วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSไขปริศนา‘แรงงานไทย’ ทำไมต้องเสี่ยงตาย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ไขปริศนา‘แรงงานไทย’ ทำไมต้องเสี่ยงตาย

นับวันยอดตัวเลข แรงงานไทย ที่ต้องสังเวยชีวิตไปกับเหตุการณ์กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล ทะยอยเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 16 ต.ค.มีแรงงานไทยเสียชีวิตแล้ว 29 ราย ส่วนถูกจับเป็นตัวประกัน 17 ราย และบาดเจ็บ 16 ราย

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก็มีแรงงานไทยเสียชีวิต 2 คนจากการปะทะกันระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตล์ สิ่งที่หลายๆ คนถาม เสี่ยงแล้วทำไมต้องไป ไม่ทำงานในบ้านเรา ปล่อยให้คนต่างด้าวมาแย่งงานแย่งอาชีพคนไทยแบบเบ็ดเสร็จไปแล้ว

ถ้าจะตอบแบบกำปั้นทุบดินก็เพราะ “ความจน” ทำงานบ้านเรา ค่าแรงไม่พอยาใส้ สะท้อนจากผลสำรวจสถานการณ์แรงงานไทยในปี 2565 โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า แรงงานไทยดำรงชีพด้วยค่าแรงขั้นต่ำไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือน เฉลี่ย 217,952.59 บาทหรือเพิ่มขึ้น 5.09% จากปี 2564 หนี้สินที่เกิดขึ้น มีทั้งหนี้บัตรเครดิต หนี้เงินกู้ ค่าส่งบ้าน หนี้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ค่ายานพาหะนะ ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

ทุกวันนี้ค่าแรงของไทยอยู่ที่ 336 บาทต่อวันเท่านั้น ถ้าจะให้อยู่ได้ก็น่าจะเกือบๆ 500 บาท แต่ที่แรงงานต่างด้าวอยู่ได้ เพราะค่าแรงบ้านเขาต่ำกว่าบ้านเรา และชีวิตเขาลำบากกว่าอยู่บ้านเรามากมาย เขามาแบบตัวเปล่า ไม่มีภาระเหมือนคนไทยที่เป็นเจ้าของประเทศ ชีวิตคนพวกนี้อาจจะดีกว่าทำงานที่บ้านเขานิดหน่อยเท่านั้น คล้ายๆ แรงงานไทยไปขายแรงงานต่างแดน ที่มีคนบอกว่า คนไทยขี้เกียจไม่ขยันเหมือนแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่คนไทยที่ไปขายแรงงานต่างแดน มักจะได้รับคำชมจากนายจ้างว่า ขยัน-อดทน จึงเป็นที่ต้องการ

ในช่วงโควิดระบาด แรงงานไทยจำนวนไม่น้อยโดนหางเลข ถูกให้ออกจากงาน ต้องตกงาน กลับไปตั้งหลักที่บ้านนอก แต่ก็ไม่มีงาน บางคนทำธุรกิจเจ๊งจากมาตรการล็อคดาวน์ เป็นหนี้เป็นสินต้องหาเงินใช้หนี้ ขณะที่ภาคเกษตรต้องพึ่งพาฟ้าฝน หากปีใดฟ้าฝนไม่เต็มใจ ผลผลิตก็เสียหาย แต่หากปีใดฟ้าฝนดีมีผลผลิตออกมาสู่ตลาดมาก ราคาก็ตกต่ำ แถมยังถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง จึงจำเป็นต้องทิ้งไร่ทิ้งนาไปเสี่ยงโชค แม้จะรู้ทั้งรู้ว่า อิสราเอลมีความเสี่ยง เพราะเป็นพื้นที่สงคราม บางครั้งไปก็ถูกนายจ้างเอาเปรียบ ชีวิตลำบากไม่ได้สะดวกสบายก็ตาม 

