วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSเงินกู้“5แสนล้าน”...ฤาแค่ซื้อเวลา
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เงินกู้“5แสนล้าน”…ฤาแค่ซื้อเวลา

ในที่สุดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่กู้มาในปีที่แล้ว 1 ล้านล้านบาท ที่คนในรัฐบาลหลายคนออกมายืนยันก่อนหน้านี้ว่า มีเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 รุนแรง จนเอาไม่อยู่ หนทางสุดท้ายรัฐบาลจำเป็นต้องทำคือ เร่งออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ วงเงิน 5 แสนล้านบาท

เบื้องหลังการถ่ายทำที่ทำให้รัฐบาล “ดิ้นเฮือกสุดท้าย” ต้องกู้เพิ่ม เนื่องจากพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทตอนนี้ “เกลี้ยงกระเป๋า” เมื่อเงินไม่พอก็ต้องกู้เพิ่ม อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ส่วนรายละเอียดคร่าวๆ ในพ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 ฉบับที่ 2 นี้ ระบุว่า จะนำไปใช้ประกอบด้วย 3 แผนงาน เหมือนกับกรอบเงินกู้รอบที่แล้ว เพียงแต่จำนวนเงินน้อยกว่า ได้แก่ ด้านสาธารณสุข 3 หมื่นล้านบาท, ด้านเยียวยา 3 แสนล้านบาท และด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1.7 แสนล้านบาท

ต้องยอมรับว่า การระบาดระลอก 3 สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกระจายเป็นวงกว้างหนักและรุนแรงกว่าเดิมหลายเท่า ได้แต่หวังว่าเงิน 5 แสนล้านบาทที่กู้เพิ่มมาครั้งนี้ จะไม่ใช่เป็นการ “ตำพริกละลายแม่น้ำ” เหมือนเงินกู้รอบที่แล้วที่เน้น “กระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้า” การเบิกเงินส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่การโอนใส่กระเป๋าประชาชนไม่ว่าจะเป็น “เราไม่ทิ้งกัน” “คนละครึ่ง” หรือ “เราชนะ” ปรากฏว่าส่วนหนึ่งกลับตกไปเข้ากระเป๋าคนที่ไม่ได้เดือดร้อนจริงๆ แถมยังมีการทุจริตกันอย่างมโหฬาร

จะเห็นว่าเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทรอบที่แล้ว แทบไม่มีโครงการลงทุนเพื่ออนาคตเลย หรือจะมีบ้างก็เป็นประเภทโครงการเล็กๆ น้อยๆ สะเปะสะปะ ซึ่งไม่ได้ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจแต่อย่างใด มีแต่การเสนอโปรเจกต์หลอกๆ เข้ามา

น่าเป็นห่วงว่า “เงินกู้เที่ยวนี้” จะซ้ำรอยเดิม เมื่อรัฐบาลวางกรอบใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจแค่ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งจิ๊บจ๊อยมาก ทั้งที่ในรอบปีกว่าที่ผ่านมา ธุรกิจล้มหายตายจากไปจำนวนมาก ซึ่งเงินที่กู้มา ควรใช้ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี เพื่อประคองซัพพลายเชนเอสเอ็มอีให้อยู่รอด หรืออาจจะทำอย่างประเทศเยอรมนี เข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการ ร้านค้าต่างๆ โดยช่วยค่าต้นทุนครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ทั้งลูกจ้างและนายจ้างอยู่ได้ธุรกิจก็เดินหน้าต่อได้

แม้ว่าการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่ขาดรายได้จากการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่นั่นอาจเป็นเพียง “การซื้อเวลาเท่านั้น” สิ่งที่อยากจะฝาก “ผู้รับผิดชอบการใช้จ่ายเงินกู้ 5 แสนล้านบาท” คือจะต้องทำให้เร็ว และตรงเป้า เพราะต้องไม่ลืมว่า ผลกระทบจากการระบาดโควิดระลอก 3 นั้น เริ่มมาตั้งแต่เดือนเม.ย.แล้ว คนเดือดร้อนมีมากและหนักขึ้นเรื่อยๆ

แต่ถ้าจะทำให้เกิดผลจริงๆ รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องของวัคซีน คือ ต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้ทำงาน อย่างที่หลายประเทศทำกัน เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ที่เคยเจอวิกฤติโควิดระบาดหนักกว่าเรามาก แต่หลังจากฉีดวัคซีนไประดับหนึ่ง ตอนนี้ประเทศเหล่านี้ เริ่มเปิดให้ธุรกิจดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ เปิดให้ทานอาหารในร้านเหมือนปกติ โรงแรมก็เริ่มมีคนใช้บริการคึกคักขึ้น จนเกือบจะเป็นปกติ

น่าเสียดายถ้ารัฐบาลเอาเงินกู้รอบที่แล้วไปจองวัคซีนที่ดีที่สุดที่มีขาย ป่านนี้คนไทยอาจจะมี “ภูมิคุ้มกันหมู่” ไปแล้วก็ได้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้เงินไปเกือบเก้าแสนล้านบาทเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจไปสามรอบ และกำลังจะกู้เพิ่มอีก ซึ่งก็เข้าใจว่าเงินพวกนี้ อาจจะจำเป็นเพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามยากลำบาก แต่ก็ทำแบบขอไปที แทบจะไม่มีผลอะไรในทางเศรษฐกิจ แค่เยียวยาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าเท่านั้น

อย่าลืมว่าการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้น เป็นเพียงการซื้อเวลา สิ่งที่ประชาชนต้องการวันนี้ คือ ต้องการวัคซีนให้มาให้เร็วที่สุด ต้องทำให้คนติดเชื้อลดลง ทำให้คนมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะทำให้คนมีความเชื่อมั่นและใช้จ่ายได้เร็วที่สุด สุขภาพประชาชนก็กลับมา เศรษฐกิจก็เดินหน้าได้

……………………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img