วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS8 ปีลุงตู่ ''8 ปีเศรษฐกิจไทย''... เดินหน้าหรือถอยหลัง???
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

8 ปีลุงตู่ ”8 ปีเศรษฐกิจไทย”… เดินหน้าหรือถอยหลัง???

คงต้องรอดูว่าวันที่ 24 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะครบ 8 ปีในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากนับตั้งแต่ปี 57 ซึ่งนั่งในตำแหน่งครั้งแรก คงต้องลุ้นผลจะออกมาอย่างไร ทำไมเรื่องนี้ถึงมีความหมาย เนื่องจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยที่ลุงตู่จะนั่งเก้าอี้นายกฯต่อเห็นว่า 8 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยบอบช้ำมากแล้ว

แต่ก็มีบางกลุ่มที่ยังสนับสนุนให้อยู่ต่อ จึงมีสูตรในการนับอายุในการดำรงตำแหน่งมากมาย บางรายก็ให้นับตั้งปี 57 ที่นั่งเก้าอี้นายกฯครั้งแรก บ้างก็บอกว่าต้องนับปี 60 ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้ แต่ก็มีคนบางกลุ่มบอกว่าให้นับปี 62 ที่ได้ตำแหน่งนายกฯหลังจากเลือกตั้ง

แต่สำหรับในมิติของเศรษฐกิจแล้ว มีความคิดเห็นที่น่าสนใจจาก “ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “8 ปี เศรษฐกิจไทยไปถึงไหน?” เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบ 8 ปีที่ผ่านมากับ 8 ปีก่อนหน้า เปรียบเทียบจีดีพี.กับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางทั่วโลกว่า….

“ในปี 2006-2013 กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางโต 6.5% แต่เศรษฐกิจไทยโตแค่ 3.7% พอ 8 ปีที่ผ่านมา ในปี 2014-2021 เศรษฐกิจไทยโตแค่ 1.7% ขณะที่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางทั่วโลกโต 4.2% ปี 2006-2013 กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางทั่วโลกโตเร็วกว่าเศรษฐกิจไทย 75.7% แต่ช่วงปี 2014-2021 กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางทั่วโลกโตเร็วกว่าเศรษฐกิจไทยถึง 147.1%”

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ / cr : คนเคาะข่าว ช่องนิวส์วัน

จากบทวิเคราะห์ สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปเศรษฐกิจไทยแย่แน่ๆ เพราะจะยิ่งถอยหลังไปเรื่อยๆ จะเห็นว่า 8 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ทรุดลงไป เมื่อเทียบกับประเทศอื่น

นอกจากนี้ ดร.ศุภวุฒิ ยังระบุว่า ด้านการลงทุนเทียบไทยกับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ปรากฏว่า ไทยลงทุนน้อยกว่าประเทศอื่นค่อนข้างมาก ทั้งที่ปัจจัยนี้เป็นตัวขับเคลื่อนให้จีดีพีโตเร็วหรือโตช้า โดยในปี 2007-2013 ไทยลงทุน 25.9% ของจีดีพี ส่วนประเทศอื่น 31.9% ของจีดีพี ปี 2014-2020 ไทยลงทุน 23.3% ของจีดีพี ประเทศอื่น 32.6% ของจีดีพี จะเห็นว่าประเทศอื่นที่ลงทุนมากกว่า ก็จะมีการจัดสรรทรัพยากรไปภาคลงทุนมากกว่าบริโภค ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวกว่าการกระตุ้นด้วยการบริโภคจะช่วยได้แค่ระยะสั้นๆเท่านั้น

แต่ถ้ามาดูจีดีพี. (ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ) ข้อมูลจาก สภาพัฒน์ฯ ระบุไว้ ตลอดระยะเวลารวมตั้งแต่ปี 2557-2565 เศรษฐกิจไทยลดลงต่ำสุดถึงติดลบ 6.2% ในปี 2563 จากการระบาดของโควิด และ ขยายตัวสูงสุด 4.2% ในปี 2561ขนาดของ จีดีพี.เพิ่มขึ้นจาก 13.13 ล้านล้านบาท ในปี 2557 เป็น 17.35 ล้านล้านบาท ในปี 2565 หรือ เพิ่มขึ้นประมาณ 4.22 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 5.2 แสนล้านบาท

