วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“บิ๊กตู่”เลี่ยงยาก“ปรับครม.” พรรคร่วมรัฐบาลรอขยับ-ปชป.ส่อวงแตก!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“บิ๊กตู่”เลี่ยงยาก“ปรับครม.” พรรคร่วมรัฐบาลรอขยับ-ปชป.ส่อวงแตก!!

หลังพ้นห่วงการเมืองจากคดีแปดปีไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา เพราะศาลรัฐธรรมนูญไฟเขียวให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต่อไปหลัง 24 ส.ค.2565

ทำให้ตั้งแต่จันทร์ที่ 3 ต.ค. พลเอกประยุทธ์จะกลับมาหน้าที่ตามปกติต่อไป โดยเฉพาะการเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี วันอังคารที่ 4 ต.ค. หลังว่างเว้นการเข้าทำเนียบรัฐบาลมาเดือนเศษ

แน่นอนว่า งานรูทีนตามปกติ มีรอให้พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาบริหารจัดการทันที หลังเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า รวมถึงงานเฉพาะกิจต่างๆ เช่นการดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากน้ำท่วม ซึ่งหลายจังหวัดสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง ขณะที่งานระดับบิ๊กที่รออยู่ ก็คือ “การเตรียมจัดประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” หรือ “เอเปค” ในช่วง 18-19 พ.ย.ที่จะถึงนี้

โดยแม้ว่าทาง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ จะไม่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุม แต่ดูเหมือนฝ่ายรัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศ ยังน่าจะเชื่อมั่นว่า ผู้นำอีกหลายประเทศจะเดินทางมา โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์การเมืองในไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเต็มตัว ทำให้ผู้นำหลายประเทศน่าจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ว่าไม่ได้มาประชุมในช่วงที่ประเทศไทยมีรัฐบาลรักษาการ อย่างที่หลายคนกังวลก่อนหน้านี้ หากพล.อ.ประยุทธ์หลุดจากนายกฯ

แน่นอนว่า “ฝ่ายรัฐบาล-พล.อ.ประยุทธ์” ล้วนคาดหวังว่า หากการจัดประชุมเอเปคราบรื่นไปได้ด้วยดี มีภาพของพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะ “ผู้นำประเทศ” คอยยืนเด่นเป็นสง่า เคียงข้างผู้นำหลายประเทศทั่วโลก จนพล.อ.ประยุทธ์กลายเป็นผู้นำระดับอินเตอร์ ในทางการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้น มันก็คือ เครดิตของรัฐบาล-พลเอกประยุทธ์ไปเต็มๆ

มีการมองกันว่า หากประเทศไทยจัดประชุมเอเปคอย่างยิ่งใหญ่ ได้รับความสำเร็จด้วยดี ก็จะเป็นช่วงที่ “เรตติ้งพล.อ.ประยุทธ์” น่าจะสูงสุดในรอบปีเลยทีเดียว และเมื่อไปถึงช่วงนั้นคือปลายเดือนพ.ย. ก็เป็นช่วงที่สภาฯเปิดแล้ว และคาดว่า ร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.และร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ก็น่าจะมีผลบังคับใช้แล้วเช่นกัน เรียกได้ว่า จังหวะทุกอย่างลงตัว จนมีการมองกันว่า ถ้าเรตติ้งรัฐบาลดีๆ ในตอนปลายปี และรัฐบาลอัดนโยบายต่างๆ เพื่อซื้อใจประชาชนออกมาเป็นล็อตสุดท้ายช่วงปลายปี 65 นี้ โดยเฉพาะเรื่องการลดค่าครองชีพ แล้วรัฐบาลอยู่จนลากไปถึงสักปลายเดือนม.ค.66 เป็นอย่างช้า ก็ถึงจังหวะเหมาะสมแล้วที่จะมีการตัดสินใจ “ยุบสภาฯ” เกิดขึ้นช่วงม.ค. หรือไม่เกินกลางเดือนก.พ. ปีหน้า ที่สภาฯจะปิดสมัยประชุม 28 ก.พ.2566 เพื่อไปเลือกตั้งกันช่วงเม.ย.66 ก่อนเทศกาลสงกรานต์

ที่ก็คือเป็นการร่นเวลาจากที่จะเลือกตั้งใหญ่ 7 พ.ค.2566 กรณีหากสภาฯอยู่ครบเทอม มาเป็นการยุบสภาฯ เพื่อร่นเวลาการเลือกตั้งให้เร็วขึ้นประมาณ1-2 เดือน ซึ่งการยุบสภาฯก็จะทำให้ปลดล็อกข้อกฎหมายเรื่องการสังกัดพรรคจากหากไม่ยุบสภาฯต้องสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 90 วันจนถึงวันเลือกตั้ง ให้เหลือแค่ 30 วันจนถึงวันเลือกตั้ง ที่จะเป็นผลดีต่อพรรคฝ่ายรัฐบาลระดับหนึ่งในการเรื่องการดึงตัวส.ส.-การคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้ง

