วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“เพื่อไทย VS ก้าวไกล” รอ....“ทุบโต๊ะ” จบศึก….แย่งชิงเก้าอี้“ประธานสภาฯ”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เพื่อไทย VS ก้าวไกล” รอ….“ทุบโต๊ะ” จบศึก….แย่งชิงเก้าอี้“ประธานสภาฯ”

ยิ่งใกล้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดแรกเข้ามาเมื่อไหร่ “พรรคก้าวไกล” กับ “พรรคเพื่อไทย” ก็ต้องเร่งหาทางออก จบปัญหา “ชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ” ให้จบโดยเร็ว หลังยืดเยื้อมานาน

โดยข่าวบางกระแสบอกว่า อาจจะมีการเปิดประชุมสภาฯนัดแรก ที่จะมีวาระสำคัญคือ การโหวตเลือกประธานสภาฯ  ในวันที่ 4 ก.ค. ที่หากเป็นไปตามนี้ ก็เท่ากับว่าเร็วกว่ากำหนด ที่เดิมคาดหมายกันว่า น่าจะเป็นพฤหัสบดีที่ 6 ก.ค.

อย่างไรก็ตาม กำหนดนัดประชุมสภาฯนัดแรก ก็อาจจะขยับให้เร็วขึ้นหรือช้ากว่า 4 ก.ค.ก็ย่อมได้ แต่ดูแล้วก็น่าจะเกิดขึ้นในช่วงไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนก.ค.

เมื่อเป็นแบบนี้ จึงทำให้ “แกนนำ” ที่เป็น คณะกรรมการเจรจาการจัดตั้งรัฐบาล ของ “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” ต้องไปหารือกันให้ชัดในเรื่อง “เก้าอี้ประธานสภาฯ” โดยให้จบภายในสัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้

ซึ่งก็มีการเปิดเผยออกมาแล้วว่า ทีมเจรจาจัดตั้งรัฐบาลของแกนนำเพื่อไทยกับก้าวไกล จะนัดคุยกันเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ วันที่ 28 มิ.ย.นี้ ที่พรรคเพื่อไทย

ที่ก็คาดว่าถ้านัดหมายประชุมสภาฯชัดเจนแล้วว่าจะเป็นช่วง 4 ก.ค. ก็น่าจะทำให้ทั้งสองพรรค ต้องคุยให้จบภายในวันนั้นแล้ว หรืออย่างช้าสุดๆ คงไม่เกิน 3 ก.ค.

ประเสริฐ จันทรรวงทอง

ที่น่าสนใจก็คือ ก่อนที่จะมีการประชุมกันสองพรรคดังกล่าว ปรากฏว่า “เพื่อไทย” นัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ก่อนหน้านั้นหนึ่งวันคือ วันที่ 27 มิ.ย. ซึ่ง “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทยออกมาเปิดเผยว่า จะมีการนำความเห็นของส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่สะท้อนผ่านงานสัมมนาส.ส.พรรคเพื่อไทยเมื่อ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ เห็นว่า พรรคเพื่อไทยควรได้เก้าอี้ประธานสภาฯ ไม่ควรให้โควตากับพรรคก้าวไกล

หากเป็นไปตามนี้ เท่ากับว่า วงประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย จะนำความเห็นส่วนใหญ่ของส.ส.เพื่อไทยดังกล่าว มาหารือกัน

ถ้ากรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ควรให้พรรคก้าวไกลได้ประธานสภาฯ แบบนี้กรรมการบริหารพรรค ก็ต้องไปเคลียร์กับส.ส.เพื่อไทยกันอีกที ว่าจะเอาอย่างไร ???

แต่หากเสียงส่วนใหญ่ในกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ยืนยันและมีมติว่า ให้เอาตามความเห็นของส.ส.ในพรรค คือประธานสภาฯ ต้องเป็นของเพื่อไทย

ถ้าออกมาแบบนี้ เท่ากับเพื่อไทยจะมีทั้งความเห็นส.ส.ของพรรค ที่ส่วนใหญ่บอกออกมาแล้วว่า ประธานสภาฯต้องเป็นของเพื่อไทย กับมติกรรมการบริหารพรรคที่เอาด้วยกับส.ส.คือ เพื่อไทยต้องได้ประธานสภาฯ