รายได้ต่อหัวคนไทย เพิ่มขึ้นจาก 195,995 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2557 เป็น 248,468 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 52,000 บาทต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ยปีละ 6,500 บาทต่อคนต่อปี

ขณะเดียวกันลองย้อนดูการใช้จ่ายงบประมาณ ตลอด 8 ปี ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ที่ผ่านมา รวมงบประมาณรายจ่ายประจำปี 12 ครั้ง ทั้งสิ้น 26.7 ล้านล้านบาท รวมเม็ดเงินกู้สำหรับรับมือสถานการณ์โควิด-19 เป็นเงินทั้งสิ้น 28.5 ล้านล้านบาท ขาดดุลต้องกู้เพิ่มเติมรวม 6 ล้านล้านบาทโดย 3 ใน 4 จ่ายเงินเดือนราชการดังนั้นเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจึงไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การเข้ามาบริหารประเทศ 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 พบว่า หนี้สาธารณะ อยู่ที่ 42.50% ต่อจีดีพี มูลค่า 5.53 ล้านล้านบาท ขณะที่ตัวเลขหนี้สาธารณะล่าสุด ณ วันที่ 30 เมษายน 2565 มียอดคงค้างอยู่ที่ 10,046,605 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 60.81% ของจีดีพี.ซึ่งทะลุเพดานกรอบเงินกู้ที่กำหนดไว้ที่ระดับ 60% ของจีดีพี. จนต้องมีการขอขยายเพดานหนี้เป็น 70%

“หนี้สาธารณะทั้งหมด” แบ่งเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงประมาณ 8,204,351 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็น “หนี้ที่กู้มาแก้ปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด” และใช้สำหรับ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” ด้วยมาตรการประชานิยมต่างๆ เช่น โครงการคนละครึ่งเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลา 8 ปีที่รัฐบาลลุงตู่ที่บริหารประเทศ ต้องยอมรับว่าในช่วง 3 ปีหลัง สะบักสะบอมกับการแก้ไขวิกฤติไวรัสโควิดแพร่ระบาด เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก แต่ทุกวันนี้หลายประเทศเริ่มใช้ชีวิตแบบปกติ เศรษฐกิจเริ่มเดินเครื่องเกือบจะ 100% ขณะที่ประเทศไทยการแพร่ระบาดยังคงหนัก ซึ่งกลายเป็นปัญหาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมาก

จะเห็นได้จากปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยโตแค่ 1.6% เพราะวัคซีนไม่เพียงพอ ส่วนประเทศอื่นที่เขาฟื้นได้เร็ว เพราะรีบฉีดวัคซีนตั้งแต่ปลายปี 2020 มาปีนี้ประเทศเริ่มดีขึ้นมาบ้าง จะเห็นว่าจีดีพี 2022 ของไทยโตใกล้จีดีพีของโลก ต่างจากปีที่แล้ว คือ ปี 2021 จีดีพี.ของไทยกับจีดีพี.ของโลกห่างกันลิบลับ จีดีพีโลก 6.1% ส่วนไทยแค่ 1.6%เท่านั้น ปีนี้เราคาดการณ์โต 3% ฉะนั้นในครึ่งหลังของปีนี้ต้องโต 3.5% เพราะครึ่งปีแรกโตแค่ 2.5% เท่านั้น คงต้องลุ้นกันเหนื่อยพอสมควร

แม้จะต้องเจอวิบากกรรมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เจอวิกฤติเหมือนกัน ประเทศไทยเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าที่สุด ติด 1 ใน 3 ของโลก ส่วนอีก 2 ประเทศมี อิตาลีและญี่ปุ่น

………………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img