วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSปลดล็อค“ท้องถิ่น”...ฉุดไทยพ้น “คนป่วยแห่งเอเชีย”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ปลดล็อค“ท้องถิ่น”…ฉุดไทยพ้น “คนป่วยแห่งเอเชีย”

ประเทศไทยวันนี้ กำลังถูกประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน แซงหน้าทิ้งไปไกล ยิ่งในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด สถานการณ์เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพย่ำแย่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ “จีดีพี.” เกือบจะอยู่บ๊วยสุด จนถูกมองว่าไทยกำลังเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” แทนฟิลิปปินส์ไปแล้ว

ยิ่งมาเจอปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเคน ซ้ำเติมเข้าไปอีก เศรษฐกิจไทยอาจจะกู่ไม่กลับเลยทีเดียว

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยไปไม่ถึงไหน เพราะความเจริญมากระจุกตัวอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ ซึงเป็นเมืองหลวง ไม่กระจายไปยังต่างจังหวัด กลายเป็น “เจริญกระจุก ล้าหลังกระจาย” หรือกลายเป็นเจริญแบบ “คนหัวโต” เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่าง “ส่วนกลาง” กับ “ท้องถิ่น” หากจะแก้ปัญหาจริงๆ ต้องแก้ที่ต้องมีการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น ให้บริหารจัดการตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ให้แต่รูปแบบ แต่ไม่ให้อำนาจ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา “คณะก้าวหน้า” จัดเสวนาเปิดตัวแคมเปญ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” คุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร พูดในหัวข้อ “การกระจายอำนาจกับการยกเครื่องทางเศรษฐกิจ” ตอนหนึ่งว่า “เมื่อลองดูภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยามค่ำคืน โดยวัดจากแสงสว่างของไฟ จะพบว่า ไทยมีอัตราความเจริญค่อนข้างกระจุกตัว ส่วนเกาหลีใต้มีแสงไฟกระจายทั่วประเทศ เพราะมีการกระจายอำนาจ และทรัพยากร

ประเทศไทยเป็นรัฐใหญ่ ข้าราชการกว่า 2 ล้านคน อยู่ที่ส่วนกลางถึง 60% ส่วนข้าราชการส่วนภูมิภาคที่ถูกควบคุมจากส่วนกลาง 21% และที่เหลืออีก 18% หรือเพียง 2 แสนคน อยู่ที่ส่วนท้องถิ่น ตรงข้ามกับญี่ปุ่นที่มีข้าราชการส่วนท้องถิ่น 2 ล้านคน และมีข้าราชการส่วนกลางเพียง 5 แสนคน ส่งผลให้ความเจริญกระจายตัว ทำให้รายได้ต่อคนโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือมีรายได้ต่อคนต่อปีประมาณ 4.5 หมื่นเหรียญสหรัฐ ส่วนไทยอยู่ที่ 7.8 พันเหรียญสหรัฐ

ผมว่าเรื่องนี้ไม่ต้องดูอื่นไกล แค่จังหวัด “บุรีรัมย์” ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วแบบไม่น่าเชื่อ ทำให้เห็นถึงพลังของท้องถิ่น ว่ามีมากแค่ไหน แม้ยังไม่ได้บริหารตนเองเต็มรูปแบบ จากเดิมเป็นจังหวัดยากจนอันดับต้นๆ ของประเทศ จากจังหวัดเล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก แต่ “บุรีรัมย์โมเดล” ทำให้จังหวัดบุรีรัมย์เติบโตแบบก้าวกระโดด ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด “จีดีพี.” โตเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ก่อนช่วงโควิดระบาดมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากกว่า 3 ล้านคนต่อปี

