วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
หน้าแรกHighlightเย้ย“นายกฯ”ลงใต้ประเมินสถานการณ์ผิด “ก.ก.”แนะทบทวนจัดลำดับแก้ปัญหาใหม่
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เย้ย“นายกฯ”ลงใต้ประเมินสถานการณ์ผิด “ก.ก.”แนะทบทวนจัดลำดับแก้ปัญหาใหม่

“สส.ก้าวไกล” เย้ย “เศรษฐา” ลงใต้ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด แนะทบทวนจัดลำดับแก้ปัญหาใหม่ จับผิดนายกฯดันแก้ความเสมอภาค-เท่าเทียม แต่ละเลยความยุติธรรม แนะปรับโครงสร้างการปกครองที่ชอบธรรม-คนยอมรับ

เมื่อวันที่ 1 มี.ค.67 เวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงถึงการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ 27-29 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ตนไม่แน่ใจว่านายกฯตั้งใจหรือจงใจไปหรือไม่ แต่เป็นหมุดหมายที่ดี เพราะวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบการลงนามในเอกสารฉันทามติว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เมื่อ 11 ปีที่แล้วที่กัวลาลัมเปอร์ ดังนั้นเมื่อวันที่ 28 ก.พ. จึงมีความหมายสำคัญในทางการเมือง และพัฒนาการของการแก้ไขปัญหาในการสร้างสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นตนอยากจะสื่อสารไปถึงคนอย่างน้อย 3 คนในรัฐบาลชุดนี้ คือ 1.นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ 2.นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ และ 3.นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพราะทั้ง 3 คน มีบทบาทสำคัญในการที่จะให้คำแนะนำและกำหนดจังหวะทิศทางของรัฐบาลนายเศรษฐาต่อความขัดแย้ง สถานการณ์ความไม่สงบและการสร้างสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“ที่ผมต้องพูดถึงนายทักษิณ เพราะเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ก่อนหน้าที่จะมีการลงนามในเอกสารดังกล่าว นายทักษิณมีบทบาทสำคัญในการใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวกรุยทางความเป็นไปได้ในการเปิดหน้าพูดคุยอย่างเปิดเผย จึงคิดว่าในครั้งนี้แม้นายทักษิณ จะมีข้อจำกัดก็น่าจะให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นแก่นายเศรษฐาได้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการเดินทางลงพื้นที่ของนายเศรษฐาครั้งนี้ โดยภาพรวมเน้นไปในเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง และการท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เห็นตรงกันว่าต้องมีการพัฒนา แต่สิ่งที่ต่างกันคือเมื่อมองไปดูในไส้ในของการเดินทางครั้งนี้ เราเห็นว่านายกฯอาจจจะมีบางอย่างที่มองผิดพลาดไป”นายรอมฎอน กล่าว

นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า ตนขอเปรียบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นคนที่มีอาการโรค แต่ข้างนอกดูเหมือนเป็นคนที่มีร่างกายดี แต่จริงๆเป็นคนอมโรค เพราะมีเสียงสะท้อนว่าเมื่อนายกฯลงพื้นที่ด่านตรวจและจุดตรวจที่ตั้งอยู่เต็มพื้นที่กลับหายไป แต่เมื่อนายกฯกลับออกจากพื้นที่ด่านตรวจก็กลับมีเข้ามาใหม่ ถึงแม้เรื่องด่านตรวจจะเป็นเรื่องเล็กที่คนภายนอกอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ ในพื้นที่ความขัดแย้ง แต่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีประสบการณ์ถูกซักถาม ตรวจสอบโดยด่านตรวจ ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจที่เกินเลยกับประชาชน จนกลายเป็นเมื่อนายกฯลงพื้นที่มีการชูภาพด้านบวก และสื่อสารให้เห็นว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้มีโอกาสที่จะพัฒนาในทางเศรษฐกิจต่างๆ แต่เป็นภาพเพียงผิวเปลือกเท่านั้น เพราะชีวิตประจำวันของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องถูกตรวจสอบตลอดเวลา นี่เป็นสิ่งที่อาจทำให้การวินิจฉัยโรคและการประเมินสถานการณ์ผิดพลาดไป

