงบรรดาหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง

โครงการ “แอชตัน อโศก” ถือเป็นคอนโดมิเนียมหรู สไตล์โมเดิร์น สูง 51 ชั้น เป็นการร่วมทุนกับ มิตซุย ฟูโดซัง จากประเทศญี่ปุ่น ตั้งอยู่บนย่านทำเลทอง สุขุมวิท 21 มูลค่าโครงการรวม 6,481 ล้านบาท

คอนโดฯหรู นี้ มีทั้งหมด 783 ยูนิต ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มโอนกรรมสิทธิ์มาตั้งแต่เดือนมิ.ย.61 ขายไปแล้ว 668 ยูนิต มูลค่า 5,639 ล้านบาท หรือประมาณ 87% ของจำนวนยูนิตทั้งหมด

ณ เวลานี้ มีผู้พักอาศัยหรือมีลูกบ้าน รวม 580 ครอบครัว แยกเป็นคนไทย 438 ราย และต่างชาติ 140 ราย จาก 20 ประเทศ โดยยังมียูนิตเหลือขายอีก 117 ยูนิต หรือ 13% มูลค่า 828 ล้านบาท

ปัญหาใหญ่ของโครงการนี้ที่เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต และส่งผลกระทบต่อลูกบ้าน ทั้ง 580 ครัวเรือน ที่ต้องใช้ชีวิตบนความกังวล  ก็ด้วยเหตุผลของทางเข้า-ออก ไม่เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคาร

ที่สำคัญ!! เรื่องนี้เป็นปัญหาและฟ้องร้องกันมาตั้งแต่ปี 58 แล้ว แม้ว่าการก่อสร้าง การให้ใบอนุญาต จะมีช่องทาง ของกฎหมาย ที่สามารถก่อสร้าง สามารถไฟเขียวให้ก่อสร้างได้ก็ตาม

หรือพูดง่ายๆ ในกรณีนี้ เจ้าของโครงการใช้ประโยชน์ที่ดินตาบอด จากกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจนนั่นแหล่ะ!!

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว คนที่ต้องรับกรรม คือ “ลูกบ้าน” ที่นอกจากต้องจ่ายเงินซื้อที่อยู่อาศัยของตัวเองในราคาแพงแล้ว ยังต้องแบกรับภาระค่างวดของการผ่อน รวมไปถึงภาระดอกเบี้ย และยังไม่สามารถขาย หรือ “รีไฟแนนซน์” กับสถาบันการเงินได้อีกต่างหาก

เพราะ!! ในเมื่อโครงการมีปัญหา ก็ถือเป็นความเสี่ยง ที่ไม่มีสถาบันการเงินไหนจะปล่อนเงินกู้ให้อีก หรือหากจะยึดทรัพย์สิน ในเมื่อขายไม่ได้ ก็กลายเป็นหนี้เน่า แบกต้นทุน แบกภาระสำรองหนี้เพิ่มมากขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กทม. ในฐานะที่เป็นผู้บังคับใช้ฎหมายควบคุมอาคาร ได้ออกมากำหนดให้เจ้าของโครงการดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง ภายในเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน

บรรดา “กูรู” ออกมาให้คำแนะนำว่า ทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้ คือเจ้าของโครงการเองต้องยื่นขอทบทวนสิทธิทางเข้า-ออก จากหน่วยงานรัฐ โดยให้ทบทวนสิทธิ์ในที่ดินเดิมก่อนมีการเวนคืน ที่ทำให้ที่ดินนั้นหดหายไป

ขณะเดียวกันแรงสั่นสะเทือนจากปัญหาของ “แอชตัน อโศก” กำลังเขย่าความเชื่อมั่น ของนักลงทุนต่างชาติ เพราะโครงการนี้ เป็นการร่วมทุนกับต่างประเทศ

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ / cr : www.bot.or.th

ไม่เพียงเท่านี้ ต้องยอมรับว่า… ดีมานด์หรือความต้องการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอนโดมีเนียม ริมทางรถไฟฟ้า กำลังเป็นที่ต้องการของหลายฝ่าย ทั้งคนที่ต้องการซื้อเป็นที่อยู่อาศัย ซื้อเพื่อการลงทุน หรือแม้แต่ชาวต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ในไทย

เช่นเดียวกับบรรดาผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เอง ที่ต้องศึกษารายละเอียด ตรวจสอบ ตรวจตรา ที่ดินที่จะซื้อที่จะเข้าไปพัฒนาอย่างรอบคอบ รอบด้านอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่อาศัยช่องของกฎหมาย เพื่อทำประโยชน์เท่านั้น

“ทางออก” ของเรื่องนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน ต้องเร่งดำเนินการให้ชัดเจนโดยเร็วที่สุด จะแก้ไขกฎหมาย จะออกกฎหมายใหม่ จะซื้อที่ดินเพิ่ม จะทบทวนสิทธิ์ หรืออย่างไรก็ตาม

ปัญหาคือ… ถ้าไม่จบโดยเร็ว หรือหากจบในหนทางที่ลวร้ายที่สุด คือการ “ทุบทิ้ง”  ปัญหาก็จะยิ่งบานปลาย กลายเป็นปัญหาถึง “ความเชื่อมั่น”

อย่าลืมว่า ณ เวลานี้ ปัญหาการเมืองในประเทศที่ยาวนานมาเกือบ 3 เดือนเต็ม ก็ขย่มความเชื่อมั่นของบรรดาภาคเอกชน ไม่น้อยอยู่แล้ว

หาก!! ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาของโครงการขนาดใหญ่ เข้าให้อีก อาจทำให้ซ้ำเติมระบบเศรษฐกิจไปด้วย เพราะภาคอสังหาริมทรัพย์เอง ก็ถือเป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีผลต่อเนื่อง มีซัพพลายเชนต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก

สุดท้าย… ก็หนีไม่พ้นคนในชาตินั่นแหล่ะ…ที่ต้องแบกรับแรงสั่นสะเทือนครั้งนี้!!

………………………..

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img