วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSอย่าให้‘การบินไทย’...ต้องเป็นภาระของชาติ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

อย่าให้‘การบินไทย’…ต้องเป็นภาระของชาติ

ประเด็นความน่าสนใจในบ้านเรา นอกจากเรื่อง “บริหารจัดการวัคซีนมั่วๆ” แล้ว คงจะเป็นประเด็นว่า จะเอาอย่างไรสำหรับสถานการณ์ของ “การบินไทย” ที่จะเริ่มเข้าสู่ กระบวนการจัดการแผนฟื้นฟู

ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะออกหมู่หรือจ่า คงต้องรอลุ้นในวันพุธที่ 19 พ.ค. ซึ่งแผนฟื้นฟูการบินไทยเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการประชุมเจ้าหนี้การบินไทยอีกครั้ง

อาการของการบินไทยยามนี้ เห็นทีจะต้องเปลี่ยนสโลแกน “รักคุณเท่าฟ้า” มาเป็น “หนี้คุณท่วมฟ้า” เพราะมีมูลหนี้รวมกว่า 4 แสนล้านบาท เป็นภาระหนักอึ้งที่ยังหาทางออกไม่เจอ จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวให้กลับไปเป็น “รัฐวิสาหกิจ” อีกครั้ง

ข่าววงในว่ากันว่า กระทรวงการคลัง เป็นคนออกแรงผลักดันเรื่องนี้แบบสุดลิ่มทิ่มประตู ซึ่งสอดคลองกับความต้องการของ “เจ้าหนี้” ที่อยากให้กระทรวงการคลังเข้ามาค้ำประกันเงินกู้ หรือเป็นเจ้าภาพในการใส่เงินก้อนใหม่เข้ามา

แต่ปัญหาคือ การที่กระทรวงการคลังจะทำเช่นนี้ได้ จะต้องดึงบริษัทการบินไทย กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก เท่ากับว่าเป็นการ “พายเรือในอ่าง” หรือ “ถอยหลังลงคลอง” เลยทีเดียว

เหนือสิ่งใด หากเรื่องนี้เป็นความจริง นั่นเท่ากับว่า กระทรวงคลังทำในสิ่งที่สวนทางกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563 ที่เห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้คำสั่งศาลตามกฎหมายล้มละลาย ที่ให้การบินไทยพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด

นอกจากนี้ยังให้กระทรวงการคลังได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทการบินไทย เหลือเพียงร้อยละ 48 นั่นหมายความว่า ถ้าการบินไทยจะต้องกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังจะต้องซื้อหุ้นคืน ซึ่งตอนนี้รัฐถือหุ้นในสัดส่วนใหญ่สุดที่ 49.99% ถ้าจะเป็นรัฐวิสาหกิจรัฐต้องถือหุ้นเกิน 50% ซึ่งจะซื้อคืนแค่ 0.02% เท่านั้น

FB / www.thaigov.go.th

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ถึงเรื่องที่กระทรวงการคลังนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจประเภท 3 ว่า

“ขอยืนยันว่า แผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาการจัดทำแผน ช่วงนี้รัฐบาลยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของผู้จัดทำแผน เพื่อให้แผนผ่านการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 19 พ.ค.นี้”

“ผมยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า รัฐบาลยังไม่สนับสนุนเงินใด ๆ ทั้งสิ้น ผมจำเป็นต้องพูดอย่างนี้ ไม่งั้นวุ่นกันไปหมด จนกว่าจะมีการเดินหน้าแผนและบริหารแผน อย่าเอาตรงนี้เป็นตัวชี้ออกไป ผมคิดว่าทุกคนคงไม่อยากให้การบินไทยล้มละลายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ช่วยกันทุกอย่างก็เป็นไปไม่ได้อีก”

แม้ “ลุงตู่” จะยืนยันว่ารัฐบาลไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า โอกาสจะเป็นไปไม่ได้ เพราะฝ่ายเจ้าหนี้เองก็ “ไม่ยอมลดหนี้” เช่นกัน

ปัญหาคือถ้าการบินไทยกลับเข้ามาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกรอบ ก็จะกลับมาสู่วังวนเดิมๆ ซึ่งเป็นยุค “สายการบินแห่งชาติ” เป็นเสมือน “สายการบินแห่งญาติ” ที่เล่นพรรคเล่นพวก แสวงหาแต่ผลประโยชน์การบริหารจัดการจะไม่เป็นอิสระ ขณะที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินค่อนข้างจะสูงในปัจจุบัน แม้ในอนาคตหลังจากผ่านพ้นยุควิกฤติโควิด-19 ไปแล้วก็ตาม คาดว่าการแข่งขันก็ยังคงรุนแรง

ต้องยอมรับว่าปัญหาการขาดทุนของการบินไทยไม่ใช่เพิ่งเกิดในช่วงโควิด แต่ได้ขาดทุนสะสมมานานนับสิบปีอันเนื่องมาจาก “การทุจริตคอรัปชั่น” การให้อภิสิทธิ์กับบอร์ดผู้บริหารและพนักงาน…เกินความจำเป็น

แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบินไทยต้องขาดทุนอย่างหนักนั่นคือ ความไม่พร้อมในการแข่งขัน เรื่องนี้ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูท่านหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า “ก่อนหน้านี้ การบินไทยต้องถูกสายการบินจากกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางที่มีเงินทุนหนามาแย่งตลาด สถานะการบินไทยย่ำแย่มาตั้งแต่นั้น”

“สายการบินเหล่านี้สามารถซื้อเครื่องบินโดยสารลำใหม่ๆ มีอุปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัยสำหรับมาบริการผู้โดยสาร อีกทั้งรัฐบาลของเขายังช่วยอุดหนุนในเรื่องราคาน้ำมันสำหรับเครื่องบิน ทำให้มีต้นทุนต่ำกว่าการบินไทยเป็นสิบเท่า”

ขนาดในยุคที่อุตสาหกรรมการบินยังรุ่งเรือง และการบินไทยยังแข็งแกร่งกว่าทุกวันนี้ ยังประสบปัญหาขาดทุนบักโกรก อย่าลืมว่าธุรกิจการบินหลังยุคโควิดมีความไม่แน่นอนสูง เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น กว่าทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางอาจจะต้องรอออกไปอีก 2-3 ปี จึงจะกลับมาสู่สถานะเดิม การบินไทยจะอึดพอหรือไม่

ดังนั้นอย่าเสี่ยงนำการบินไทยกลับมาเป็นภาระของชาติ โดยนำเงินภาษีของคนไทยไปอุ้มอีกต่อไป

………………………………………………
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img