วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSเล่นใหญ่-จับของร้อน “ก้าวไกล”ไล่บี้ “สินบนโตโยต้า”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เล่นใหญ่-จับของร้อน “ก้าวไกล”ไล่บี้ “สินบนโตโยต้า”

ใครตามการเมืองบ้านเรา นับตั้งแต่ เสี่ยเอก “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ก้าวเข้ามาทำงานการเมือง ไล่ตั้งแต่ก่อตั้ง “พรรคอนาคตใหม่” (อนค.) ต่อเนื่องมาจนถึง “พรรคก้าวไกล” (กก.) จากนั้น “เสี่ยเอก” ก็ผันกายไปเคลื่อนไหวในนาม “ประธานคณะก้าวหน้า” หลังพรรคที่ก่อตั้ง ต้องถูกยุบไป และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง

แต่ที่กลายเป็นจุดเด่นหรืออาจเป็น “จุดตาย” ก็คือเครือข่าย “ธนาธร” มักชอบจับเรื่องร้อนๆ เดินหน้าตรวจสอบในประเด็นที่ละเอียดอ่อน อย่างการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป “เบญจา แสงจันทร์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค กก. ก็ลุกขึ้นอภิปรายในประเด็นงบประมาณ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ สถาบันพระมหากษัตริย์ อ้างว่าใช้เงินรวม 3.37 หมื่นล้านบาท

ในตอนท้ายยังระบุด้วยว่า ขออย่าให้นำสถาบันฯ มาเป็นเกราะกำบัง เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากสภา หวังทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องแจงงบประมาณในวาระ 2 โดยเฉพาะ ส่วนราชการในพระองค์ ควรส่งตัวแทนมาเข้าร่วมการพิจารณางบฯ

ที่ผ่านมาใครตามข่าว ก็คงรู้ดีว่า เครือข่าย “เสี่ยเอก” ชูธงชัดเจนเป็นพันธมิตร ที่เหนียวแน่นกับ กลุ่มราษฎร” ซึ่งใช้สัญลักษณ์ชูสามนิ้ว เป็นรูปแบบในการเคลื่อนไหว หนึ่งในข้อเรียกร้องคือ ต้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และมักมีการเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย เกี่ยวข้องกับ ประเด็นอ่อนไหว ตลอด จนหลายครั้งกลายเป็นคดีความ ถูกต่อต้านจากคนที่ไม่เห็นด้วย

รังสิมันต์ โรม

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา “นายรังสิมันต์ โรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค กก. ยังเดินหน้าจับของร้อน หลังเคยสร้างความฮือฮา นำเรื่อง ตั๋วช้าง” มาเชื่อมยังกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ใช้อภิปรายซักฟอกรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่า มีบุคคลลชั้นสูง เข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดทำบัญชีโยกย้ายองค์กรสีกากี  จนถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง

“นายรังสิมันต์” ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ …) พ.ศ… ต่อ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า การยื่นร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการ เพิ่มฐานความผิดใหม่ ที่เป็นฐานความผิดที่ไม่มีในระบบกฎหมายเดิมของไทย คือความผิดฐาน บิดเบือนกฎหมาย เพื่อบังคับใช้ต่อพนักงานการยุติธรรม โดยมีรายละเอียดแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนเเรก คือ ศาล ผู้พิพากษา ตุลาการ เเละส่วนที่สอง คือที่ไม่ใช่ผู้พิพากษาหรือตุลาการ ประกอบด้วย พนักงานสอบสวน อัยการ ผู้ว่าคดี 

“อย่างที่ทุกคนได้เห็นสภาพบ้านเมืองของเรา ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรเเละสหกรณ์, กรณีของการ รับสินบนบริษัทโตโยต้า ที่กำลังเป็นที่น่าสนใจในต่างประเทศและในไทย หรือเป็นกรณีไม่ให้ประกันตัวของแกนนำคณะราษฎรโดยไม่ได้มีเหตุผลที่อยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย”

พร้อมทั้งระบุอีกว่า กฎหมายนี้ต่างกับกฎหมายที่มีอยู่เเล้วอย่างไร อย่างกรณีหากผู้พิพากษากระทำผิดรับสินบนก็จะมีกฎหมายสำหรับลงโทษอยู่เเล้ว ซึ่งมีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิต แต่ในระบบกฎหมายไทยมีช่องว่าง คือ ถ้าไม่ใช่กรณีรับสินบน แต่เป็น กรณีความสัมพันธ์ส่วนตัว เป็นกรณีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเเล้วบิดเบือนกฎหมาย เรายังไม่มีกฎหมายที่กำหนดฐานความผิดนี้เลย

นอกจากนี้ “ส.ส.กก.” ยังยื่นหนังสือถึง “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย (สร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) และ “นายธีรัจชัย พันธุมาศ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค กก. ในฐานะโฆษก กมธ.ป.ป.ช. เพื่อให้พิจารณาสืบสอบหาข้อเท็จจริงกรณีรายงานข่าวว่า​ บริษัทโตโยต้าให้สินบน​ผู้พิพากษาระดับสูงของศาลยุติธรรมไทย​