งานนี้ต้องยกเครดิตให้ “เนวิน ชิดชอบ” ในฐานะผู้นำการพัฒนาต้นคิด “บุรีรัมย์โมเดล” ที่ใส่ความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการใช้ “กีฬา” และ “การท่องเที่ยว” เป็นโมเดลในการพัฒนาบุรีรัมย์ ทำให้มีการลงทุนไม่ว่าจะเป็น โรงแรม ร้านอาหาร ขึ้นมารองรับนักท่องเที่ยวอย่างคึกคัก สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับคนบุรีรัมย์ทันตาเห็น จนปัจจุบันบุรีรัมย์ กลายเป็น “เมืองท่องเที่ยวเชิงกีฬา” ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

ลองมาดูตัวอย่างในประเทศที่เจริญแล้ว หลายๆ ประเทศ รัฐบาลกลางไม่หวงอำนาจให้อิสระท้องถิ่น ในการบริหารจัดการตนเองอย่างเต็มที่ บ้านเราแม้จะมีองค์กรท้องถิ่นหลายระดับทั้ง “อบจ.-อบต.-เทศบาล” แต่ อำนาจต่างๆ ยังอยู่ใน “ส่วนกลาง” หากเทียบการเมืองในภาพใหญ่ของไทย จะว่าไปแล้วคงคล้ายๆ กับ “อิตาลี” ที่รัฐบาลกลางไม่ค่อยมีเสถียรภาพ มีการเลือกตั้งบ่อยๆ

แต่อิตาลีกลับมีความเจริญและมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของยุโรป เพราะ “ท้องถิ่น” เขาเข้มแข็ง รัฐบาลกลางให้อำนาจท้องถิ่น บริหารจัดการได้อย่างเต็มที่ อย่างกรณีนักลงทุนต่างประเทศจะเข้าไปลงทุน สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากองค์กรท้องถิ่นได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านหน่วยงานของรัฐบาลกลาง ทำให้มีความคล่องตัว ส่วนของไทยต้องผ่านการอนุมัติจากบีโอไอ.เท่านั้น

อันที่จริงมีผู้นำท้องถิ่นไม่น้อยที่มี “วิสัยทัศน์” กว้างไกล ที่จะสามารถพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าได้ หรือจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีศักยภาพอย่าง เชียงใหม่ โคราช ขอนแก่น และภูเก็ต แต่ยังไม่โตเท่าที่ควร เพราะถูกจำกัดด้วยระบบราชการ และอำนาจจากส่วนกลาง กดทับเอาไว้

ที่สำคัญท้องถิ่นถูกสร้างภาพให้น่ากลัวในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น ว่ามีการโกงกินมโหฬาร ปล่อยให้บริหารจัดการตัวเองไม่ได้ ทั้งที่ส่วนกลางมีสัดส่วนการคอรัปชั่นสูงกว่าหลายเท่า นอกจากนี้ยังมีการรวบอำนาจเกือบทั้งหมด อยู่ในมือส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ทั้งเรื่อง งาน-เงิน-คน และ ความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการทำ โครงสร้างระบบ ให้อ่อนแอ เพื่อเป็นข้ออ้างที่จะไม่ยอมปล่อยมือ

ถ้าส่วนกลางยอมปล่อยให้ท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารจัดการตนเอง เชื่อว่าท้องถิ่นจะเข้มแข็ง เศรษฐกิจจะเติบโตได้ดีกว่านี้ ความเหลื่อมล้ำ ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นก็จะแคบลง อันที่จริงท้องถิ่นไทย น่าจะพัฒนาไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ หากส่วนกลางให้ผู้นำท้องถิ่นนั้น เป็นเหมือนผู้จัดการเศรษฐกิจ มีจิตสำนึกของ “ผู้ประกอบการท้องถิ่น” รวมถึงให้อำนาจในการจัดเก็บภาษีเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าและรายได้ให้ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ถ้า “ส่วนกลาง” ยังหวงอำนาจ ไม่ยอมปลดล็อก “ท้องถิ่น” ให้มีอิสระในการบริหารจัดการตนเอง ประเทศไทยจะย่ำอยู่กับที่ไปอีกนาน และก้าวไม่พ้นกับดักการพัฒนา จะกลายเป็น “คนป่วยแห่งเอเซีย” ในที่สุด

……………………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img