วันจันทร์, เมษายน 29, 2024
หน้าแรกHighlightทีดีอาร์ไอเผย PISA ส่งสัญญาณเตือน “ระบบการศึกษาไทย”สะดุด-มีปัญหา!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ทีดีอาร์ไอเผย PISA ส่งสัญญาณเตือน “ระบบการศึกษาไทย”สะดุด-มีปัญหา!!

“ทีดีอาร์ไอ” เผยผลสอบ PISA ส่งสัญญาณเตือนระบบการศึกษามีปัญหา ชี้คนไทยไม่พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลก ติงหลักสูตรล้าหลัง เน้นท่องจำ ประยุกต์ใช้จริงไม่ได้ แนะยกเครื่อง-ปรับใหญ่ทั้งระบบ

นายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโส ทีมนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ปัญหาที่ทำให้ผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ของไทยลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักเรียนไทยอายุ 15 ปี คะแนนลดต่ำลงในทุกด้านทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน มาจากการระบบศึกษาของไทยที่อ่อนแอ และส่วนหนึ่งเกิดจากการปิดโรงเรียนจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เกิดขึ้นทั่วโลก และเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศ ผลการเรียนของไทยตกต่ำลงมากกว่า ดังนั้นปัญหาหลักจึงอยู่ที่ระบบการศึกษาที่ไม่เข้มแข็งนั่นเอง โดยมี 2 สาเหตุหลักคือ

1.หลักสูตรของไทยล้าสมัย มีการใช้มาตั้งแต่ปี 2551 หรือ 15 ปีมาแล้ว และแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการปรับหลักสูตรอยู่บ้าง แต่เป็นการปรับเล็กในบางวิชาเท่านั้น ซึ่งในภาพรวมหลักสูตรไทยยังไม่มุ่งให้เด็กนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ เพราะการที่เด็กจะมีสมรรถนะในการประยุกต์ใช้นั้น จำเป็นต้องมีความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่เหมาะสม ไปพร้อม ๆ กัน เช่น การจะสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จะต้องรู้คำศัพท์ โครงสร้างประโยค ทักษะการออกเสียง และมีทัศนคติในการกล้าสื่อสาร

โดยได้รับการฝึกฝนในสถานการณ์ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริง แต่หลักสูตรของไทยมุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้ผ่านการจดจำ ขณะที่การทดสอบของ PISA เน้นนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง

“ความรู้ที่เรามีส่วนใหญ่เน้นไปที่การท่องจำ ยังไม่เรียกร้องว่าต้องวิเคราะห์ได้ ประเมินคุณค่าและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่จำเป็นในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจะต้องมีการปรับหลักสูตรให้ทันสมัยมากขึ้น และส่งเสริมให้นักเรียนคิดขั้นสูงหรือนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงมากขึ้น เพราะหลักสูตรเป็นต้นทางของการปฏิรูปทั้งหมด”

อย่างไรก็ตาม การใช้หลักสูตรของไทยไม่มีความยืดหยุ่นเท่าที่ควร แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะให้โรงเรียนสามารถนำหลักสูตรแกนกลางไปปรับ เพื่อให้เข้ากับบริบทได้ แต่ในทางปฏิบัติครูยังไม่กล้าทำสิ่งใหม่ ยังทำตามสิ่งที่เคยทำมา อีกทั้งยังมีการกำหนดโครงสร้างเวลาเรียน ทำให้โรงเรียนต้องทำหลักสูตรตามที่สาระวิชาได้กำหนดเอาไว้
จัดการทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ-ครูมีภาระงานอื่นทำสอนไม่เต็มที่

2.การบริหารทรัพยากร ทั้งด้านคน โดยเฉพาะครู และ งบประมาณ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน ถือว่าไทยลงทุนทรัพยากรด้านการศึกษาค่อนข้างสูง แต่ผลลัพธ์ยังไม่ดี ซ้ำยังลดลงเรื่อยๆ สะท้อนว่าการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพต่ำ อีกทั้งโรงเรียนยังไม่มีอิสระในการจัดการทรัพยากรด้วยตัวเอง

