วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“ส่วนเกิน”ที่ชาวบ้านต้องแบกหลังแอ่น
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ส่วนเกิน”ที่ชาวบ้านต้องแบกหลังแอ่น

หลายๆ คนยังคงจำได้ในห้วงเวลาที่ รัฐบาล คสช. โดย “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศใหม่ๆ ได้ประกาศชัดเจนว่า จะต้อง “ปฏิรูปพลังงาน” และกำหนดเป็นนโยบายที่จะเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง

พร้อมกับมีการตั้ง คณะกรรมการปฏิรูปพลังงาน ขึ้นมาเพื่อทำเรื่องนี้ ทราบมาว่า แผนนั้นเสร็จและส่งให้รัฐบาลมาหลายปีแล้ว แต่จนถึงวันนี้แทนที่ชาวบ้านได้ใช้ไฟฟ้าถูกลง กลับต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้งต่อไป เหมือนไม่มีการปฏิรูปใดๆ เกิดขึ้น

เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา ห้างยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งภาคอีสาน ที่เป็นตำนานของคนในพื้นที่ ประกาศปิดตัวลง หลังจากดำเนินธุรกิจนี้มานานกว่า 40 ปี เจ้าของกิจการเปิดเผยว่า ที่ต้องเลิกกิจการเพราะ “ค่าแรง” และ “ค่าไฟฟ้า” บ้านเราแพงสู้ไม่ไหว

ส่วนเจ้าของธุรกิจอุตสาหกรรมรายใหญ่รายหนึ่ง เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักลงทุนไทยหลายราย ได้ทยอยย้ายโรงงานและย้ายฐานการลงทุนไปลงทุนในเวียดนามแทน เหตุผลเพราะค่าแรงและ “ค่าไฟฟ้า” ถูกกว่าบ้านเราหลายเท่า

ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนเฉพาะชาวบ้าน คนหาเช้ากินค่ำเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย หากไฟฟ้าแพงย่อมทำให้ต้นทุนสูง ในขณะที่เศรษฐกิจซบเซา นักลงทุนไทยก็ไม่อยากลงทุนเพิ่ม นักลงทุนต่างชาติก็หันไปลงทุนในประเทศที่มีต้นทุต่ำกว่า

อันที่จริงราคาไฟฟ้าบ้านเรา น่าจะถูกกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะทุกวันนี้การผลิตไฟฟ้า ไม่ได้เป็นธุรกิจผูกขาดเหมือนอดีตที่ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” (กฟผ.) ผูกขาดรายเดียว กำแพงนี้ถูกทะลายในปี 2535 โดยรัฐบาล “อานันท์ ปันยารชุน” มีนโยบายให้เอกชนสามารถตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้ กฟผ.ได้ จะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งต่อมามีเอกชนลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าหลายราย

หลังจากที่เปิดให้เอกชนผลิตไฟฟ้าได้ ทำให้สัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ในปัจจุบัน ณ เดือนเมษายนปี 2565 เหลืออยู่เพียง 30% หรือ 15,520 เมกะวัตต์เท่านั้น ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าของเอกชนมีสัดส่วนถึง 70% โดยแบ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPPs) 32% หรือ 16,124 เมกะวัตต์ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPPs) 19% หรือ 9,439 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าที่นำเข้าจากลาวและแลกเปลี่ยนจากมาเลเซีย 11% หรือ 5,721 เมกะวัตต์ และผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) 8% หรือ 4,237 เมกะวัตต์

ในเมื่อโรงไฟฟ้าบ้านเรามีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำไมค่าไฟฟ้าถึงยังแพง ก็ต้องบอกว่ามีหลายปัจจัยด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับ “ความมั่นคงด้านพลังงาน” มากเกินความจำเป็น ทำให้มี “ไฟฟ้าสำรองมากกว่าใช้จริงเกือบครึ่ง” ซึ่งภาระส่วนเกินนี้ได้โยนให้ประชาชนต้องควักกระเป๋า “จ่าย” ทั้งที่ไม่ได้ใช้จริง

สะท้อนจากตัวเลขการใช้ไฟฟ้าล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 30,000 เมกะวัตต์และยังมีปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตเกินกว่าความต้องการมากถึง 20,000 เมกะวัตต์ แปลว่ายังมีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงกว่า 50% ทั้งที่ปริมาณที่เหมาะสมควรจะสำรองที่ประมาณ 15% เท่านั้น ซึ่งภาระค่าใช้จ่ายจากการสำรองไฟฟ้าจะถูกแปลงออกมาเป็น ค่า Ft หรือที่เรียกว่า การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร

นอกจากนี้ สัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนคือ โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPPs) ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการ แม้ว่าไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่ยังได้เงินค่าไฟฟ้าที่เรียกว่า “ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า” ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เรียกว่า “Take or Pay” หรือ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย”

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เกิดโควิดระบาด กิจการจำนวนมากได้รับผลกระทบต้องปิดตัวลง ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ลดลงตามไปด้วย แต่ปรากฏว่า มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า หรือเดินเครื่องไม่เต็มศักยภาพ แต่ยังได้รับเงินค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าแบบ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” ในที่สุดก็หนีไม่พ้น โยนภาระนี้ให้ประชาชนแบกรับในรูปของค่า Ft

มิหนำซ้ำ กฟผ.ยังไปรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPPs) ในราคา 3 บาทกว่าต่อหน่วย ซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPPs) ในราคาเกือบ 4 บาทต่อหน่วย แม้แต่ไฟฟ้าที่รับซื้อจากโรงไฟฟ้าจากลาว ในราคา 2.89, 2.79 และ 2.94 บาทต่อหน่วยตามลำดับ ทั้งที่ราคาค่าไฟฟ้าฐานของ กฟผ.อยู่ที่ 2.5683 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

จะเห็นว่า ราคาไฟฟ้าที่ กฟผ.ซื้อจากเอกชน ไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก-รายใหญ่ และแม้แต่ซื้อจากลาว ล้วนแพงกว่าราคาค่าไฟฐานของ กฟผ.ทั้งสิ้น ราคาค่าซื้อไฟฟ้าส่วนที่เกินจากค่าไฟฟ้าฐานของ กฟผ. เหล่านี้จะถูกผลักมาอยู่ในค่า Ft ให้ประชาชนจ่ายเพิ่มอย่างแน่นอน

จึงตั้งข้อสงสัย ประการแรก ทำไมระบบไฟฟ้าของประเทศต้องมีปริมาณไฟฟ้าสำรองมากมายโดยไม่จำเป็น ประการต่อมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงปล่อยให้ กฟผ.เลือกซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ราคาแพง แทนที่จะหาซื้อจากแหล่งที่ราคาถูกกว่า

ทุกวันนี้ ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงในบ้านเรากำลังเป็นประเด็นร้อน เพราะไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต และเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตสินค้าต่างๆ การที่ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นแต่ละครั้ง จึงสร้างความลำบากให้กับชาวบ้านอย่างมากเมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับในปัจจุบันนี้ แถมยังสร้างปัญหาให้กับกิจการต่างๆ เพราะ “ต้นทุนการผลิต” เพิ่มสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว

ทั้งหมดนี้คือภาระที่ประชาชน และภาคธุรกิจต้องแบกรับแทน “นายทุน” ที่เสวยสุขบนความทุกข์ของ “ชาวบ้าน” จนพุงปลิ้นกันเป็นแถว

……………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img