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุว่า มีแรงงานไทยในอิสราเอล ราว 26,000 คน มากเป็นอันดับ 2 ส่วนไต้หวันอันดับ 1 ราว 5 หมื่นคน อาชีพที่คนไทยไปทำงานในอิสราเอล มีทั้งภาคเกษตร ซึ่งแรงงานไทยยึดเกือบ 100% ที่เหลือก็ทำงานก่อสร้าง งานบริการ ทำงานร้านอาหาร มีทั้งเชฟ กุ๊กในร้านอาหารจีน ร้านอาหารญี่ปุ่น รายได้อย่างต่ำโดยเฉลี่ย 5 หมื่นบาทต่อเดือน แต่นายจ้างก็หักเงินค่าจ้างเพื่อเสียภาษีรายได้ ประกันสังคม ค่าที่พักอาศัย ค่าประกันสุขภาพเป็นต้น ในแต่ละเดือนหักได้ ไม่เกิน 25% หากทำงานเกินเวลาก็จะมีค่าล่วงเวลา บางคนสามารถส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวเดือนละ 3 หมื่นบาทเลยทีเดียว

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทยในวันนี้ จึงเป็นการตอกย้ำว่า เป็นเพราะ ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รวยกระจุกจนกระจาย ความแตกต่างกันราวฟ้ากับดินระหว่างคนรวยกับคนจน มิหนำซ้ำยังเกิดความเหลื่อมล้ำในด้านการพัฒนา ระหว่างกรุงเทพฯที่เป็นเมืองหลวงกับต่างจังหวัด งบประมาณส่วนใหญ่ รัฐทุ่มเทเพื่อคนเมืองหลวง แต่ไปถึงต่างจังหวัดน้อยมากๆ ทำให้ไม่มีแหล่งงานดีๆ รองรับคนต่างจังหวัด คนยากคนจน โดยเฉพาะคนภาคอีสาน กับภาคเหนือ จึงต้องดิ้นรนไปตายเอาดาบหน้าเพื่อจะมีโอกาสที่ดีในชีวิต ครอบครัวจะได้ไม่อดอยาก มีบ้านอยู่อาศัย มีนาทำ ลูกได้เรียนหนังสือดีๆอนาคตไม่ต้องลำบาก

เรื่องนี้คงเป็นโจทก์ข้อใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องแก้ในอนาคต แต่เรื่องที่ง่ายที่กว่านั้น เฉพาะหน้ารัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาค่าแรงจะทำยังไงให้คนเหล่านี้มีพออยู่พอกิน ไม่ต้องดินรนกระเสือกกระสนไปทำงานต่างแดน ต้องเสี่ยงตาย

เป็นไปได้ไหมที่จะวางระบบการขึ้นค่าจ้างแรงงานแบบอัตโนมัติทุกปี สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ไม่ใช่รอให้มีการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองหยิบเรื่องค่าแรงหาเสียง แม้กระนั้นก็ยังถูกพวกนายทุนผู้ประกอบการออกโรงคัดค้าน ครั้งนี้ก็เช่นกันตอนหาเสียงบอกว่าจะขึ้นค่าแรงทันที แต่ตอนนี้พอได้เป็นรัฐบาลเรื่องนี้กลับเงียบกริบ

อย่าลืมว่า รายได้เข้าประเทศนอกจากการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้าแล้ว การส่งออกแรงงานนำรายได้เข้าประเทศแต่ละปีไม่ใช่น้อยๆ รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุด ระบุว่า ช่วงเดือนม.ค.จนถึงส.ค. ปีนี้ ยอดประมาณการรายได้ที่คนไทยในต่างประเทศส่งกลับโดยผ่านระบบของธนาคารแห่งประเทศไทย มียอดรวมทั้งสิ้น 164,779 ล้านบาท

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เม็ดเงินดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากแรงงานไทยในอิสราเอลที่ต้องเสี่ยงตาย เพื่อหาเงินส่งกลับประเทศ

……………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย… “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img