หากเพื่อไทยเดินแนวนี้ ทีมเจรจาของเพื่อไทยก็ต้องเอาทั้งสองความเห็นดังกล่าว ไปบอกและยื่นโนติส กับก้าวไกลว่า นี่คือความเห็นของส.ส.และกรรมการบริหารพรรค ที่ เพื่อไทยต้องได้ประธานสภาฯ

เมื่อออกมาแบบนี้ เท่ากับเป็นการเพิ่มแรงบีบ “ก้าวไกล” ให้หนักขึ้นกว่าเดิมอีก

เพราะก่อนหน้านี้ที่คุยกัน ทีมเจรจาตั้งรัฐบาลของเพื่อไทย ที่มี “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค-ประเสริฐ เลขาธิการพรรค-ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค” ไปคุยกับก้าวไกลหลายรอบ แต่ไม่ลงตัว

ขนาดยังไม่มีความเห็นส.ส.-ไม่มีความเห็นกรรมการบริหารพรรค ก็กดดันก้าวไกลหนักพออยู่แล้ว แต่เมื่อก้าวไกลยืนกรานว่าประธานสภาฯต้องเป็นของก้าวไกล พร้อมกับยื่นเงื่อนไขการได้กระทรวงดีๆ เพิ่มขึ้นให้กับเพื่อไทย เป็นโควต้ารัฐมนตรี พ่วงกับการให้รองประธานสภาฯสองเก้าอี้กับเพื่อไทย จนทีมเจรจาของเพื่อไทยยอม

ผนวกกับ แกนนำเพื่อไทยส่วนใหญ่ก็เชื่อตรงกันว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล คงฝ่าด่านสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ไปไม่ได้ เพราะได้เสียงไม่ถึง 376 เสียง ไม่สามารถขึ้นเป็นนายกฯได้ และทำให้ เพื่อไทยจะพลิกมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน แล้วเสนอชื่อแคนดิเดตของเพื่อไทยขึ้นแทน

โดยเพื่อไทยก็เชื่อว่า หากเป็น “เศรษฐา ทวีสิน” ยังไงแรงต้านจากสว.จะน้อยกว่า “พิธา” เพราะเพื่อไทยไม่ได้มีนโยบายแก้ 112 อยู่แล้ว อีกทั้งแกนนำเพื่อไทยหลายคน ก็สามารถไปเชื่อมกับสว.ได้จำนวนหนึ่ง เพื่อไปขอเสียงมาหนุนคนของเพื่อไทยเป็นนายกฯ ซึ่งผิดกับก้าวไกล ที่สว.จำนวนมาก ตั้งป้อมไม่เอาพรรคก้าวไกล พร้อมชนอยู่แล้ว

อีกทั้ง เพื่อไทยก็อาจไปดึงพรรคอื่นๆ มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลอีกเพื่อทำให้เสียงแน่นขึ้น และลดการพึ่งเสียงสว.ด้วย “การจะให้” เก้าอี้ประธานสภาฯ และก้าวไกลก็น่าจะพอใจ ที่ยังไงประธานสภาฯก็เป็นของก้าวไกล

แต่หากก้าวไกลไม่พอใจ ถ้าเพื่อไทยไปดึงบางพรรคมาร่วมตั้งรัฐบาล เช่น พลังประชารัฐ-ชาติไทยพัฒนา ซึ่งขัดกับหลักของก้าวไกล ทางก้าวไกลก็อาจต้องไปเป็นฝ่ายค้าน ถ้าออกมาแบบนี้ ถึงประธานสภาฯมาจากก้าวไกล ทางเพื่อไทยก็ไม่ติดใจอะไร ถือว่าเป็นการ “ซื้อใจ” กันทางการเมือง ที่มาร่วมจับมือตั้งรัฐบาลกันร่วมเดือนกว่า

มันจึงเป็นที่มาของการที่ เพื่อไทยตอนแรก “ยอมถอย” ให้ก้าวไกล ด้วยการจะให้ประธานสภาฯกับพรรคส้ม จนก้าวไกลยังงง เป็นไก่ตาแตก ที่เพื่อไทยถอยให้

