วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSเขียนให้คิด : โลกของ“พระธรรมทูตไทย”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เขียนให้คิด : โลกของ“พระธรรมทูตไทย”

ในขณะที่กำลังเพลิดเพลินมีความสุขกับภาพการประชุม “พระธรรมทูตโลก” ของคณะสงฆ์ไทยที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยมี “สมเด็จพระมหาธีราจารย์” เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรรมการมหาเถรสมาคมในฐานะประธานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ อยู่ดี ๆ มีเพื่อนรุ่นคนหนึ่งส่งภาพพร้อมกับแคปชั่นว่า “วัดไทยสร้างโดยบริษัทฝรั่ง ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ในรัฐ Massachusetts สหรัฐอเมริกา เนื้อที่ 250 ไร่ ใช้งบ ก่อสร้างประมาณ 2,500 ล้านบาท ใหญ่ที่สุดในโลกศาสนาพุทธ คงอยู่ในโลกนี้อีกนาน..”

มีเพื่อนอีกคน ปัจจุบันเป็นอนุศาสนาจารย์กองทัพบกสหรัฐอเมริกา โพร่งขึ้นมาว่า…

“รอวันขายวัดครับ เพราะว่ารายได้จากการทำบุญน้อยมาก เฉพาะค่าน้ำ ค่าไฟและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตกเดือนละล้านกว่าบาท คนไทยในเมืองแถวนั้นมีน้อย และมีวัดธรรมยุติอีกใกล้ ๆ กัน คนรุ่นพ่อแม่ทำบุญ แต่รุ่นลูก ไม่ทำบุญและไม่เข้าวัด รอหมดบุญหลวงพ่อสมเด็จมหาธีราจารย์ รับรองเจ้าอาวาสขี้แตกแน่ เพราะว่าหาเงินไม่ทัน น่าจะเอาเงินส่วนนี้ไปส่งเสริมการศึกษาพระสงฆ์ ท่านเหล่านั้นจะเป็นกำลังหลักของพระศาสนา ไม่ใช่อาคารสถานที่..”

“พระธรรมทูตไทย” ปัจจุบันกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก เฉพาะฝั่งคณะสงฆ์มหานิกายประมาณ 500 วัด จาก 37 ประเทศ ฝั่งคณะธรรมยุต อีกประมาณ 200 วัด รวมพระภิกษุสงฆ์ทั้ง 2 นิกายน่าจะประมาณ 1,500 รูป พวกนี้หากจะว่าไปแล้วก็คือ “ทหารรบพิเศษ” ทหารแนวหน้า ข้าวเหนียว 1 กระติบกับปลาร้างบอง 1 กระปุกอยู่ได้หลายวัน คือ ส่วนใหญ่ไป เพราะ  “ใจรัก” จริง ๆ

พระธรรมทูตไทย เวลาไปอยู่ต่างประเทศ สิ่งที่ตามติดตัวนอกจาก “อัตลักษณ์” ความเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนา คือ “ความสงบ ความร่มเย็น ดูแล้วมีกิริยาท่าทางสง่าแบบพระภิกษุ” สิ่งที่ตามติดตัวพระธรรมทูตไปด้วยอีกประการหนึ่งคือ “ความเป็นไทย-วัฒนธรรมไทย” วัดไทยในต่างประเทศทุกวัดคือ ศูนย์รวมของความเป็นไทย ทั้ง สัญลักษณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี การแต่งกาย อาหารไทย ภาษาไทย เป็นต้น

“สมเด็จพระมหาธีราจารย์” ในฐานะประธานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ  เป็นผู้มากบารมีทั้งในคณะสงฆ์และรัฐบาล ซ้ำมีประสบการณ์อยู่ต่างประเทศมานาน ควรทำอะไรบ้าง

หนึ่ง ประธานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ จะมีวิธีอย่างไรช่วยเชื่อมธรรมทูตไทยกับรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศนั้น ๆ ได้อย่างไร เพื่อให้วัดและท่านเหล่านี้อยู่ได้อย่างปลอดภัย

