วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกHighlightบัตรทองทำคนไข้ล้น-สธ.รับเร่งแก้ปัญหา วอน‘หาจุดแข็ง-ลดจุดอ่อน’ระบบสุขภาพ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

บัตรทองทำคนไข้ล้น-สธ.รับเร่งแก้ปัญหา วอน‘หาจุดแข็ง-ลดจุดอ่อน’ระบบสุขภาพ

“สธ.-ก.พ.” นัดคุย 20 มิ.ย. ส่ง “หมอพงศ์เกษม” หารือร่วมสปสช. รับงานโหลด รับมือผู้ป่วยบัตรทองทะลัก ย้ำรพ.รัฐปฏิเสธไม่ได้ ขอทุกฝ่ายร่วมปิดจุดอ่อน ดึงจุดแข็งระบบสุขภาพไทย

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมการพิจารณา ว่า วันนี้เป็นการประชุมวาระปกติของสธ. ซึ่งท่านรมว.สธ. และท่านปลัดสธ.ก็มีการติดตามงานภาพรวม รวมถึงเรื่องอัตรากำลัง ประเด็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งเรื่องนี้มีการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ในส่วนของแพทยสภา ที่ดูแลการผลิตแพทย์ การเพิ่มพูนทักษะ เรื่องแพทย์ประจำบ้าน ซึ่งจะมีการประชุมใหญ่ มีพญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา ในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ โดยจะมีการพิจารณาหาทางแก้ไขต่อไป โดยจะดูทั้งระบบ ทั้งการจัดสรร การผลิต การกระจาย คุณภาพ ปริมาณ ทางสธ.ก็เสนอประเด็นข้อมูลเข้าที่ประชุมแพทยสภาเช่นกัน

เรื่องที่สอง อัตรากำลังจะโยงกับทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งเลขาธิการ ก.พ. และ ปลัดสธ.มีการหารือทุกเรื่อง ทั้งเรื่องแซนบ็อกซ์ เช่นที่ภูเก็ต ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา และตั้งกรรมการขึ้นมาดู นอกจากนี้ยังมีเรื่อง การจ้างงานรูปแบบใหม่ การกระจายตัวของบุคลากรแก้ปัญหากระจุกตัว อัตรากำลังต่างๆ เป็นต้น โดยครั้งนี้จะหารือในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ เบื้องต้นทาง เลขาฯ ก.พ.รับทราบปัญหาและจะหารือแนวทางแก้ไขต่อไป เรื่องที่สาม ภาระงาน ที่มีการระบุว่า ภาระงาเพิ่มขึ้น จากบริการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งเกี่ยวข้องกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึง มอบให้นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัด สธ. หารือกับสปสช.เพื่อหาทิศทางลดภาระงาน และสปสช.จะต้องเข้ามามีส่วนช่วยกันแก้ปัญหาตรงนี้ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่แพทย์ แต่พยาบาล ทุกวิชาชีพก็ต้องได้รับความเป็นธรรมด้วย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

เมื่อถามว่า มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าการชี้แจงของสธ.วันที่ 6 มิ.ย. เป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด อย่างเรื่องการผลิตแพทย์ เพราะใช้เวลานาน ระยะเร่งด่วนจะทำอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. มีการอธิบายหลายเรื่องมาก แต่บางคนอาจจะไม่ได้ฟังจนจบ ซึ่งเรามีแนวทางแก้ปัญหา 4 เรื่อง คือ ค่าตอบแทน สวัสดิการ ความก้าวหน้า และลดภาระงาน และได้พูดชัดเจนว่า ข้อมูลย้อนหลัง มีแพทย์ลาออกเฉลี่ยปีละ 455 คน แต่โซเชียลมีเดียบอกว่าลาออกปีละ 900 คน โดยไปเอาตัวเลขคนจบ 2,700 คน สธ.รับ 1,800 คน แล้วไปลบง่ายๆ ว่าหายไป 900 คน ซึ่งไม่ใช่ เพราะที่จริงในจำนวน 2,700 คน ยังมีตัวเลขกระจายตัวไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ดังนั้น ดังนั้นยืนยันว่า ตัวเลขลาออกไม่ใช่ 900 คน

เมื่อถามว่า ต้องหารือร่วมกับสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน หรือแพทย์อื่นๆ ที่ออกมาพูดในโซเชียลฯ ตอนนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันหรือไม่ เนื่องจากอาจเกิดกระแสว่าเป็นศึกเสื้อกาวน์ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรามีการทำงานร่วมกันตลอด ที่ผ่านมาก็สื่อสารผ่านสื่อมวลชนตลอด เรามีชุดข้อมูลนี้ที่ให้เห็นจริง หากจะมาร่วมกันหารือ เราก็มีชุดข้อมูลนี้ในการบริหารจัดการ หากจะหารือร่วมกันเรายินดี เชื่อว่าน้องๆ ที่ทำงานอยู่ก็อยากมีความสุขในการทำงาน ซึ่งมีหลายวิธีในการทำงาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน จริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่สธ. เอกชนก็มี ทุกที่มีปัญหา เพียงแต่เราต้องมาร่วมกันแก้ไขปัญหา หลายคนบอกว่า ปัญหานี้มีมานานก็เพราะซับซ้อน แต่ก็ต้องช่วยๆกันแก้ไข

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าในที่ประชุมวันนี้ยอมรับว่าปัญหาภาระงาน ปัจจัยหนึ่งมาจากระบบบริการหลักประกันสุขภาพฯ หรือบัตรทองที่ทำให้ประชาชนรับบริการมากขึ้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องนี้ชัดเจน ตั้งแต่การบริการนี้ขึ้นมาก็มีหลากหลายบริการเกิดขึ้น ซึ่งสธ. เป็นผู้ให้บริการหลักของสปสช. อย่างเอกชนมีสิทธิ์จะเลือกหรือไม่เลือก แต่รัฐต้องทำทุกครั้งที่มีการทำอะไรขึ้นมา ภาครัฐจะปฏิเสธไม่ได้

“กระทรวงสาธารณสุขอายุเป็นร้อยปี ได้ทำสิ่งต่างๆไว้ดีมากมาย ปัญหามีอยู่ทุกที่ ผมเองอยากให้ทุกท่านได้กลับมาช่วยกันมองว่า เรื่องที่ดีๆ ในสังคมคนไทยเรา หากเราหามุมมองจุดแข็ง ปิด ลดจุดอ่อน แม้จะเป็นประเด็นเจ็บปวด แต่เราก็ช่วยกันแก้ไข และจุดอ่อนที่เกิดขึ้นก็ต้องมาคุยว่าจะทำอย่างไร กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เป็นโรคร้ายที่จะล่มสลายไปในทีเดียว ต่างชาติก็ชื่นชม เราก็ต้องมาช่วยลดจุดอ่อน ก็รู้ว่าจุดอ่อนนี้ทำให้ภาระงานเหนื่อยหนัก ตอนนี้ปลัดสธ.สั่งการผอ.รพ.ทุกท่านให้ไปดู ไปกำกับ ดูแลแพทย์อินเทิร์นใช้ทุนปีหนึ่งอย่างใกล้ชิด ดูแลสวัสดิการ ห้องพักให้ดี อำนวยความสะดวกให้เกิดขึ้น ซึ่งเงินบำรุงหลังโควิดมีอยู่ ยังทำได้ และทำได้เร็ว” รองปลัดสธ.กล่าว.

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img