วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
หน้าแรกHighlightสรรพสามิตจ่อรีด“ภาษี Carbon Tax” หวังลดมลพิษทางอากาศ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

สรรพสามิตจ่อรีด“ภาษี Carbon Tax” หวังลดมลพิษทางอากาศ

กรมสรรพสามิตจ่อเก็บภาษีปล่อยก๊าซคาร์บอน จากภาคพลังงาน-ขนส่ง-อุตสาหกรรม หลังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงทำลายสิ่งแวดล้อม ระบุหากไทยไม่ทำเจอต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบแพง

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในประเทศไทย ส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงาน 35% เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าของไทยยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าชธรรมชาติ ถ่านหิน ทำให้มีอัตราการปล่อย CO2 สูงที่สุด รองลงมาคือภาคขนส่งทั้งระบบอย่างรถยนต์ รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ มีสัดส่วน 32% ภาคอุตสาหกรรมสัดส่วน 27% และภาคครัวเรือน 6%

สำหรับการแก้ปัญหาระยะสั้นถึงระยะยาว จำเป็นต้องใช้มาตรการจัดเก็บภาษีการปล่อยคาร์บอน หรือ carbon tax ซึ่งจะทำให้ก๊าซ CO2 ลดลงถึง 30% โดยบริษัทไหนปล่อยมากก็ต้องจ่ายมาก และหากมาตรการเก็บภาษีดังกล่าวออกมา จะกดดันให้ทุกภาคส่วนปรับตัว และหันไปใช้พลังงานสะอาด ที่เป็นพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2606 จึงจะเป็นความจริง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาในต่างประเทศหลายประเทศได้เริ่มนำระบบ carbon tax มาใช้กันแล้ว เช่น จีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป กำลังเร่งศึกษาแนวทางให้เสร็จเร็วที่สุด ในส่วนของไทยคาดว่าจะศึกษาเสร็จภายในสิ้นปี 2566 นี้ โดยมาตรการดังกล่าวถือว่าเป็นการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่ง ซึ่งหากไทยไม่ทำ ไทยจะเจอต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบแพงขึ้น เนื่องจากฝั่งคู่ค้าได้ถูกเก็บภาษีก่อนการส่งออกที่ประเทศต้นทางมาแล้ว และทั่วโลกจะหนีไม่พ้นการถูกกดดันให้ลดการปล่อย CO2 เช่น ยุโรปได้ใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ซึ่งจะเริ่มใช้ในเดือนตุลาคม 2566 ในสินค้า 7 รายการ

นอกจากนี้นับจากปี 2569 เป็นต้นไป ภายในวันที่ 31 พ.ค.ของทุกปี ในมาตรการ CBAM กำหนดให้เอกชนต้องรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อย CO2 ด้วยว่าปล่อยไปเท่าไร หากภาคส่วนใดไม่รายงาน จะถูกเก็บภาษีที่สูงกว่าปกติ จากอดีต 60 เหรียญต่อตันคาร์บอน ปัจจุบันได้ขยับขึ้นมาเป็น 92 เหรียญต่อตันคาร์บอน ดังนั้นไทยต้องเตรียมความพร้อม ด้วยการเริ่มนับ 1 ซึ่งไทยกำลังมุ่งสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เร่งเพิ่มสัดส่วนใช้พลังงานหมุนเวียน และการเก็บ carbon tax

นางรสริน อมรพิทักษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนามาตรการและกลไก กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า ควรกำหนดเรื่องของ Carbon Tax การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ไว้ใน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขา ซึ่งแต่ละภาคส่วน อุตสาหกรรม องค์กร จะต้องกำหนดเป้าหมายการปล่อย CO2 กำหนดโครงการ เพื่อไปเสนอในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ครั้งที่ 28 ที่จะจัดในต้นเดือน ธ.ค. 2566 ที่ดูไบ

นอกจากนี้ สผ.ยังเร่งศึกษาเทคโนโลยีการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (CCUS) และส่วนที่ได้ดำเนินการไปแล้วคือการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในส่วนของรถโดยสารไฟฟ้า (EV Bus) กับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงการดำเนินการในส่วนของการตั้ง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ภายใน เม.ย. 2566 นี้ ให้มีบทบาทบริหารจัดการงานและงบประมาณได้มากขึ้น แนวทางดังกล่าวเพื่อที่ไทยจะลดการปล่อย CO2 ได้จริง

นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะนายกสมาคมพลังงานหมุนเวียน (RE100) กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องศึกษาแนวทางทั้งหมดที่ภาครัฐกำลังจะกำหนดขึ้น เพื่อ เตรียมตัวปรับเปลี่ยนองค์กรใช้พลังงานหมุนเวียน เพราะหากเอกชนไม่ทำจะถูกเก็บภาษีจากการปล่อย CO2 ซึ่งจะเป็นต้นทุนกับภาคการผลิตเพิ่มขึ้นอีก และจะถูกกดดันด้วยการกีดกันทางการค้า ดังนั้น เอกชนต้องเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่นี้ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเดินต่อไปได้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img