ธีรัจชัย พันธุมาศ

ด้านนายธีรัจชัย กล่าวว่า ในส่วนของกมธ. จะตรวจสอบคู่ขนานกับศาลยุติธรรม และขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตรวจสอบด้วย โดยให้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบสมดุลตรงนี้ โดยจะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการลำเอียงและอคติใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อวางระบบยุติธรรมของประเทศให้น่าเชื่อถือที่สุด

การเดิมเกมครั้งนี้ใครก็มองออก ส.ส.พรรค กก. ต้องการ ดิสเครดิตกระบวนยุติธรรม หลังแกนนำสามนิ้วหลายคนต้องถูกจองจำ อันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหว จนถูกฟ้องร้องไปหลายคดี โดยเฉพาะการล่วงละเมิดสถาบัน ตามกฎหมายอาญามาตรา 112  และถึงแม้ว่าจะได้รับการประกัน แต่ศาลก็ตั้งเงื่อนไข ห้ามทำกิจกรรมที่ทำให้สถาบันเกิดความเสื่อมเสีย  ซึ่งอาจนำมาสู่ความไม่พอใจของ บีไฮน์เดอะซีน” และผู้ให้การสนับสนุนม็อบสามนิ้ว  

ขณะที่รายละเอียดคดีสินบนโตโยต้านั้น ปรากฏเป็นข่าวในปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ Law360.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข่าวและวิเคราะห์ในด้านกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ข้อมูลกรณี บริษัท โตโยตา คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ได้รายงานต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา (DOJ) เมื่อเดือนเม.ย. 63 ว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทลูกของโตโยต้าในประเทศไทย อาจกระทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบน หรือ anti-bribery laws ของสหรัฐฯ  และ พาดพิง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และ ผู้พิพากษาฎีกาจำนวน 3 ราย, สำนักกฎหมายแห่งหนึ่ง และพนักงานบริษัทโตโยต้าอีก 3 ราย เกี่ยวข้องกับเรื่องรับสินบนเพื่อพลิกคำพิพากษาคดีการจ่ายภาษี นำเข้าคิดเป็นมูลค่าเงินจำนวนกว่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.01 หมื่นล้านบาท

สำหรับคดีนี้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กรมศุลการกร ต่อศาลภาษีอากรกลาง เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.58 ขอเพิกถอนคำสั่งประเมินภาษีเบี้ยปรับเงินเพิ่ม ในการนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุสไม่ถูกต้อง คิดเป็นเงินมูลค่า มากกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ต่อมาในเดือนก.ย.60 ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาตัดสินให้บริษัทโตโยต้าฯชนะคดี แต่กรมศุลกากรได้ยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้โตโยต้าฯ ต้องจ่ายภาษี 1.1 หมื่นล้านบาท     

ขณะที่ “นายสุริยัณห์ หงส์วิไล” โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงความคืบหน้าของคดีในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า หลังจากกรมศุลกากรยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ มีคำพิพากษากลับคำตัดสินของศาลชั้นต้น เป็นผลให้บริษัทโตโยต้าฯ ต้องรับผิดชำระภาษีอากรตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ต่อมาโจทก์ได้ยื่นขออนุญาตฎีกา   

จากนั้น เมื่อวันที่ 29 มี.ค.64 มีการอ่านคำสั่งศาลฎีกา รับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณา โดยคดียังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาในเนื้อหาหลักแห่งคดีแต่อย่างใด ความคืบหน้าล่าสุด ยังอยู่ระหว่าง การขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกา ซึ่งศาลอนุญาตให้ขยายได้ถึงวันที่ 13 ก.ค.64 นี้ หากฝ่ายจำเลยยื่นคำแก้ฎีกามาแล้ว ศาลภาษีอากรกลางจะรวบรวมถ้อยคำสำนวน ส่งศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดคดีสินบนโตโยต้า สำนักงานศาลยุติธรรม ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินการต่อข้อกล่าวหากรณีภาษีอากรของบริษัทโตโยต้าฯ โดยมี “นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นประธานคณะทำงานฯ

คณะทำงานชุดนี้ มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและดำเนินการ ให้ข้อเท็จจริงเป็นที่กระจ่างแก่สังคมและดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเรื่องที่มีการ เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับ การสอบสวน กรณีภาษีของบริษัทในเครือโตโยต้าในต่างประเทศ ที่พาดพิงถึง บุคลากรในศาลยุติธรรม และได้ส่งหนังสือขอข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการตอบกลับจากหน่วยงานในสหรัฐฯ

พงษ์เดช วานิชกิตติกูล

ส่วนคณะกรรมการชุดที่สองนั้น เมื่อวันที่ 31 พ.ค.64 “นางเมทินี ชโลธร” ประธานศาลฎีกา ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งมี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการฯ โดยมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการสอบสวนตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในประกาศ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เรื่อง หลักเกณฑ์และ วิธีการสอบสวนข้อเท็จจริง ในชั้นต้น กรณีข้าราชการตุลาการถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย พ.ศ.2544 ออกตามความในมาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ 

