วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“ดิจิทัล วอลเล็ต” จำนำข้าวภาค 2
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ดิจิทัล วอลเล็ต” จำนำข้าวภาค 2

ปฏิกิริยาต่อต้านนโยบายแจกเงินฟรี 1 หมื่นบาท ผ่าน “ดิจิทัล วอลเล็ต” กำลังจะลุกลามบานปลายไปกันใหญ่!!!

ล่าสุดได้มีการยกระดับจากการลงชื่อคัดค้าน มาเป็น การลงชื่อร่วมร้องเรียนต่อ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ใช้อำนาจดำเนินการเรื่องนี้ร้องต่อศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลขัดต่อพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังหรือไม่

ดูไปบรรยากาศคล้ายกับเหตุการณ์ก่อนที่ คสช.จะมายึดอำนาจ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ยังไงไม่รู้

น่าสนใจว่า ปฏิกิริยาที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ กำลังขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ตั้งแต่รุ่นกลางจนถึงรุ่นใหญ่ ที่มีทั้งอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รองผู้ว่าการฯธปท. อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ไปจนถึงคณบดี อธิการบดี และอดีตรัฐมนตรี

การเคลื่อนไหวของนักวิชาการก่อนนี้ เริ่มโดนโจมตีจากฝั่งที่เห็นด้วยกับนโยบาย ซึ่งก็เป็น “คนเพื่อไทย” นั่นแหละ ว่า “คนกลุ่มนี้มีอคติทางการเมือง” ทำไมตอนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กู้เงินมาแจก…จึงเงียบกริบ บ้างก็บอกว่า คนที่คัดค้านคือ “คนที่ไม่เห็นหัวคนจน” ข้อกล่าวหาของฝั่งกองเชียร์เพื่อไทย ก็อาจจะมีส่วนจริงอยู่บ้าง ต้องยอมรับว่า คนกลุ่มนี้มีหลายคนที่เคยเห็นด้วยกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ บางคนก็เคยได้ดิบได้ดี แต่คนส่วนใหญ่ในกลุ่มที่คัดค้านไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่านโยบายนี้ ได้ไม่คุ้มเสีย

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่า ความเห็นทางเศรษฐศาสตร์ย่อมแตกต่าง ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ เพียงแต่รัฐบาลจะต้องหาข้อมูล หลักฐานตอบข้อสงสัยเหล่านั้นให้ได้ ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า เม็ดเงิน 5.6 แสนล้านบาทที่โยนใส่ลงไปตูมเดียว เพื่อหวังให้เกิดแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจ มีหลักประกันอะไรว่า จะเป็นไปตามเป้า จนถึงวันนี้รัฐบาลยังตอบคำถามไม่ได้ ว่าจะเอาเงินมาจากที่ไหน จะตัดงบประมาณจากส่วนใด หรือจะกู้แบงก์รัฐ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า มาตรการที่ทำได้ส่งผลกระทบตามมามากมาย หากจะตัดงบประมาณประจำปี ก็จะส่งผลกระทบทำให้โครงการอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นโครงการที่ดีเสียโอกาสได้ แต่ถ้ากู้จากแบงก์รัฐ ข่าวว่าเป็นแบงก์ออมสิน ก็จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น

แม้แต่วัตถุประสงค์ในโครงการนี้ รัฐบาลยังตอบไม่ชัดว่า จะเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเน้นการวางรากฐานระบบดิจิทัลด้วยบล็อกเชน กระทั่งตัวคูณทางเศรษฐกิจต่อโครงการว่าเป็นเท่าไหร่ ก็ไม่ชัดเจน พรรคเพื่อไทยเคยอ้างตอนรณรงค์หาเสียงว่า จะทำให้มีเงินหมุนเข้าระบบเศรษฐกิจ 6 รอบ พอมาเป็นรัฐบาลลดลงมาเหลือ 4 รอบ จะเห็นว่าตัวเลขตัวคูณที่แท้จริง รัฐบาลก็ยังตอบไม่ชัด แต่จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยเคยศึกษาไว้ตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลจะมีนโยบายนี้ ว่าตัวคูณทางการคลังมีเพียง 0.4% เท่านั้น

