วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกNEWSทร.ผุดโครงการ “เรือรบปลอดเชื้อ” ใช้ “เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช” ต้นแบบ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ทร.ผุดโครงการ “เรือรบปลอดเชื้อ” ใช้ “เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช” ต้นแบบ

กองทัพเรือ ผุดโครงการ “เรือรบปลอดเชื้อ” ทำระบบปรับอากาศรวมของเรือรบให้ปลอดภัยไร้โควิด ใช้ “เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช” เป็น ต้นแบบ  ดำเนินการติดตั้งแล้วในเรือรบอีก 7ลำ อยู่ระหว่างติดตั้งเพิ่มอีก 2 ลำ

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. พล.ร.อ.เชษฐา  ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID – 19  ส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว แพร่กระจายไปยังทุกหน่วยงานของกองทัพเรือ รวมทั้งในเรือรบ ซึ่งมีภารกิจสำคัญในทะเล จึงได้จัดโครงการ “ เรือรบปลอดเชื้อ” โดยทำระบบปรับอากาศรวมของเรือรบให้ปลอดภัย จากเชื้อ COVID – 19  โดยใช้ “เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช” เป็น ต้นแบบ  และได้ดำเนินการติดตั้งแล้วในเรือรบอีก 7ลำ และขณะนี้อยู่ระหว่างติดตั้งเพิ่มอีก 2 ลำ หลังพบว่า เมื่อติดตั้งระบบแล้ว ออกทะเลไปภารกิจ ไม่มีใครป่วย-ติดเชื้อโรคในทางเดินอากาศ  และ  ลดปริมาณสารเคมี ไอเสียจากเครื่องยนต์  และสารระเหยอื่นๆ ที่ฟุ้งกระจายอยู่ในเรือ  รวมทั่งกลิ่นอาหาร และกลิ่นอับจากความชื้นที่เกาะอยู่ตามผนังและแผงความเย็นในระบบปรับอากาศ

สำหรับความเป็นมาของโครงการเกิดจาก ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 นั้นพบว่า เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯและของฝรั่งเศส ตลอดจนเรือรบอื่นๆ รวมถึงเรือท่องเที่ยวในต่างประเทศ  ซึ่งทั้งหมดต่างใช้ระบบปรับอากาศรวม เหมือนกับในเรือรบ เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสภายในเรือ จึงมีความคิดที่จะป้องกันไม่ให้เรือรบของกองทัพเรือไทยต้องประสบปัญหา ต่อกำลังพลประจำเรือ และครอบครัว  ตลอดจนความพร้อมรบ  หรือพร้อมปฏิบัติภารกิจ ต้องได้รับผลกระทบ

พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ สายงานกิจการพลเรือน จึงได้หารือกับ พล.ร.ท.สมัย ใจอินทร์ รอง ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ  และ นายสมโภชน์ อาหุนัย จาก บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด  ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยนำอุปกรณ์เครื่องฆ่าเชื้อในอากาศ ไปบริจาคพร้อมติดตั้งให้โรงพยาบาลต่างๆ ใน กทม. หลายโรงพยาบาลแล้ว รวมถึง โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ทีมงานจึงได้นำอุปกรณ์ไปศึกษาเพื่อติดตั้งในเรือ ซึ่งใช้ระบบปรับอากาศรวมเช่นเดียวกับโรงพยาบาล โดยอุปกรณ์ดังกล่าว เป็นหลอด UVC ที่นำมาประยุกต์ใช้กับเรือรบ  และ เป็นเครื่องฟอกอากาศด้วยแสง UV (UV GERMICIDAL AIR PURIFIER) ในการนี้ กองทัพเรือ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาฯ เป็นคณะทำงานป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโรคทางระบบปรับอากาศ 

