วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSฟื้น“การลงทุน”ต้องยกเครื่อง ไม่ใช่แค่ “ปะผุ”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ฟื้น“การลงทุน”ต้องยกเครื่อง ไม่ใช่แค่ “ปะผุ”

สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานที่ประชุม ได้สั่งให้ “บีโอไอ” กลับไปทบทวนมาตรการส่งเสริมการลงทุนของไทยใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับกติกาใหม่ในด้านการจัดเก็บภาษีของ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี)

กรณีดังกล่าว เป็นผลมาจากเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว “โออีซีดี” ได้ประกาศบรรลุข้อตกลงเรื่อง “อัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ” จากบริษัทข้ามชาติทั่วโลกในอัตรา 15% สำหรับการลงทุนในประเทศต่างๆ ซึ่งตอนนี้หลายประเทศกำลังศึกษารายละเอียด เพื่อรับมือมาตรการดังกล่าว ในส่วนประเทศไทยคงเป็นหน้าที่ของบีโอไอ.ที่จะต้องศึกษารายละเอียดด้วยความรอบคอบ และต้องไม่ส่งผลกระทบกับการส่งเสริมการลงทุนในไทย

กล่าวสำหรับบทบาทของบีโอไอ.นั้น ครั้งหนึ่งถือว่าเป็น “ยุคทองการลงทุนไทย” เลยทีเดียว เพราะนักลงทุนจากญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิต หนีค่าแรงราคาแพง มาหาค่าแรงราคาถูกในแถบอาเซียน โดยพุ่งเป้ามายังประเทศไทยและมาเลเซีย ต้องบอกว่า บีโอไอ.มีบทบาทสำคัญอย่างมาก นักลงทุนไม่ว่าไทยหรือนักลงทุนต่างชาติ ต้องมาขอรับการส่งเสริมการลงทุน เพื่อจะได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะยกเว้นภาษีนิติบุคคล 5-8 ปี ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและภาษีรายได้ของผู้บริหารเป็นต้น

ตำแหน่ง “เลขาธิการบีโอไอ.” ในสมัยนั้น มีความสำคัญถึงขั้นเทียบเท่าปลัดกระทรวงเลยทีเดียว หลังจากเกิดฟองสบู่แตก บทบาทของบีโอไอ.ก็ลดน้อยถอยลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนั้น ยิ่งราวๆ สิบกว่าปีมานี้ ไม่ทราบเป็นเพราะอะไร “ตำแหน่งนี้” ถูกลดบทบาทลงเทียบเท่าระดับอธิบดีกรมฯเท่านั้น

ทุกวันนี้มีคำถามตามมามากมาย ว่าประเทศไทยได้ประโยชน์อะไรบ้าง จากนโยบาย ลด-แลก-แจก-แถม “สิทธิประโยชน์” ให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะนโยบายยกเว้นภาษี หากจะได้จริงๆ ก็คงทำให้แรงงานไทยมีงานทำ ด้วยค่าแรงถูกๆ เป็นจุดขาย แม้จะมีนักลงทุนญี่ปุ่นพาเหรดย้ายฐานการผลิตเข้ามา แต่ก็นำ “ซับพลายเชน” ที่ผลิตสินค้าป้อนเข้ามาด้วย บริษัทคนไทยแทบไม่ได้ประโยชน์อะไร มีแค่รายใหญ่ๆ ไม่กี่รายเท่านั้น ที่ได้ผลิตป้อนให้

นอกจากนักลงทุนญี่ปุ่นจะย้ายฐานการลงทุนเข้ามาแล้ว ก็มีนักลงทุนจากไต้หวันที่พาเหรดเข้ามามากเช่นกัน แต่นักลงทุนกลุ่มนี้ จะเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก พวกโรงงานห้องแถวส่วนใหญ่มาตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางเพื่อส่งออก แต่เมื่อฟองสบู่แตก เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 40 นักลงทุนไต้หวันก็ทิ้งโรงงาน หิ้วกระเป๋าหนีกลับประเทศ

คู่แข่งสำคัญของไทยตอนนั้นก็มี “มาเลเซีย” ที่ได้เปรียบไทยตรงที่ มีแรงงานคุณภาพ โดยเฉพาะวิศวกรมีมากกว่าไทย จึงดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก บริษัทที่มีคุณภาพ มีเทคโนโลยีไปลงทุน ไม่ต้องไปง้อนักลงทุนเหมือนเรา

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้บทบาทของบีโอไอ.ลดน้อยถอยลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนต่างชาติมีทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะ “เวียดนาม” ที่เป็นคู่แข่งดาวรุ่งพุ่งแรง ได้เปรียบไทยที่มีแรงงานคุณภาพโดยเฉพาะด้านไอที. แรงงานมีความขยันและค่าแรงถูกกว่าไทย

จะว่าไปแล้ว ไหนๆ จะยกเครื่องทั้งที “น่าจะต้องรื้อใหญ่” ต้องทบทวนบทบาท และกระบวนการทำงานใหม่ทั้งหมด เริ่มจากเรื่องง่ายๆ เช่น การประกาศผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่ทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขว เนื่องจากผู้ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจำนวนไม่น้อย ไม่มีการลงทุนจริง จึงควรจะประกาศตัวเลขจากผู้ที่ลงทุนจริงๆ รวมถึงควรกำหนดให้บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุน ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทย ต้องเปิดโอกาสให้คนไทยก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงได้

หัวใจสำคัญในการยกเครื่องการลงทุน รัฐต้องกระจายอำนาจการส่งเสริมการลงทุนลงไปยังท้องถิ่นมากขึ้น ให้องค์กรท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจ เพื่อความคล่องตัวของนักลงทุนเหมือนกับในบางประเทศที่ประสบความสำเร็จ และต้องฟื้นนโยบายกระจายการลงทุนไปท้องถิ่นแบ่งเป็นโซนและให้สิทธิประโยชน์แต่ละโซนแตกต่างกันเป็นการจูงใจ เพื่อเกิดการกระจายการลงทุนสร้างความเจริญในพื้นที่ต่างจังหวัดเดิมเคยมีแต่ภายหลังมีการยกเลิก

สำคัญที่สุดบีโอไอ.ต้องเร่งปรับบทบาทจาก “รับเป็นรุก” ไม่ใช่แค่รอนักลงทุนมาขอรับการส่งเสริม หรือแค่ไปชักชวนนักลงทุนเท่านั้น แต่ควรจะมี “บริการหลังการขาย” อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุน ว่ามีปัญหาอะไร บีโอไอ.ต้องพร้อมจะเข้าไปแก้ปัญหาให้ทันที

สิ่งที่รัฐบาลละเลยมาตลอด นั่นคือ “การทุจริตคอรัปชั่น” ที่ผ่านมา บริษัทเอกชนและรัฐบาลในหลายๆ ประเทศไม่สนับสนุนให้นักลงทุนเอกชนของเขาเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีการทุจริตคอรัปชั่น แต่บ้านเราปัญหานี้ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญ หากจะให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน รัฐบาลต้องจัดการปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจัง

ที่ผ่านมาบีโอไอ.ให้ความสำคัญกับนโยบายลด-แลก-แจก-แถมสิทธิประโยชน์ ซึ่งไม่ได้ผล ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องถอดรื้อบีโอไอ.ครั้งใหญ่เพื่อให้การทำงานเป็นแบบเชิงรุกไม่ใช่ตั้งรับ เพื่อฟื้นยุคทองของการลงทุนกลับคืนมา

…………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img