ส่วนเรื่องของคน หรือครูนั้น พบว่า โรงเรียนยังขาดแคลนครู โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก มีปัญหาครูไม่ครบชั้น ซึ่งสอดรับกับผลคะแนนของ PISA ที่บ่งชี้ว่า โรงเรียนที่มีครูเพียงพอจะมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีกว่า นอกจากนี้ในปัจจุบันครูต้องแบกรับงานธุรการที่นอกเหนือไปจากการสอนมาก ทำให้ไม่สามารถโฟกัสกับการสอนได้ ซึ่งจากการที่ทีดีอาร์ไอได้ลงพื้นที่สำรวจความเห็นครูใน 8 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ครูต้องทำงานนอกเหนือจากการสอนจำนวนมาก โดยภาระงานที่ครูรู้สึกว่าเป็นปัญหามากที่สุด คือการรายงานผลที่กระทรวงศึกษาธิการ หรือ หน่วยงานต่าง ๆ มอบหมายให้โรงเรียนทำ ส่งผลให้ครูสอนนักเรียนได้ไม่เต็มที่

อย่างไรก็ตาม เมื่อไปดูผลลัพธ์การศึกษาของประเทศที่ได้ผลประเมินของ PISA ในเกณฑ์ดี อย่างสิงคโปร์ และฟินแลนด์นั้น เห็นว่า ประเทศไทยสามารถเรียนรู้ระบบการศึกษาที่ดีจากประเทศเหล่านี้ได้ เช่น สิงคโปร์มีความโดดเด่นในเรื่องของการพัฒนาครู โดยได้ให้ความสำคัญกับการผลิตครูอย่างมาก มีเกณฑ์การคัดเลือกค่อนข้างสูง ครูได้รับค่าตอบแทนที่สูงและได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง จึงทำให้ครูของสิงคโปร์มีคุณภาพ

ส่วนฟินแลนด์ มีความน่าสนใจด้านหลักสูตร ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นสร้างสมรรถนะ โดยพยายามให้นักเรียนได้เรียนจากสถานการณ์จริง และเกิดการเรียนรู้แบบข้ามศาสตร์ และให้ความสนใจโลกใหม่ เช่น นาโนเทคโนโลยี ทำให้นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่ทันโลกทันเหตุการณ์

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาว่า ไทยควรยกเครื่องการศึกษาใหม่ ปรับใหญ่ ทั้งระบบ หลักสูตร การใช้ทรัพยากร และการผลิตครู โดยแบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ 1.ระยะแรก ซึ่งทำได้ทันที คือการลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนของครูให้เหลือน้อยที่สุด 2. รัฐบาลควรปรับหลักสูตรการศึกษาให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี หรือภายในวาระของรัฐบาล โดยเมื่อปรับหลักสูตรแล้ว ก็จำเป็นต้องออกแบบให้องค์ประกอบอื่นของระบบการศึกษามีความสอดคล้องกันด้วย ทั้งการผลิตและพัฒนาครู ตลอดจนการสอบและประเมินผล

“ต้องคิดรวมไปถึงการจัดสรรทรัพยากรอย่างไรให้สามารถตอบโจทย์การสร้างสมรรถนะใหม่ๆ มีระบบประกันคุณภาพ โดยหลักสูตรใหม่ควรผ่านการทดลองใช้ในพื้นที่นำร่อง ก่อนที่จะนำมาใช้ทั้งประเทศ เพื่อจะดูว่าติดขัดอย่างไรในการนำไปใช้จริง เพื่อป้องกันผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากการทดลองใช้หลักสูตรใหม่”นักวิจัยทีดีอาร์ไอกล่าว

3.ต้องใช้เวลานาน โดยอาจจะเริ่มต้นเสนอธนาคารโลก ในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เช่น การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กและพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนที่อยู่ใกล้กัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรและการเรียนการสอน ส่วนโรงเรียนที่ไม่สามารถที่จะควบรวมหรือพัฒนาเป็นเครือข่ายได้ เช่น โรงเรียนที่อยู่ห่างไกล จำเป็นต้องคงอยู่และมีการจัดสรรงบเพิ่ม เพื่อให้มีทรัพยากรที่เพียงพอในการจัดการศึกษา

ด้านดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แม้โควิด-19 จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบการศึกษาไทยอ่อนแอลง แต่ในความเป็นจริง ระบบการศึกษาไทยอ่อนแอมานานแล้ว ผลประเมิน PISA ชี้ให้เห็นมาโดยตลอด 20 ปีว่าการศึกษาไทยมีปัญหาระดับรากฐาน ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขครั้งใหญ่ประเทศไทยจะไม่สามารถก้าวเดินเป็นประเทศพัฒนาได้ และคนไทยจะไม่มีทักษะพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีทั้งความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในโลก ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาทดแทนมนุษย์อย่างปัญญาประดิษฐ์ หรือหุ่นยนต์ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะทำให้คนต้องปรับตัวมากมาย ดังนั้นหากไม่มีการแก้ไขจะทำให้ไทยยิ่งตกขบวน ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกมากขึ้นไปเรื่อย ๆ

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img