วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
หน้าแรกHighlightเงินบาท“อ่อนค่า” จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เงินบาท“อ่อนค่า” จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.34 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าลง”หลังดอลลาร์แข็งบอนด์ยีลด์พุ่ง จับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ แยะป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.34 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.12 บาทต่อดอลลาร์ (ณ 17.00 น. ของวันที่ 28 ธันวาคม 2566) โดยนับตั้งแต่ช่วงวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในกรอบ 34.09-34.47 บาทต่อดอลลาร์) ตามทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมทองคำ โดยมีจังหวะเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงเกือบทดสอบโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ส่วนราคาทองคำก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเข้าใกล้โซนแนวรับในระยะสั้น นอกจากนี้ ปริมาณธุรกรรมในตลาดที่เบาบางลงในช่วงวันหยุดของตลาดการเงินไทย ก็มีส่วนทำให้เงินบาทผันผวนในกรอบที่กว้างพอสมควรดังกล่าว

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับแข็งค่าสุดในรอบ 5 เดือน ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งสหรัฐฯ อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) และรอจับตา รายงานการประชุมเฟดล่าสุด

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้ง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings), ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด หรือ ยังสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่สดใส ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยเฟดลง (ล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลง 7 ครั้ง หรือ ราว -175bps ในปีนี้) ซึ่งอาจส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นได้ไม่ยาก และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางดอกเบี้ยเฟด ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดย ISM (Manufacturing & Services PMIs) ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างประเมินว่า ดัชนี ISM PMI เดือนธันวาคม อาจยังคงสะท้อนภาพการขยายตัวต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการบริการ (ดัชนีสูงกว่าระดับ 50 จุด) ขณะที่ภาคการผลิตของสหรัฐฯ อาจยังอยู่ในภาวะหดตัวได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตารายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) เพื่อประเมินความเป็นไปได้ของการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ โดยผู้เล่นในตลาดอาจทยอยปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟดได้ หากรายงานการประชุมเฟด ยังคงสะท้อนแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงของเฟด (Higher for Longer) จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่า สามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ

▪ ฝั่งยุโรป – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนธันวาคม โดยหากอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ชะลอตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.40% ตามคาด หรือ ต่ำกว่า ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างยังคงคาดหวังว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงในปีนี้ ทั้งนี้ มุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดอาจกดดันไม่ให้เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดอาจเริ่มปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟด

▪ ฝั่งไทย – เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนธันวาคม อาจชะลอลงต่อเนื่องสู่ระดับ -0.5% ตามการปรับตัวลดลงของราคาพลังงานและระดับฐานราคาสินค้ารวมถึงบริการที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็อาจยังคงแกว่งตัวที่ระดับ 0.60% ทำให้อัตราเงินเฟ้อ “ติดลบ” ดังกล่าว จะยังไม่สร้างความกังวลให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเราคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะทยอยปรับตัวสูงขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นในปีนี้ ทำให้ ธปท. สามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% ได้ตลอดทั้งปี แม้ว่า บรรดาธนาคารกลางอื่นๆ อาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงก็ตาม

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าจากสัปดาห์ก่อนอาจชะลอลงและเงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ หากผู้เล่นในตลาดต่างปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยเฟด นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำซึ่งอาจปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หากตลาดกลับมามองว่า เฟดอาจไม่ได้ลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ตามคาด ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็อาจเป็นการขายสุทธิ หลังดัชนี SET ได้ปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้าน และบอนด์ยีลด์ไทยก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไร

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้น หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อาทิ ยอดการจ้างงานฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด และยังคงสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจต้องปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟดลง

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.00-34.60 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.15-34.40 บาท/ดอลลาร์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img