”ถ้าฟังสิ่งที่นายกฯต้องการสื่อสารดูเหมือนจะตั้งใจที่จะแก้ปัญหา และเรียกร้องความไว้วางใจจากประชาชน และสิ่งที่นายกฯพูดซ้ำตลอดเวลาในระหว่างการลงพื้นที่ คือเรื่องความเสมอภาค ความเท่าเทียม และเรื่องโอกาสแต่สิ่งที่ขาดไปคือ ความยุติธรรม ซึ่งถือเป็นแกนกลางในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายกฯยังไปไกลถึงขนาดพูดถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เรียกร้องให้ประชาชนในพื้นที่อดกลั้น และอ้างถึงสถานการณ์ว่าอีกไม่กี่สัปดาห์จะเข้าสู่เดือนรอมฎอน และเรียกร้องให้ประชาชน ยกโทษให้กันและกัน ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่นายกฯพูดถึงหมายถึงเรื่องอะไร ไม่แน่ใจว่าท่านนึกถึงเหตุการณ์ตากใบเกือบเมื่อ 20 ปีที่แล้วหรือไม่ เพราะเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน และเหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุการณ์บาดแผลสำคัญ ถ้าเรามีวิธีการจัดการกับความเจ็บปวดอย่างนี้ แต่ถ้านายกฯคิดอย่างนั้นจริงๆ ก็ถือว่าน่าเสียดาย เพราะความเสมอภาค การเท่าเทียม และเรื่องการแสวงหาโอกาสในทางเศรษฐกิจอาจะไม่มีความหมายเลย ถ้าปมในใจพี่น้องประชาชนยังมีอยู่ ซึ่งจะต้องมีความยุติธรรม หนึ่งในนั้นคือการพูดคุยสันติภาพ”นายรอมฎอน กล่าว

นายรอมฎอน กล่าวต่อว่า ตนเห็นว่านายเศรษฐายังไม่ให้ความใส่ใจในการแก้ปัญหาคือบรรยากาศในการแสดงความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน และกลุ่มต่างๆในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนี่คือปี 2567 แต่ภาพที่ตนมองย้อนกลับไปก่อนหน้าปี 2547 ในช่วงรัฐบาลนายทักษิณ ซึ่งในช่วงนั้นมีการประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งต่ำมาก เพราะสถานการณ์ที่เคยเป็นข้อขัดแย้งระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนได้ผ่านไปแล้ว โดยข้อเรียกร้องเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ปัญหาเรื่องการปกครองพื้นที่ที่ต้องมีกลไกพิเศษในการบริหารจัดการนั้นหายไปแล้ว ตอนนั้นนายทักษิณ ก็พยายามพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่พูดถึงปัญหา ตนก็นึกถึงสิ่งนั้น ถ้าเป็นแบบนี้จริงหมายความว่าสิ่งที่รัฐบาลนายเศรษฐา กำลังทำอยู่คือการประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ และด้วยเหตุนี้รัฐบาลนายเศรษฐาจึงไม่กล้าที่จะปะทะกับปัญหาใจกลางความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมองข้ามไป

“ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ใจกลางคือเรื่องการปกครองที่ชอบธรรม เราไม่สามารถที่จะควบคุมจากกรุงเทพฯ แต่ต้องมีการแบ่งอำนาจไป ฟังเสียงประชาชน แนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต้องนั่งลงคุยกัน ว่าเราจะปรับโครงสร้างการปกครองที่ชอบธรรมและคนยอมรับได้อย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่นายเศรษฐาละเลย แต่มุ่งไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจ และจะเห็นว่ามีการรต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 3 ครั้ง แต่รัฐบาลนี้ยังไม่แตะกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว แล้วประเทศจะพัฒนาตามที่นายกฯตั้งไว้ได้อย่างไร หากยังมีกฎอัยการศึกอยู่ นายกฯต้องแสดงเจตจำนงที่แน่วแน่ และขอเตือนนายเศรษฐาว่าต้องทบทวนสถานการณ์ภาคใต้ใหม่ ถ้าท่านดูเบาสถานการณ์เกินไปและมอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคงดูสถานกราณ์อย่างเดียว ผมเกรงว่าในฐานะผู้นำฝ่ายบริหาร ที่เป็นผู้นำพลเรือน เกรงว่าท่านจะตัดสินใจในทางการเมืองผิด ดังนั้น นายกฯควรจะเรียงลำดับการแก้ปัญหาเสียใหม่ ” นายรอมฎอน กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img