การเล่นสนุกกับเด็กเป็นของคู่กัน พ่อแม่หลายคนอาจนิยมเลือกหาของเล่นเสริมพัฒนาการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ให้ลูกเล่น แต่สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ส่วนใหญ่มักมองข้ามคือ การตอบโต้และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างที่ลูกกำลังเล่น ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตในวัย 0-6 ปี โดย พรูเด็นเชียล ประเทศไทย พรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชัน และ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงร่วมมือกันสร้างความตระหนักรู้ให้สังคม ผ่านกิจกรรม “เลี้ยงถูก ลูกดี” เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กได้ใช้เวลาเล่นสนุกและเติมเต็มความรู้ในการเลี้ยงดูลูกให้กับพ่อแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน “การดูแลแบบตอบสนอง” หรือ Responsive Caregiving ที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างเหมาะสมและมีพัฒนาการที่สมวัย พร้อมเผยเทคนิคการเล่น “ส่ง-รับ” กับลูกใน 5 ขั้นตอน
เพราะการเล่นในวัย 0-6 ปีสำคัญกว่าที่คิด
การเล่นของเด็กคือการเรียนรู้ในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการทางสมองในช่วง 6 ปีแรก เนื่องจากกิจกรรมและประสบการณ์ที่เด็กได้ลงมือทำ จะกระตุ้นกระบวนการทำงานของเซลล์สมองให้เชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ และนำไปสู่พัฒนาการด้านความคิดเชิงเหตุผลที่ช่วยให้เด็ก ๆ สามารถคิดอย่างมีวิจารณญาณ แก้ปัญหาได้ และตัดสินใจเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความท้าทายในชีวิตที่จะต้องเผชิญเมื่อเด็กโตขึ้น
5 ขั้นตอน เทคนิคการ “เสิร์ฟและโต้กลับ”
การ “เสิร์ฟและโต้กลับ” หรือ Serve & Return Technics เป็นเทคนิคการสร้างปฏิสัมพันธ์และการตอบสนองระหว่างเด็กกับพ่อแม่ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แค่ 15 นาที ก็กลายเป็นช่วงเวลาที่มีคุณภาพ
1.มีส่วนร่วมในสิ่งที่เด็กสนใจ (Share the Focus) พ่อแม่ต้องคอยสังเกตว่าลูกสนใจอะไรอยู่ โดยการหมั่นสังเกตความสนใจของลูกจากท่าทางหรือสีหน้า เช่น ลูกน้อยอาจจะมองหรือชี้ไปที่บางสิ่ง ส่งเสียงหรือแสดงทางสีหน้า รวมทั้งการขยับแขนและขา นี่คือการที่ลูก “เสิร์ฟ” สิ่งที่เขาสนใจมาให้เรา เราก็ต้องหันมาสนใจในสิ่งเดียวกัน
2.สนับสนุนและให้กำลังใจลูก (Supporting and Encourage) เมื่อลูกสนใจสิ่งไหน หรือ “เสิร์ฟ” มาให้พ่อแม่ เราสามารถ ”ตอบโต้” กลับไปได้โดยคอยอยู่เป็นคนสนับสนุนทั้งทางอารมณ์และทางร่างกาย ผ่านทั้งคำพูดและการกระทำ เช่น การยิ้มและพยักหน้าเพื่อแสดงให้รู้ว่าพ่อแม่กำลังสนใจสิ่งเดียวกับเขาอยู่ การชวนคุย ซักถาม หรือเล่นกลับไป หรือชมเชยว่าเมื่อทำได้ การทำแบบนี้จะทำให้เด็กรู้สึกว่ามีคนเข้าใจและสนับสนุน
3.ตั้งชื่อ หรือบอกคำศัพท์ต่าง ๆ ขณะเล่นกับลูก (Give it a name) ในขณะที่เล่นกับลูก ให้พูดแนะนำคำศัพท์ใหม่ๆ โดยเรียกชื่อสิ่งของนั้นๆ หรือบอกชื่อกิจกรรมที่ลูกกำลังทำ เช่น ระหว่างที่ลูกเล่นกับรถของเล่น ก็บอกว่า “นี่รถนะ มีล้อด้วย” หรือหยิบสีเทียนสีเขียวมาระบาย ก็บอกว่า “สีเขียว” ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถเชื่อมโยงคำศัพท์กับสิ่งของหรือประสบการณ์จากการเล่นได้ และยังช่วยเพิ่มคลังคำศัพท์ได้อีกด้วย
4.สลับกันทำและรอการตอบกลับ (Take turns…and wait) เวลาเล่นด้วยกัน พ่อแม่ต้องรอให้ลูกเป็นฝ่าย “โต้กลับ” ด้วย นั่นคือพ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกคิดและบอกสิ่งที่ตัวเองต้องการ หรือเป็นฝ่ายนำหรือสลับบทบาทกันเล่น เพื่อฝึกฝนพัฒนาความคิด และการตัดสินใจ
5.สังเกตการจบกิจกรรมหนึ่งและเริ่มอีกกิจกรรมหนึ่ง (Practice endings and beginning) พ่อแม่ควรสังเกตสัญญาณของลูกว่า เขาต้องการจบกิจกรรมหนึ่งและหันไปสนใจสิ่งอื่น เช่น การปล่อยของเล่นแล้วหยิบชิ้นใหม่ การหันไปดูอย่างอื่น หรือเดินไปที่อื่นแล้วส่งเสียง โดยพ่อแม่สามารถชักชวนให้ลูกจบกิจกรรมด้วยกัน เช่น เอาชองเล่นชิ้นนั้นไปเก็บ และ พร้อมร่วมแบ่งปันความสนใจต่อสิ่งใหม่ด้วยกันอีกครั้งในข้อที่ 1
สรุปได้ว่า การเล่นกับลูกด้วยเทคนิค “ส่ง-รับ” เพียงวันละเล็กน้อย จะช่วยทำให้ช่วงเวลาในแต่ละวันของครอบครัวเป็นเรื่องสนุกและกลายเป็นธรรมชาติมากขึ้น พร้อมสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ที่ดีให้ลูกทั้งในวันนี้และตลอดชีวิต