วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSตะลอนทัวร์อีสานส่อง “โคก หนอง นา” แห่งน้ำใจและความหวัง ??
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ตะลอนทัวร์อีสานส่อง “โคก หนอง นา” แห่งน้ำใจและความหวัง ??

ขณะที่เขียนคอลัมน์ริ้วผ้าเหลืองนี้ “เปรียญสิบ” อยู่ในกุฎิหลังเล็ก ๆ ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ จ.สุรินทร์ เพื่อมาดูงานหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” ของ “พระอาจารย์สังคม ธนปญฺโญ”  ภายใต้การสนับสนุนของกรมการพัฒนาชุมชน

อย่างที่บอกเมื่อตอนที่แล้วว่า จะตะลอนทัวร์ภาคอีสานเพื่อดูงานโคก หนองนา ค่ำไหน นอนนั้น..

เป็นประสบการณ์ที่มี “คุณค่าและน่าทรงจำ” เป็นอย่างยิ่งของชีวิตได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบและใฝ่ฝันมานานต้องขอบคุณ  “พี่เก่ง” คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน  สายธรรมะ ที่ช่วยอำนวยความสะดวก

 

 

การทำโคก หนอง นา ในภาคอีสาน มีเกษตรกร ประชาชน นักธุรกิจ และรวมทั้งพระสงฆ์ เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก บางจังหวัดเข้าร่วมโครงการนับพันครัวเรือน บางจังหวัดหลายร้อยครัวเรือน

เพราะสิ่งนี้ตอบโจทย์ชีวิตพวกเขาได้ในการสร้างความ “มั่นคงและยั่งยืน” ในระดับครัวเรือนได้

เท่าที่ตระเวนสอบถามพระภิกษุสงฆ์ และชาวบ้าน สิ่งตอบตรงกันคือ ชอบเพราะ โคก หนอง นา มันคือ วิธีชีวิตคนอีสานอยู่แล้ว ยิ่งโครงการช่วยเติมเต็ม เรื่อง การขุดสระ การจ้างงาน มอบเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัว ถือว่า ภาครัฐตอบโจทย์ชีวิตพวกเขา “ตรงจุด” แล้ว

สำคัญคือ โครงการนี้มาช้าไปสำหรับคนบางคน เพราะขายที่ดินไปแล้วนั่นเอง  “หัวใจสำคัญ” ของการทำโคก หนอง นา คือ ต้องมีที่ดินเป็นของตนเองและต้องมีน้ำ

ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ของพระอาจารย์สังคม ธนปญฺโญ มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 3 บ่อ มีคลองใส้ไก่ล้อมรอบ ร่มรื่นไปด้วยตนไม้ น้อยใหญ่ บริหารจัดการตามหลักทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

ประวัติท่านน่าสนใจ ให้รู้คร่าว ๆ ว่าหลังจากจบไปแล้วเรียนต่อและทำงานในสหรัฐทิ้งเงินเดือนเป็นแสน กลับประเทศไทยบวชแล้วหันมาทำงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง เพราะรู้ว่า “การวิ่งตามเงินมันทุกข์” และรู้ว่าการทำงานในโลกทุนนิยมแบบบริโภคสุดโต่ง “ชีวิตไม่ที่อิสระภาพ” อย่างแท้จริง

ปัจจุบันพระอาจารย์สังคมในสังคมกสิกรรมธรรมถือว่า เป็นปรมาจารย์เชี่ยวชาญในการอบรมถ่ายทอดความรู้และทั้งเชี่ยวชาญเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่ภาษาคนกสิกรรมธรรมชาติหรือโคก หนอง นา เรียกว่า “ธนาคารน้ำ”

เมื่อมาถึงยังไม่เข้าไป ขับรถตระเวนรอบหมู่บ้าน ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ  มีแต่คนชราและเด็ก คงเหมือนกับหมู่บ้านอื่น ๆ คือ เยาวชนไปเรียนไปในตัวเมืองเมื่อจบออกไปแล้ว ก็ไปทำงานในกรุงเทพหรือเมืองเศรษกิจ

ตรงนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ..ในการสร้างความอบอุ่นให้คนในครอบครัว เพราะในหมู่บ้านจบมาแล้ว ไม่มีงานรองรับ จะทำภาคเกษตรก็แห้งแล้ง บางครัวเรือนไม่มีที่ดินทำกิน จึงต้องดิ้นรนขายแรงงานในเมืองใหญ่ ๆ ลักษณะนี้เกิดทั่วไปในทุกภูมิภาคของประเทศ