กลุ่มที่คัดค้าน ได้แสดงถึงความเป็นห่วงในหลายๆ เรื่อง ทั้งสถานการณ์ตอนนี้ต่างจากช่วงโควิดที่มีความจำเป็นมากกว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น งบประมาณมีจำกัด หากนำเงินมาแจก 5.6 แสนล้านบาทจะทำให้เสียโอกาสทางการเงิน การก่อหนี้จำนวนมาก ต้องมีภาระในการจ่ายดอกเบี้ยสูง เนื่องจากเป็นช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรมองการเคลื่อนไหวของนักวิชาการหรือภาคประชาชนเป็นเรื่องที่ดี จะได้มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง ประชาชนจะได้ความรู้ความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน ข้อท้วงติงไหนที่เป็นประโยชน์ ก็ควรมาปรับปรุงและทบทวน ไม่ใช่ยืนยันเดินหน้า เท่าที่ฟังสุ่มเสียงคนจำนวนไม่น้อย ก็ไม่ได้มีข้อกังขาเรื่องแจกเงิน แต่เกิดความสงสัยว่า “ดิจิทัลวอลเล็ต” 5.6 แสนล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ มีความจำเป็นแค่ไหนในการใช้เงินจำนวนมากขนาดนี้ คุ้มไหมกับความเสี่ยงที่ทุกฝ่ายได้ทักท้วงมา

อยากจะบอกรัฐบาลว่า อย่าได้ประมาทกับปฏิกิริยาดังกล่าว เพราะ ประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอยสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ทำ โครงการรถคันแรก โดยรัฐให้เงินอุดหนุนกับคนที่ซื้อรถคันแรก ด้วยวิธีคืนเงินภาษีให้กับเจ้าของรถคันละไม่เกิน 1 แสนบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและอุ้มอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่กลับสร้างปัญหาหนี้ครัวเรือนเรื้อรัง และยังทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ต้องได้รับผลผลกระทบตามมามากมาย จนซบเซาไปพักใหญ่ เพราะรถรุ่นอื่นๆ ขายไม่ออก

แต่ที่หนักหนาสาหัสที่สุดคงไม่พ้น โครงการจำนำข้าวทุกเม็ด มีผลเสียตามมามากมายมีการนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมรอย ที่สำคัญเกิดการทุจริตมโหฬาร มีนักการเมือง ข้าราชการระดับสูงต้องถูกลงโทษจำคุก ส่วน “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ก็ต้องหนีออกนอกประเทศ กลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้หยิบโครงการจำนำข้าวไปเป็นประเด็นในการโจมตี จนลุกลามใหญ่โต กระทั่งนำไปสู่การรัฐประหารของคสช. จนทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเกือบ 10 ปี

อย่าลืมว่า “รถคันแรก-จำนำข้าว” รัฐใช้งบประมาณสนับสนุนคนแค่บางกลุ่มบางอาชีพ แต่โครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาททุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปนั้น ต้องใช้เงินมหาศาลมากกว่าโครงการรถคันแรกและจำนำข้าวมาก จะเป็นจุดอ่อนทำให้กลุ่มคัดค้านไม่เห็นด้วย หยิบมาเป็นประเด็นทางการเมืองได้

แม้พรรคเพื่อไทย จะยังเดินหน้าต่อไป เข้าใจว่าในทางการเมืองนั้นถอยไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายหาเสียงไว้ แต่ถ้าไม่เปิดใจฟังคนเห็นต่างและนำความเห็นมาทบทวนเพื่ออุดจุดอ่อน อาจจะกลายเป็น “โครงการรับจำนำข้าวภาค 2” อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

……………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img