วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSวิกฤติ“ศรีลังกา”...เตือนสติไทย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

วิกฤติ“ศรีลังกา”…เตือนสติไทย

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ปัจจัยหนึ่งและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “เศรษฐกิจศรีลังกา” ต้องล้มเหลวและพังทลายในที่สุด คือ “การเมือง” อันเนื่องมาจากการผูกขาดทางเมืองที่มีการนำการเมืองระบบเครือญาติมาบริหารประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคตระกูล “ราชปักษา” ที่กลับมาเป็นรัฐบาลใหม่อีกครั้งในปี 2019 แล้วเอาคนในตระกูลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคุมกระทรวงสำคัญๆ หลายคน

รวมถึงในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ก็ชูนโยบายประชานิยมด้วยมาตรการลดภาษีแบบถล่มทลาย ทำให้ชนะการเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียว ผลพวงจาก “นโยบายประชานิยม” ส่งผลให้รายรับของรัฐลดลงไปถึง 35% มิหนำซ้ำยังมี “นโยบายปฏิรูปภาคเกษตร” โดยห้ามเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูก หวังจะให้ศรีลังกาเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีรายใหญ่ของโลก แต่ผลกลับเป็นไปตรงกันข้ามเมื่อผลผลิตเกษตรลดลงฮวบฮาบ จนไม่สามารถส่งออกได้ ทำให้ไม่มีรายได้เข้าประเทศ

“ชา” ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญก็มีปัญหาตามมา สงครามในยูเครนทำให้รัสเซียลดการนำเข้าชาจากศรีลังกา ส่งผลให้รายได้เข้าประเทศลดลง “อุตสาหกรรมชา” วิกฤติอย่างหนัก เพราะต้นทุนการผลิตเพิ่ม 10 เท่า แต่ผลผลิตลดลง 50% ขณะที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว ราว 10% ของจีดีพี.เป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็อยู่ภาวะซบเซาอย่างหนัก เนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19

ชาศรีลังกา /cr : FB : Sri Lanka Tea Board

การส่งเงินจากผู้ที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศก็ลดลง ทำให้รัฐบาลต้องดึงเงินสำรองเงินตราต่างประเทศมาใช้จ่ายค่าเงินของศรีลังกาดิ่งลง 80% ทำให้การนำเข้ามีราคาแพงขึ้น และภาวะเงินเฟ้อกำลังเลวร้ายลง

ศรีลังกาต้องเผชิญกับการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศอย่างหนัก กระทรวงการคลัง ระบุว่า ศรีลังกามีทุนสำรองต่างประเทศเพียง 25 ล้านดอลลาร์เท่านั้น และกำลังต้องการเงิน 6,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้คงอยู่ได้อีก 6 เดือน การที่ไม่มีเงินทุนสำรองต่างประเทศเหลือซื้อพลังงานไฟฟ้าและอาหาร ทำให้สินค้าขาดแคลนและมีราคาแพงขึ้น เศรษฐกิจต้องประสบปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนัก ธนาคารกลางศรีลังกาเผยว่า อัตราเงินเฟ้อแตะ 64.6% เมื่อเดือนที่แล้ว และอาจเพิ่มขึ้นเป็น 70% เลยทีเดียว

ศรีลังกาต้องวิกฤติหนักยิ่งขึ้น เมื่อมีภาระหนี้สูงถึง 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ทำให้เศรษฐกิจต้องพังทลายลง ชาวศรีลังกากำลังอดอาหาร พวกเขาต้องต่อคิวยาวเป็นกิโลใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อซื้อน้ำมันและก๊าซหุงต้มที่กำลังขาดแคลน ประชาชนชาวศรีลังกา 22 ล้านคนเดือดร้อนอย่างหนัก ความหวังสุดท้ายจึงฝากไว้ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ “ไอเอ็มเอฟ” เท่านั้น