เพราะพรรครัฐบาลอย่าง “พลังประชารัฐ” ตอนนี้ ข่าวว่าหลายจังหวัดก็ยังหาตัวดีๆ ไปสู้กับ “พรรคคู่แข่ง” ไปเก็บคะแนนให้พรรคไม่ค่อยได้ โดยเฉพาะอีสาน-เหนือ หรือแม้แต่ในกรุงเทพมหานคร ที่ “บางเขต” หาตัวยังไม่ได้ไม่พอ แต่ข่าวว่าส.ส.เขต กทม.ที่มีอยู่ ก็มีข่าวว่ามีประมาณ 3-4 คน ก็กำลังจะย้ายพรรค ดังนั้นการทำให้เหลือเวลาสังกัดพรรคแค่ 30 วันจึงง่ายกว่า หากใช้วิธีทุ่มดึงตัวส.ส.-อดีตส.ส.-ผู้สมัครเบอร์แข็งๆ ให้ย้ายเข้าพรรคในช่วงโค้งสุดท้าย ด้วยการให้ข้อเสนอที่ดีกว่าพรรคอื่น ซึ่งการเป็นพรรครัฐบาล จะมีข้อได้เปรียบตรงนี้มากกว่าพรรคที่ไม่เป็นรัฐบาลอยู่แล้ว

จึงทำให้แวดวงการเมือง แม้แต่กับคนในฝ่ายพรรครัฐบาลเชื่อว่า น่าจะมีการยุบสภาฯเกิดขึ้นแน่นอน เพียงแต่จะยุบช่วงไหนเท่านั้น จะยุบตอนช่วงเกือบๆ สภาฯหมดสมัย ปลายๆ เดือนก.พ.ปีหน้าเลย หรือจะยุบ ม.ค.2566  

ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าว จะตั้งอยู่บนจุดที่ว่ารัฐบาลประเมินแล้วว่า การยุบสภาฯและจัดเลือกตั้งในช่วงที่วางไว้ เป็นช่วงที่กระแสรัฐบาลกำลังดี และรัฐบาลจัดเตรียมสรรพกำลังต่างๆ ไว้พร้อมแล้วสำหรับการลงเข้าสู่สนามเลือกตั้ง

แต่ในเส้นทางการเมืองของรัฐบาลก่อนจะไปถึงจุดนั้น ก็ให้จับตากันว่า หลังจากนี้ ทางสองแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลคือ “อนุทิน ชาญวีรกูล-เนวิน ชิดชอบ-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” จากพรรคภูมิใจไทย และ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์-เฉลิมชัย ศรีอ่อน” จากพรรคประชาธิปัตย์ จะพูดคุยกับ “พล.อ.ประยุทธ์” และ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ผู้จัดการรัฐบาล เพื่อให้มีการปรับคณะรัฐมนตรีหรือไม่ หลังมีตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรคว่างลง เมื่อ “นิพนธ์ บุญญามณี” ลาออกจากรมช.มหาดไทย

ส่วน “กนกวรรณ วิลาวัลย์” รมช.ศึกษาธิการ ก็มีแต่ตำแหน่ง แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะถูกศาลฎีกาสั่งหยุดพักปฏิบัติหน้าที่ กรณีคดีฝ่าฝืนจริยธรรมฯจากเรื่องคดีออกเอกสารสิทธิ์ฯ ที่กว่าคดีจะจบ เร็วสุดก็กลางปีหน้า ตัว “กนกวรรณ” เองก็คงรู้ตัวดีว่า การกอดเก้าอี้ไว้แบบนี้ โดยไม่ยอมให้พรรคปรับครม. ไม่เป็นผลดีกับภูมิใจไทยแน่นอน

ดังนั้น เท่ากับตอนนี้ เก้าอี้รัฐมนตรีว่างอยู่ 4 ตำแหน่ง คือ รมช.มหาดไทย-รมช.ศึกษาธิการ และโควต้าเดิมของพลังประชารัฐ หลังพล.อ.ประยุทธ์ ปลด “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” และ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ออกจากครม.ตั้งแต่ก.ย.ปีที่แล้ว ทำให้เก้าอี้รัฐมนตรีว่างไปเปล่าๆ ปีเศษ

@chakthipchaijinda.official

แต่รอบนี้ ที่จะใกล้เลือกตั้งแล้ว ยังไง “บิ๊กป้อม” คงไม่ยอมให้โควต้ารัฐมนตรีเสียไปแบบนี้ เพราะเป็นการเสียของเปล่าๆ เพราะในพลังประชารัฐ ก็มีหลายกลุ่มยังไม่เคยได้โควต้ารัฐมนตรีเลย เช่น กลุ่มปากน้ำ สมุทรปราการ ที่มีกระแสข่าวว่ากำลังถูกภูมิใจไทยจ้องดูดอยู่ หรือกลุ่มส.ส.ภาคใต้ ที่มีส.ส.ร่วม 14 คน แต่ก็ไม่มีโควต้ารัฐมนตรี