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเรื่องนี้ เกมมันมาพลิก-ไม่จบง่ายๆ เพราะเมื่อเสียงส่วนใหญ่ในเพื่อไทย ยืนกรานว่า เก้าอี้ประธานสภาฯต้องเป็นของเพื่อไทย การเจรจาแบบ “ซ่อนเหลี่ยม-ซื้อใจ” ของแกนนำเพื่อไทย ที่เล่นหลายชั้นกับก้าวไกล ก็เลย “สะดุด” จนสุดท้ายแกนนำเพื่อไทยกับก้าวไกล ต้องมานัดคุยกันใหม่ 28 มิ.ย.นี้

และจากนั้น วันรุ่งขึ้นคือ 29 มิ.ย. แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ได้นัดประชุมกัน ซึ่งเลื่อนมาจากเดิมนัด 26 มิ.ย. ที่เลื่อนมาสามครั้งแล้ว ถ้ารอบนี้ไม่เลื่อนอีก ก็คาดว่า ถ้าผลการเจรจาระหว่างก้าวไกลกับเพื่อไทย เรื่องประธานสภาฯ จะจบได้ในวันที่ 28 มิ.ย. แกนนำทั้งสองพรรคก็คงนำเรื่องนี้ไปพูดคุยกันในวงประชุมแกนนำ 8 พรรค วันที่ 29 มิ.ย.นี้ต่อไป

ส่วนแกนนำพรรคอื่นๆ ใน 8 พรรคร่วม โดยเฉพาะพรรคที่ได้ลุ้นโควต้ารัฐมนตรีคือ “ประชาชาติ-ไทยสร้างไทย” ย่อมอยากให้ “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” เจรจากันได้ เพื่อที่การจัตดั้งรัฐบาลจะได้ราบรื่น พรรคของตนเองจะได้เข้าไปเป็นรัฐบาล ได้โควตารัฐมนตรี

ปมปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องดูว่า “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” จะเอาอย่างไร ?

โดยหากทั้งสองพรรคไม่ยอมถอยให้กัน จนสุดท้ายคุยกันไม่ลงตัว “วงแตก” ถึงขั้นส่งคนลงแข่งชิงประธานสภาฯ กันเอง โดยเพื่อไทยใช้วิธี “ฟรีโหวต” ไม่มีมติพรรคให้ส.ส.เพื่อไทยต้องโหวตสนับสนุนคนของก้าวไกล โดยอ้างเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส.ในการเลือกประธานสภาฯ

ถ้าออกมาแบบนี้ “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” คงมองหน้ากันไม่ติด การเจรจาตั้งรัฐบาลคงมีปัญหาแน่นอน

เพราะแค่ตำแหน่งแรกทางการเมือง ก็ฟัดกันหนักขนาดนี้แล้ว!!!

แบบนี้ในอนาคต ถึงต่อให้ “พิธา” พลิกล็อก ได้เสียงโหวตเป็นนายกฯ แล้วตั้งรัฐบาลร่วมกัน มันก็จะเป็นรัฐบาล ที่อาจมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพตามมา เพราะต้องไม่ลืมว่า ในทางการเมือง เพื่อไทยย่อมไม่อยากให้ก้าวไกล มีผลงานและโตไปมากกว่านี้ เพราะหากก้าวไกลโต ก็หมายถึง เพื่อไทยก็จะเล็กลง ดังนั้นการเป็นรัฐบาลร่วมกัน เพื่อไทยก็ต้องหาจังหวะ “เจาะยาง” ก้าวไกล…ถ้าสบโอกาส

หรือหาก “พิธา” ไม่ได้เป็นนายกฯ แล้วก้าวไกลหลบให้เพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน แต่เมื่อแค่เก้าอี้แรก ประธานสภาฯยังยอมให้กันไม่ได้แบบนี้ ต่อให้จับมือตั้งรัฐบาลกันอีก มันก็คงมีปัญหาเกิดขึ้นกลางทาง ตลอดเวลา แนวโน้ม อาจจะเป็นรัฐบาลที่ลุ่มๆ ดอนๆ ไปไม่ตลอดรอดฝั่ง

ดังนั้น ปัญหาการแย่งชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ ระหว่าง “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” ที่ยืดเยื้อ จบไม่ลงเสียที ยิ่งตอนนี้ เมื่อสภาฯใกล้เปิดแล้ว คงปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไปอีกไม่ได้แล้ว

การเจรจาระหว่าง “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” ปลายเดือนนี้ จึงถึงเวลาที่ต้อง “ทุบโต๊ะ” กันเสียที!

…………………………………..

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img