โดยได้ทำการทดสอบ ทดลองติดตั้งบนเรือรบ  และได้นำไปตรวจสอบ ทดสอบ และวัดผล ซึ่งได้รับการรับรองจาก กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ และกรมแพทย์ทหารเรือ  และพบว่าสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดีและไม่รบ กวนกับระบบต่างๆ ของเรือ จากนั้นคณะทำงานจึงได้รายงานผลการทดสอบนี้ให้ ผบ.ทร. รับทราบ และขออนุ ญาตทดลองติดตั้งใช้งาน โดยได้ติดตั้งใน “เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช” เป็นลำแรก ก่อนที่จะเดินทางไปเข้ารับการปรับปรุงเรือที่เกาหลีใต้  เนื่องจากในขณะนั้นเป็นในห้วงเกิดการระบาดสูงสุด ในเกาหลีใต้  ซึ่งผลการปฏิบัติ หลังติดตั้งระบบ แล้ว ระยะเวลา 2 เดือน พบว่าไม่มีกำลังพลนายใดติดเชื้อ

ต่อมาในการแพร่ระบาดของ COVID –  19 ในระลอกที่ 2 ทำให้เรือรบสมรรถนะสูง และเรือรบขนาดใหญ่  ที่มีกำลังพลปฏิบัติงานเรือเป็นจำนวนมาก ขอรับการสนับสนุนการติดตั้งมากขึ้น จึงได้ดำเนินการติดตั้งจนแล้วเสร็จจำนวน 7 ลำประกอบด้วย เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงมกุฎราชกุมาร เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน เรือหลวงกระบุรี เรือหลวงบางปะกง และอยู่ระหว่างการติดตั้งอีก 2 ลำ คือ เรือหลวงอ่างทอง และ เรือหลวงสิมิลัน   

ทั้งนี้ กองทัพเรือ ได้จัดให้มีการไปฝึกภาคทะเลของนักเรียนนายเรือ โดยหมู่เรือฝึก คือ  เรือหลวงนเรศวร  เรือหลวงบางปะกง และ เรือหลวงมกุฎราชกุมาร  ที่ได้ทำการติดตั้งเครื่องฆ่าเชื้อดังกล่าวแล้ว พบว่า ไม่มีกำลังพล ประจำเรือรวมถึงนักเรียนนายเรือที่เข้าร่วมฝึกป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจแต่อย่างใด นอกจากนั้นยังสามารถขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์อาทิ ควัน /น้ำมัน ให้ลดลงได้อีกด้วย

โฆษกกองทัพเรือ  กล่าวว่า ปัจจุบันหลอด UVC ที่ติดตั้งภายในเรือเพื่อฆ่าเชื้อ แม้ว่าจะมีจำหน่ายโดยทั่วไป แต่ไม่ใช่ว่าจะติดตั้งได้โดยทั่วไป ซึ่งมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อโรคต่างๆ  รวมถึง รา เส้นใย ยีสต์ ได้ในระดับพื้นผิว ในวงการวิทยาศาสตร์จะนิยมเรียกกันว่า Ultraviolet Germicidal Irradiation โดยแสงจากหลอด UV ฆ่าเชื้อนี้จะทำให้เชื้อโรคและแบคทีเรียโดยรอบ หยุดทำงาน ดังนั้นหลอดไฟฆ่าเชื้อจึงช่วยกำจัดหรือช่วยทำลายไวรัส และแบคทีเรียบนพื้นผิวที่เป็นอันตรายต่อร่างกายผู้ป่วยให้มีจำนวนลดน้อยลง 

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อควรระวังในการใช้งาน เนื่องจากหลอด UVC มีความยาวคลื่นอยู่ที่ประมาณ 200-280 นาโนเมตร ซึ่งเป็นรังสีที่ค่อนข้างเป็นอันตรายต่อร่างกายถ้าหากกระทบผิวหนังตรงๆ เป็นระยะเวลานาน เพราะอาจจะเป็นสาเหตุทำให้ผิวหนังไหม้ หรือสามารถทำให้เยื่อบุตาอักเสบได้ ซึ่งถ้าได้รับแสงรังสี UVC มากเกินไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง อาจจะทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ ในส่วนของการติดตั้งบนเรือนั้นใช้หลอด UVC ทำการติดตั้งกับระบบปรับอากาศรวมของเรือซึ่งติดตั้งอยู่ภายในเครื่องปรับอากาศ  ภายใต้การควบคุมของผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด  ดังนั้นหากประชาชนทั่วไปจะนำไปประยุกต์ใช้ ควรระมัดระวังและศึกษาข้อมูลก่อนการใช้งานให้ถี่ถ้วน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img