รวมถึงคนที่มาช่วยงานพรรค ทั้งแบบเปิดตัวและไม่เปิดตัว อย่าง “พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา” อดีตผบ.ตร. ซึ่งมาช่วยงาน “บิ๊กป้อม” ดูแลพื้นที่อีสานใต้ ให้พลังประชารัฐ ซึ่งตั้งแต่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา สามารถรับตำแหน่งทางการเมือง เพราะปลดล็อกเรื่องสองปีหลังพ้นจากการเป็นสว.มาแล้ว เป็นต้น

ทำให้ในทางการเมือง เชื่อว่า ยังไงมีโอกาสสูงที่จะมีการปรับครม.รอบสุดท้ายเกิดขึ้น ที่อาจจะปรับก่อนประชุมเอเปค ก็เป็นได้

เพราะอย่างในประชาธิปัตย์เอง “จุรินทร์-เฉลิมชัย” ไม่ยอมปล่อยให้โควต้ารัฐมนตรีว่างลงไปเรื่อยๆ แน่นอน ยิ่งเก้าอี้ “รมช.มหาดไทย” เดิมของ “นิพนธ์” ถือว่ามีความสำคัญในทางการเมือง และหลายกลุ่มในประชาธิปัตย์ ก็จ้องรอจะเป็นรัฐมนตรีอยู่ เพียงแต่รอสัญญาณจากทางพรรคเท่านั้นว่า จะปรับเมื่อใด ซึ่งทันทีที่มีสัญญาณ รับรองในประชาธิปัตย์ ฝุ่นตลบแน่นอน

เพราะมีข่าวว่า บางกลุ่มในประชาธิปัตย์ ก็ไม่เห็นด้วยหากจะปรับครม.หาคนมาแทน “นิพนธ์” โดยอ้างเป็นโควต้าภาคใต้ เพราะมองว่าควรเขย่ากันใหม่ เพราะเป็นช่วงเตรียมใกล้เลือกตั้ง น่าจะหาคนที่มีบทบาทในพรรคที่ดูแลการเลือกตั้งในพื้นที่ต่าง ๆเข้าไปเป็นรัฐมนตรีน่าจะดีกว่า แต่แนวคิดดังกล่าว ข่าวว่ากลุ่มภาคใต้ก็ไม่ยอม โดยยืนกรานว่า เก้าอี้รมช.มหาดไทย ต้องเป็นของภาคใต้ ถึงขั้นมีกระแสข่าวว่า มีบางคนในพรรคบอกว่า เป็นของภาคใต้ไม่พอ แต่ต้องเป็นโควต้าสงขลาด้วย

ทำเอาหลายคนในประชาธิปัตย์บอกตรงกัน ปรับครม.เมื่อใด ประชาธิปัตย์ฝุ่นตลบแน่นอน เผลอๆ อาจมีคนในพรรคเคลื่อนไหวเห็นว่า ปรับครม.ทั้งที ก็ควรเขย่าไปเลยหลายตำแหน่ง ไม่ใช่ปรับแค่ตำแหน่งเดียว เรียกได้ว่า เห็นสัญญาณพรรคประชาธิปัตย์ ส่อวงแตกมาแต่ไกล!

การเมืองหลัง พล.อ.ประยุทธ์รอดคดีศาลรัฐธรรมนูญ จึงเห็น 3 จังหวะใหญ่ๆ รออยู่ สำหรับบิ๊กตู่ นั่นก็คือ

-การเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค

-การปรับครม.

-การเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นรัฐบาลรักษาการในช่วงการเลือกตั้งใหญ่ปีหน้า”

โดยก็ไม่แน่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ที่เหลือเทอมการเป็นนายกฯอีกแค่สองปี หากมีการเลือกตั้งปี 2566 หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การนับการเป็นรัฐมนตรีต้องนับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อ เม.ย.2560 ทำให้ต้องดูว่า แล้วพล.อ.ประยุทธ์เลือกที่จะตัดสินใจอย่างไร

จะลงเป็นแคนดิเดตนายกฯ ต่อในนามพลังประชารัฐ หรือ จะไปพรรคอื่นอย่างรวมไทยสร้างชาติ

หรือสุดท้าย จะวางมือ ไม่ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อตัวเองเป็นแคนดิเดตนายกฯ ตอนเลือกตั้ง

ทั้งหมดอยู่ที่การตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์แล้วว่าจะเลือกแบบไหน ?

………………………………..

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img