วันจันทร์, เมษายน 29, 2024
หน้าแรกHighlight“กฟผ.”เสนอปรับ“ค่าเอฟที”ปีละ 1 ครั้ง ลดความผันผวนของต้นทุนราคาสินค้า
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“กฟผ.”เสนอปรับ“ค่าเอฟที”ปีละ 1 ครั้ง ลดความผันผวนของต้นทุนราคาสินค้า

“เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ประเดิมงานแรกเสนอประกาศค่าเอฟทีปีละครั้ง แทน 3 ครั้งต่อปี ลดความผันผวนของต้นทุนราคาสินค้า พร้อมลุยภารกิจสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 20 มี.ค.67 นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แถลงข่าวอย่างเป็นทางการถึงทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการบริหารงานหลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 โดยประเดิมงานแรกกับแนวคิด ค่าไฟฟ้า “ต่ำ นิ่ง นาน” โดยเสนอให้คำนวณ และประกาศไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ปีละ 1 ครั้ง จากปัจจุบันประกาศอัตราทุก 4 เดือน ส่วนต้นทุนขึ้นลงที่เกิดขึ้นให้มาหักลบเฉลี่ยในระหว่างปี ทั้งนี้เพราะไฟฟ้าเป็นต้นทุนพื้นฐานของทุกอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไม่ต้องการให้ต้นทุนเปลี่ยนแปลงขึ้นลงบ่อยๆ เพราะมีผลต่อการคิดราคาสินค้า และอะไรที่ไม่แน่นอนก็คือความแพง เมื่อค่าไฟเพิ่มขึ้นไปแล้ว มีผลต่อราคาสินค้าไปแล้ว งวดต่อมาราคาค่าไฟลดลง ก็ไม่ได้ทำให้สินค้าลดลงแต่อย่างใด จึงคิดว่าการประกาศค่าเอฟทีไม่ควรทำบ่อยเกินไป อย่างไรก็ตามการประกาศค่าไฟฟ้าแต่ละงวดไม่ได้เป็นภารกิจของกฟผ.แต่เป็นภารกิจของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

สำหรับกรณีที่ฝ่ายนโยบายให้แยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) ออกจากกฟผ.นั้น ในฐานะหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานต้องดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ แต่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของระบบ และการดำเนินงานของศูนย์ฯมีความโปร่งใสตรวจสอบได้อยู่แล้ว ทุกคนสามารถเข้าไปดูได้ว่าแต่ละโรงไฟฟ้าเดินอย่างไรและส่งไปไหน และศูนย์มีภารกิจสำคัญที่ต้องพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยีให้ทันสมัย ตลอดเวลา พร้อมรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน สามารถควบคุมสั่งการระบบผลิต ระบบส่ง ให้ตอบสนองความผันผวนและเหตุสุดวิสัยแบบอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทางด้านภาระของกฟผ.จากการแบกค่าเอฟทีเป็นเงินอยู่ที่ 9.9 หมื่นล้านบาทนั้น ตามมติของกกพ.ให้ทยอยคืนกฟผ.จำนวน 7 งวดเอฟทีภายในปี 2569-2570 อย่างไรก็ตามขณะนี้ในส่วนของนโยบายนอกจากล็อกค่าไฟแล้วยังให้ล็อคค่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติด้วยทำให้สภาพคล่องของกฟผ.คลี่คลายบางส่วน สำหรับการลงทุนของกฟผ.ในปีนี้อยู่ที่ 30,000-40,000 ล้านบาท เพื่อใช่ในการปรับปรุงระบบส่ง ลงทุนโซลาร์ลอยน้ำ และงบลงทุนค้างจ่าย

กฟผ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจแทนรัฐ จำเป็นต้องมีกำไรเพื่อให้เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ สำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศและรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศ โดยควบคุมผลตอบแทนการลงทุน (Return of Invested Capital : ROIC) ของ กฟผ. ให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการและการลงทุนพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคง

สำหรับภารกิจสำคัญที่จะเดินหน้า คือ การรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า ซึ่งต้องยอมรับว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) เพิ่มสูงขึ้นทุกปี และเปลี่ยนมาอยู่ช่วงหัวค่ำ 1-2 ทุ่ม สาเหตุหลักมาจากปริมาณการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามามากขึ้น รวมถึงการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนที่รวดเร็วและผันผวน ดังนั้นกฟผ. จำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อรองรับการบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลัก อาทิ ปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) การพัฒนาศูนย์การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center) และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า อาทิ การจูงใจด้วยอัตราค่าไฟฟ้าราคาถูก เพื่อให้เกิดการชาร์จไฟฟ้าตามบ้านในช่วงเวลาเที่ยงคืนแทนที่จะชาร์จพร้อมกันในช่วงหัวค่ำ เป็นต้น เพื่อลดพีค

ขณะเดียวกันก็เตรียมพร้อมต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) ในการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทยอยเข้าระบบมากกว่า 50%  โดยกฟผ.มีแผนที่ออกแบบ REFC หรือศูนย์พยากรณ์พลังงานหมุนเวียน เพื่อคาดการณ์สภาพภูมิอากาศและการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนล่วงหน้า เพื่อให้ระบบไฟฟ้าของทั้งประเทศรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามามากขึ้น ช่วยรักษาความมั่นคงของระบบ คาดว่าจะเปิดในปลายปีนี้ ซึ่งจะเป็นต้นแบบของนานาประเทศ

นอกจากนี้ในฐานะกฟผ.เป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าโดยตรงจะพิจารณาการนำเข้า ได้ต้นทุนต่ำที่สุด พร้อมขับเคลื่อนนโยบาย No Net Metering Support Net Billing ซึ่งเป็นวิธีการที่เป็นธรรม เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าใช้เองแล้วเหลือขาย ทำให้ระบบมีภาระในการบริหารจัดการควรจ่ายค่าไฟฟ้ามากกว่าประชาชนทั่วไปที่ควรได้รับการชดเชย นอกจากนี้ กฟผ. ยังสนับสนุนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป.ลาว ที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อให้ค่าไฟฟ้าถูกลง

กฟผ.ยังให้ความสำคัญในการออกแบบระบบไฟฟ้าของประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ ทั้งการเดินหน้าพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนของ กฟผ. และศึกษาพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น ๆ โดยเฉพาะไฮโดรเจน ซึ่งเป็นได้ทั้งเชื้อเพลิงเผาไหม้เหมือนก๊าซธรรมชาติ และเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) รวมถึงมีแนวโน้มราคาที่ถูกลง โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดยังสามารถนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิมโดยไม่ต้องปรับปรุงโรงไฟฟ้า รวมถึงศึกษาและนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนมาใช้ด้วย

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img