วันจันทร์, เมษายน 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSแปลก!! แต่จริง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แปลก!! แต่จริง

ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาแบบนี้ สังคมชาวพุทธเราจะเห็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่คณะสงฆ์ท่านประพฤติปฎิบัติกันมาอันยาวนาน จนกลายเป็นธรรมเนียมปฎิบัติของสงฆ์อย่างหนึ่ง คือการทำ “สามีจิกรรม” เพื่อแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนที่เด็กพึงมีต่อผู้ใหญ่ และให้ผู้ใหญ่รู้จักเด็ก รวมทั้งเพื่อความสามัคคีกัน อยู่ร่วมกันโดยสงบสุข

การทำ “สามีจิกรรม” โดยนัยมันก็คือ การขอขมาโทษกัน ให้อภัยกัน ไม่ว่าจะมีโทษขัดข้องหมองใจกันหรือไม่ก็ตาม การทำสามิจิกรรมนั้น คณะสงฆ์ทำกันมากที่สุดก็คือใน “วันเข้าพรรษา” ทั้งภิกษุและสามเณรที่อยู่วัดเดียวกันควรทำสามีจิกรรมต่อกัน เรียงตัวตั้งแต่ผู้มีพรรษามากที่สุด ถึงสามเณรรูปสุดท้ายในวัด เพื่อความสามัคคีในหมู่คณะ

ยุคสมัยที่ “เปรียญสิบ” จำพรรษาอยู่วัดอรุณราชวราราม ยุคที่ “พระพรหมวัชรเมธี” เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามรูปปัจจุบันยังเป็น “พระมหาสมเกียรติ โกวิโท ป.ธ.9” คือเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว พวกเรา “พระผู้น้อย” หลังจากทำสามีจิกรรมเจ้าอาวาสในพระอุโบสถเรียบร้อยแล้ว ก็จะตระเวนไปตามคณะต่างๆ ทั้ง 8 คณะ เพื่อทำสามิจิกรรมเจ้าคณะต่างๆ อีกรอบหนึ่ง รวมทั้งพระผู้ใหญ่ภายในคณะนั่นๆ ด้วย ผู้ใหญ่ท่านก็มอบของขวัญเป็นวัตถุมงคลบ้าง ของใช้มากติดไม้ติดมือกลับมา

โดยเฉพาะคณะ 4 ปัจจุบันที่มี “พระศรีสุทธิเวที” เจ้าคุณขวัญเป็นเจ้าคณะนั้น ยุคก่อนเจ้าคณะชื่อ “พระครูปลัดธรรมขันธ์” ท่านทำวัตถุมงคลชื่อ “สมเด็จไกเซอร์” อยู่วัดอรุณมา 3-4 ปี ท่านแจกทุกปี ทราบว่ายุคปัจจุบัน “สมเด็จไกเซอร์” องค์หนึ่งหลายบาท ตอนนั้นเราเป็นพระนักศึกษาไม่ค่อยได้เก็บไว้บูชา เสียดายจนทุกวันนี้

นอกจากนี้พระผู้ใหญ่นอกพระอาราม ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระสังฆราช บรรดาพระสมเด็จรูปต่างๆ หรือเจ้าคณะปกครองต่างๆ ก็เปิดโอกาสให้ “พระผู้น้อย” เข้ามาขอขมา ทำสามีจิกรรม เพื่อความสามัคคีแห่งสังฆะ ไม่เลือกว่าเป็นนิกายใด ๆ ก็จะไปมาหาสู่กัน

นี่คือ “ธรรมเนียมปฎิบัติ” เป็นความงดงามของคณะสงฆ์ไทย

ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาแบบนี้ อาจมีพระภิกษุ-สามเณรบางรูป อธิษฐานถือธุดงควัตรใน 13 ข้อ ข้อใดข้อหนึ่ง เช่น อธิษฐานว่า ตลอด 3 เดือน จะฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร อยู่ป่าช้า หรืออยู่โคนไม้ อยู่ตามป่าเขา อันนี้แล้วแต่ “จริต” ของแต่ละรูป อันนี้คือ ความตั้งใจของพระภิกษุ-สามเณร บางรูป

สำหรับคฤหัสถ์ในเทศกาลเข้าพรรษา โบราณกาลท่านถือปฎิบัติกันมานานแล้ว เช่น ใส่บาตรพระทุกวัน เข้าวัดทุกวันพระ ล้างห้องน้ำ ทำความสะอาดวัด ถือศีลอุโบสถไม่ให้ขาด ฟังเทศน์ฟังธรรม ดังนี้เป็นต้น

“เปรียญสิบ” สมัยเป็นสามเณรเคยเห็นคนหนุ่มสาวในรัฐมอญ ประเทศพม่า วันพระช่วงเย็นๆ จะรวมตัวกันมาตักน้ำ อาบน้ำ ให้คนผู้เฒ่าที่มาถือศีลอุโบสถ ตอนเช้าอีกวันก็จะทำอาหารมาเลี้ยงพระภิกษุ สามเณร พร้อมกับคนถือศีลอุโบสถ แล้วก็พากันกลับบ้าน ไม่ทราบว่าธรรมเนียมแบบนี้ยังมีอยู่อีกหรือไม่ หรือหมู่บ้านไทยที่ไหนมีแบบนี้บ้าง!!

“ยุคปัจจุบัน” หลายท่านตั้งใจ งดเหล้าเข้าพรรษาบ้าง ไม่สูบบุหรี่บ้าง ถือศีลอุโบสถบ้าง เสียดายมี “นักการเมือง” สันดานหยาบบางคน ไม่เห็นดีงามในสิ่งที่เขาสืบทอด รณรงค์กันแบบนี้

แม้กระทั้งบรรดามหาลาพรต “ประโยค 9” บางคน ก็ “ปัญญาน้อย” เห็นดีเห็นงามกับนักการเมืองเหล่านี้ด้วย ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านี้เป็น “ผลบวก” ต่อพระพุทธศาสนา ส่งผลดีต่อสุขภาพ ต่อระบบสังคมในภาพรวม

จึงบอกว่า..แปลกแต่ จริง !!

………………….

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย…“เปรียญสิบ”: riwpaalueng@gmail.com

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img