อันที่จริงการบริหารจัดการเศรษฐกิจผิดพลาดของรัฐบาลศรีลังกา ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดในรัฐบาลราชปักษาเท่านั้น แต่เป็นปัญหาสะสมจากหลายๆ รัฐบาลก่อนหน้านั้น ที่ปกครองประเทศต่อเนื่องกันมา อีกทั้งยังมีปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นอย่างรุนแรงของคนในรัฐบาลที่กัดกร่อนเศรษฐกิจศรีลังกา คนสำคัญในรัฐบาลได้รับฉายาว่าเป็น “มิสเตอร์ 10 เปอร์เซ็นต์” เพราะนิยมการชักหัวคิวในทุกโครงการที่สร้างโดยรัฐ ทำให้เกิดปัญหาการคอร์รัปชั่นเรื้อรัง มีการเล่นพรรคเล่นพวก

จึงไม่แปลกใจ ทำไมรัฐบาลศรีลังกาทุ่มเทการลงทุนระบบสาธารณูปโภคขนานใหญ่ เพราะเป็นช่องทางเกิดการทุจริตคอรัปชั่นได้ง่ายๆ นั่นเอง รัฐบาลศรีลังกากู้เงินจากรัฐบาลจีน 4.8 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างท่าเรือ Hambantora รวมถึงสนามบินแห่งใหม่ และโรงไฟฟ้า แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถชำระเงินกู้ 1.4 พันล้านดอลลาร์ จึงต้องปล่อยให้จีนเช่าท่าเรือ มาดำเนินการนาน 99 ปี

ปรากฏการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นกับศรีลังกา เทียบกับสถานการณ์ประเทศไทยเวลานี้ โดยดูจากปัจจัยต่างๆ ทางเศรษฐกิจยังถือว่า ไทยอยู่ห่างไกลจากศรีลังกามากพอสมควร พื้นฐานด้านเศรษฐกิจของไทยยังค่อนข้างแข็งแกร่ง ทั้งเรื่องการเงิน การธนาคาร ระบบปริวรรตเงินตรา และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ทำให้ฐานะการเงินค่อนข้างมีความมั่นคงมากกว่า

เสถียรภาพของไทยที่ยังคงมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ระดับทุนสำรองที่มีอยู่ยังมีเพียงพอที่จะดูแลหนี้ระยะสั้นที่ยังมีความสามารถจ่ายหนี้ได้ถึง 3 เดือน เมื่อนำหนี้ระยะสั้น ทุนสำรองที่เอาไว้หนุนหลัง และการพิมพ์พันธบัตรออกมาเพิ่มเติมรวมไว้ด้วยกัน ไทยก็ยังมีเหลืออยู่มากสำหรับใช้จ่ายต่อไป

สิ่งที่น่าห่วงตรงที่บริบททางการเมืองของไทย ก็ไม่ต่างจากศรีลังกาเท่าไหร่นัก เพราะรัฐบาลบริหารประเทศก็มาจากกลุ่มอำนาจกลุ่มเดียว เล่นพรรคเล่นพวก ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่จะกลัดกร่อนประเทศก็มีไม่น้อย สิ่งที่เหมือนกันอีกอย่าง นั่นคือ นโยบายประชานิยม ลด แลก แจก แถมเพื่อเรียกคะแนนนิยม อย่าลืมว่านโยบายดังกล่าวทำให้รัฐบาลศรีถังแตกมาแล้ว ของไทยเองก็มีเสียงเตือนเป็นระยะๆว่ารัฐบาลอย่าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายเกินตัวระวังถังแตก

การล่มสลายทางเศรษฐกิจของประเทศศรีลังกา น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่เตือนสติรัฐบาลและคนไทยและอีกหลายประเทศ ให้ตระหนักถึงวิธีการดำเนินแผนเศรษฐกิจในสภาวะเศรษฐกิจผันผวนและมีความเสี่ยงอย่างระมัดระวังมากขึ้นมิเช่นนั้นอาจจะเดินตามรอยศรีลังกาได้

……………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img