วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSควบรวม“ทรู-ดีแทค”...ไม่จบง่ายๆ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ควบรวม“ทรู-ดีแทค”…ไม่จบง่ายๆ

ในที่สุด คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็มีมติออกมา 2/3 ให้มีการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หลังจากเสียงเห็นชอบและคัดค้าน เสมอกัน 2 ต่อ 2 และของดออกเสียง 1 เสียงโดย ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ต้องใช้อำนาจตามข้อบังคับการประชุม กสทช. ออกเสียงอีกครั้งหนึ่งเพื่อชี้ขาดสนับสนุนการควบรวม

แต่ที่คนในสังคมวิพากษ์วิจารณ์คือ กรณีที่คณะกรรมการ กสทช.สองคนคือ ประธาน กสทช. และ กรรมการอีกหนึ่งคน ยืนยันว่า กสทช. “ไม่มีอำนาจ” ในการอนุมัติ ทำได้ “แค่รับทราบรายงาน” เท่านั้น

ทั้งที่ ข้อ 8 ของประกาศฉบับ พ.ศ. 2549 ระบุว่าชัดเจนว่า “การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะในทางตรง ทางอ้อม หรือผ่านตัวแทน จะทำไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการเสียก่อนในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่าการถือครองธุรกิจนี้อาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม คณะกรรมการสามารถสั่งห้ามการถือครองกิจการได้”

เหนือสิ่งใด ประธานและกรรมการอีกหนึ่งคน ซึ่งเป็นที่ประชุมเสียงข้างมาก เห็นว่า การควบรวมธุรกิจในกรณีนี้ “ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน” สวนทางกับกรรมการเสียงข้างน้อยอีก 2 คนที่เห็นต่าง ว่า “เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน” สิ่งที่คนไทยตั้งข้อสงสัยคือทั้ง “ทรูและดีแทค” ไม่ใช่ธุรกิจประเภทเดียวกันตรงไหน

ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ การลงมติครั้งนี้จะถือว่าผิดหลักการหรือไม่ เพราะประเด็นการพิจารณาเป็นเรื่องของ “กิจการโทรคมนาคม” แต่กรรมการกสทช.ทั้ง 5 คนที่พิจาณาในวันนั้น ไม่มีคนใดที่เป็นกรรมการในสายของกิจการโทรคมนาคม เนื่องจากกรรมการด้านนี้ ยังอยู่ระหว่างการสรรหา ซึ่งต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน นั่นแปลว่า มติที่ออกมา ไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ด้านนี้ ร่วมพิจารณาด้วย

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จะส่งผลกระทบกับผู้บริโภค 60-70 ล้านคน ที่อาจจะต้องใช้บริการแพงขึ้น ยังกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ เพราะจะทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน เกิดเงินเฟ้อและกระทบจีดีพี.ของประเทศ 

ข้อสังเกตประการต่อมา การที่ กสทช.เลือกแนวทาง อนุญาตให้ควบรวม แต่มีเงื่อนไข นั่นแสดงว่า รู้ทั้งรู้ว่า หากให้ผู้ประกอบการทั้งสองรายควบรวมกัน ย่อมเกิดการผูกขาดแน่ๆ จึงมีเงื่อนไขกำหนด เช่น มาตรการกำกับราคาเฉลี่ยในอนาคต รวมถึงการเฉลี่ยต้นทุน ข้อกำหนดโปรโมชั่นราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้น้อย และหลังจากควบรวมสำเร็จ จะมีการปฏิรูปสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาด ทาง กสทช.ต้องออกเงื่อนไขใหม่เพื่อให้อยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน เป็นต้น

คำถามที่อยากจะถาม กสทช.ที่เห็นด้วยกับการควบรวมว่า ประชาชนจะได้รับระโยชน์มากน้อยเพียงใดในการรวมธุรกิจของ 2 ค่ายยักษ์มือถือครั้งนี้ และจากการพิจารณาดูด้วยความรอบคอบและชอบธรรม พยายามประเมินผลดีของการรวมธุรกิจผ่านวิธีการต่างๆ หักกลบลบกันแล้ว แต่ผลยังไม่ปรากฎเป็นที่แน่ชัดว่า จะเกิดประโยชน์ต่อสาธารณชน เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศ อย่างไร

อีกทั้งบทเรียนในอดีตของประเทศต่างๆ ที่เกิดการรวมธุรกิจและเหลือผู้ประกอบการ 2 รายในตลาด พบว่า เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ไม่สามารถป้องกันหรือลดทอนผลกระทบอันเกิดจากระดับการผูกขาดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้

ขณะที่ ปัจจุบันมีผู้ให้บริการรายใหญ่ 3 บริษัท “เอไอเอส-ทรู-ดีแทค” รวม 80 ล้านเลขหมาย หากการควบรวมเกิดขึ้น จะทำให้มีผู้เล่นเหลือเพียง 2 ราย อาจทำให้สัดส่วนแข่งขันในตลาดเปลี่ยนไป ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง และต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น มีการประเมินว่าอาจจะเพิ่มจากจาก 220 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นเป็น 235-480 บาทต่อเดือน ได้

แม้ว่า กสทช.จะกำหนดเงื่อนไขโดยเชื่อว่า เป็นมาตรการไม่ให้ผู้บริโภคเสียเปรียบซึ่ง ความจริงในอดีต กสทช.ก็เคยประกาศใช้มาตรการต่าง ๆอยู่แล้ว แต่ก็ไม่เคยกำกับดูแลได้จริงๆ ยิ่งเมื่อตลาดผูกขาดมากขึ้น ย่อมทำให้การกำกับดูแลยากขึ้นตามไปด้วย คำถามคือ กสทช.จะกล้าใช้อำนาจหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงไม่จบง่ายๆ ล่าสุด สภาองค์กรของผู้บริโภค ไม่รอช้าเตรียมยื่นขอให้ศาลปกครองคุ้มครองฉุกเฉิน เพื่อยับยั้งการควบรวม และร้อง ป.ป.ช. ดำเนินการกับ กสทช. ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบรวมถึงพรรคก้าวไกลก็ตั้งธงลุยฟ้องคณะกรรมการ กสทช.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเช่นเดียวกันหรือนี่เพียงแค่ยกแรก…เท่านั้น

งานนี้คงต้องจับตาดูว่าจะจบอย่างไร  แต่เชื่อว่าน่าจะยืดเยื้อจบไม่เร็วๆอย่างที่คิดแน่ๆ

……………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img