สอง ประธานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ จะทำอย่างไรให้พระธรรมทูตได้ วีซ่าถาวร จะได้ทำงานได้เต็มที่ อย่ากลัวว่า ได้วีซ่าถาวรแล้วพระเหล่านั่นจะสึก ถึงจะสึกก็เป็น..คนวัดเรา

สาม ประธานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ จะทำอย่างไรให้พระธรรมทูตมีองค์การที่ถูกต้องกฎหมายนานาชาติ เพื่อทำงานในระดับนานาชาติได้ ต่อรองกับนานาชาติเป็น และองค์การนี้ควรเป็นองค์กรที่รวมตัวกันของประเทศในกลุ่มผู้นับถือพระพุทธศาสนาด้วย

สี่ ประธานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ทำอย่างไรจึงจะมี “กองทุน” เพื่อให้พระธรรมทูต ยืมหรือกู้สร้างวัดในต่างประเทศ เหมือนวัดพระธรรมกายเขาทำ จะได้ต้องไม่ลำบาก ทำปลาร้าบอง กระเทียมดอง จับฉลากพิเศษ หรือรับสังฆทานวัดครึ่ง พระธรรมทูตครึ่ง เป็นต้น หาเงินมาสร้างวัด

ห้า การสกรีนพระเป็นพระธรรมทูต ไปอยู่ต่างประเทศ แน่นอนอันนี้ต้องมี แต่อย่าให้เยอะจนขวางการทำงานรับใช้พระพุทธศาสนาของพวกท่านเหล่านั้น

อันนี้เขียนให้ มหาเถรสมาคมและประธานดูแลฝ่ายต่างประเทศ ได้คิด ได้เห็นภาพอีกมุมหนึ่ง ซึ่งพระคุณเจ้าอาจไม่รู้ เพราะไปแต่ละครั้ง มีแต่พวกห้อมหน้าห้อมหลัง คอยถือย่าม “ไม่กล้าพูดความจริง”

อันนี้ฝากการบ้านถึงศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร (ศ.ต.ภ.) ที่มีประธาน “สมเด็จพระพุฒาจารย์” วัดไตรมิตร และมีเลขา “พระเทพเวที” วัดสังเวช ไว้พิจารณาด้วย

อย่าไปออกกฎออกเกณฑ์ย่อยยิบ “ขวางความเจริญ” ความก้าวหน้าของพระธรรมทูตและพระภิกษุที่ต้องการไปเผยแผ่ศาสนาหรือเดินทางไปต่างประเทศจนเกินควร!!

ยุคปัจจุบัน!! สังคมคฤหัสถ์อาจไม่รู้ว่า เวลาพระภิกษุไปต่างประเทศแต่ละครั้ง เฉพาะแค่แบบฟอร์มเอกสาร 2-3 แผ่นราคา 300 บาท วิ่งล่าลายเซ็นต์เพื่อยื่นเอกสารเป็นเดือน เริ่มตั้งแต่ล่าลายเซ็นต์เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค บางรูปไม่ชอบหน้ากัน “ไม่เซ็นต์” ให้ก็มี บางรูป “ปิดประตู” หนีก็เคยรู้ บางรูปต้องยัดซอง “ค่าน้ำหมึก” ก็เคยได้ยิน!!

อันนี้คือโลกมืดและความล้าหลังของคณะสงฆ์ไทย ที่พระภิกษุเวลาจะไปต่างประเทศ คิดจะทำงานรับใช้พระพุทธศาสนาในต่างแดน คิดเป็นพระธรรมทูตต้องประสบพบเจอ บางรูปพาสปอร์ตหมดอายุต้องกลับประเทศ วนกลับไปล่าเซ็นต์แบบที่ว่า..ก็มี??

………………………………..

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย….“เปรียญสิบ” : riwpaalueng@gmail.com

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img