เมื่อตระเวนรอบหมู่บ้านแล้วก็กลับมาที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ เห็นคนมาอบรมกลุ่มใหญ่ ถามป้าแม่ครัวเล่าว่า มาอบรมโคก หนอง นา กัน จังหวัดสุรินทร์มาอบรมที่นี้ทั้งหมดประมาณ 1600 คน และแบ่งออกเป็น 16 รุ่น

…ผมตกงานโควิดรุ่นแรกเลย เดิมอาศัยอยู่แถวจังหวัดนนทบุรี เมื่อประเทศไทยเกิดโควิด บริษัทส่งไปอยู่เวียดนาม อยู่ที่นั้นประมาณ 1 เดือนอยู่ไม่ไหว วัฒนธรรมการเป็นอยู่ อาหารการกินคนละอย่าง จึงขอย้ายกลับ เมื่อย้ายกลับบริษัทไม่จ่ายเงินให้สักบาทเดียว

“จึงกลับมาอยู่บ้าน และสมัครเข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา ในเนื้อที่ 3 ไร่ ทำนา ปลูกผักสะระแหน่ขายไปด้วย แบบผสมผสานตอนนี้ออเดอร์เพียบ รายได้ดีกว่าทำงานบริษัทเดิมเยอะ บางวันคนมารับถึงบ้าน อยู่ที่นี้ไม่เครียดเลย เพราะบ้านก็ไม่ต้องเช่า อาหารก็เป็นของเรา  อยู่เมืองมันเครียดเรื่องค่าใช้จ่าย  อยู่นี้มีความสุขมาก..”

เสียงสะท้อนของ “พี่เทพ” หนึ่งในผู้อบรมรุ่นที่ 13  ของโครงการโคก หนองนา ซึ่งวันนี้ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของแปลงที่มาอบรม

กิจกรรมที่นี่ตอนที่มาถึง “ทีมวิทยากร” นำโดย คุณพี่บุสดี ขุนศีริ กำลังให้โจทย์กับผู้เข้าอบรมแต่ละกลุ่ม “หาพืชผักปลา” ในศูนย์กสิกรรมธรรมแล้วทำอาหารกลุ่มละไม่ต่ำกว่า 3 อย่าง จึงเห็นภาพผู้อบรมเดินหาผักซึ่งมีอยู่เกือบทุกแห่งในเนื้อที่ 24 ไร่ ผู้ชายบางกลุ่มก็กำลังหาปลาในทุ่งนา เปิดเพลง ร้องรำ ชายหญิงบางคนก็เต้นรำ  

ดูแล้วนึกถึง “บรรยากาศในอดีต” ของสังคไทย ที่หลักจากเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวก็ทำกิจกรรม หรือบางแห่งเวลาดำนา เก็บเกี่ยวก็มีการ “ลงแขก” ที่ภาษาคนโคก หนอง นา เรียกกว่า “เอามื้อ”

คืนนี้ “เปรียบสิบ” ได้รับมอบให้นอนในกุฎิหลังเล็ก ๆ  แบบเสื่อผืนหมอนใบ มีพัดลมแถมให้อีก 2 ตัว กุฎิตั้งอยู่ปลายติดทุ่งนา ทำให้หวนนึกถึงสมัยเป็นสามเณรเคยติดตามพระอาจารย์ไปนอนอยู่ในป่าช้า..ชีวิตเคยผ่านจุดนี้มาแล้ว คิดว่านอนได้ ท่ามกลางบรรยากาศป่าที่ร่มรื่นและเสียงกบเสียงเขียดร้องระงม

พรุ่งนี้นัดพบกับพระอาจารย์สังคม ธนปญฺโญ ตัวจริง เสียงจริง และทำจริง พระที่เป็นต้นแบบในการทำโคก หนอง นา ผู้พิสูจน์ให้ชาวบ้านและชาวโลกรู้ว่า ศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์รัชกาลที่ 9 เป็น ทางรอดและเป็นความหวังของโลก ได้จริง ๆ  คืนนี้ราตรีสวัสดิ์ครับ

…………………………..

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย  “เปรียญ10” : riwpaalueng@gmail.com

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img