ทั้งนี้ ให้เสนอความเห็นว่ากรณีมีมูลเป็น ความผิดวินัยร้ายแรง หรือ ไม่ร้ายแรง หรือ ไม่มีมูลความผิดทางวินัย หากมีมูลความผิดทางวินัยก็ให้พิจารณาด้วยว่า เป็นความผิดวินัยตามบทมาตราใดและ ควรได้รับโทษสถานใด เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป และหากสอบสวนพบข้อเท็จจริงมีบุคคลอื่นใดเป็นผู้กระทำผิด หรือพบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากที่ระบุในคำสั่งนี้ ก็ให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้ดำเนินการสอบสวนไปด้วยในคราวเดียวกัน

ขณะที่ “นายดิเรก อิงคนินันท์” ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา อดีตประธานศาลฎีกา คนที่ 42 ช่วงปี 2556-2558 พร้อมด้วย “นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม” อดีตประธานศาลอุทธรณ์ 2 ผู้พิพากษาผู้ถูกพาดพิงจากเว็บไซต์ www.law360.com เกี่ยวกับคดีภาษีของ บริษัทในเครือโตโยต้า  ได้เดินทางมาเเจ้งความต่อกองบังคับการกองปราบปราม (บก.ป) เพื่อให้ทำการสอบสวนหาผู้กระทำผิดแล้ว เพราะเป็นข่าวที่ “ทำลายความเชื่อถือศรัทธาศาลสถิตยุติธรรมไทย”

นายดิเรก กล่าวว่า คดีดังกล่าวจะมอบหมายให้พนักงานสอบสวน บก.ป. พิจารณาเรื่องการดำเนินคดีและข้อหาต่างๆ เบื้องต้นมองว่า เป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และขอปฏิเสธข่าวกรณีถูกพาดพิงว่าเข้าไปมีส่วนร่วมในการรับสินบนโตโยต้า โดยยืนยันว่าคดีดังกล่าวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งใน ศาลชั้นต้น และ ชั้นอุทธรณ์ เพราะพ้นจากตำแหน่งไปก่อนที่คดีดังกล่าวจะมีคำพิพากษาทั้ง 2 ศาล

ด้าน นายชัยสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นผู้อภิปรายว่าบริษัทโตโยต้าควรจะเป็นฝ่ายแพ้คดี และเมื่ออภิปรายจบที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา จึงลงคะแนนหลังจากพิจารณาจากสำนวนคดีจากทั้งหมดประมาณ 70 คน ในจำนวนนี้ 60 คนเห็นด้วยให้บริษัทโตโยต้าแพ้คดี และเสียงส่วนน้อยจำนวน 10 เสียงเห็นว่าควรจะให้บริษัทโตโยต้าชนะคดีในชั้นพิจารณาของศาลอุทธรณ์

เช่นเดียวกับ “นายไสลเกษ วัฒนพันธ์” อดีตประธานศาลฎีกา คนที่ 45 ช่วงปี 62-63 ให้สัมภาษณ์กับสื่อบางสำนักว่า ข้อกล่าวหาในคดีนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่มุ่งทำลายความน่าเชื่อถือของศาลสูงของไทย และไม่เคยปรากฏมาก่อนในกระบวนการยุติธรรมว่า จะมีบริษัทเอกชนจ้างสำนักงานกฎหมายเอกช นมาจ่ายสินบนผู้บริหารศาลในระดับสูงถึง 3 คน ซึ่งถือว่ากระเทือนต่อภาพลักษณ์ ความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนและต่างประเทศ

“จึงเสนอว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เกี่ยวพันกับผู้พิพากษาที่เกี่ยวพันเท่านั้น หากแต่สำนักงานศาลยุติธรรมต้องไปพิจารณาว่าจะมีกระบวนการอย่างไรในการพิจารณาสอบสวนเรื่องนี้ และทำความจริงออกมาให้ปรากฎ ที่สำคัญสำนักงานศาลยุติธรรม จะต้องทำการเปิดเผยเกี่ยวกับคดีนี้ออกมาว่าเป็นอย่างไรให้สังคมไทยรับทราบ ส่วนว่าใครจะร่วมพิจารณาในองค์คณะสอบสวนไม่ใช่ปัญหา สาธารณชนแยกแยะ แต่ต้องหาข้อเท็จจริงออกมาให้ได้ว่ามันเข้าตรงไหน ถ้าเกี่ยวพันกับใคร ก็สอบไปเลย ไม่ต้องวิตกเพราะเรื่องนี้เกี่ยวพันทั้งองค์กร”

เชื่อได้เลยคดีสินบนโตโยต้า จะถูกจับตามองแบบไม่กระพริบเลยทีเดียว เพราะนอกจากเกี่ยวข้องกับการทำงานศาลไทยแล้ว ยังถูกคนไทยบางกลุ่มหวังใช้ข้อกล่าวหาจากผ่านสื่อต่างประเทศ มา ดิสเครดิตกระบวนการยุติธรรมไทย ด้วยมองว่าไม่ตอบสนองเครือข่ายของตนเอง และไม่แปลกถ้าจะมีใครบงคนถอดรหัสว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นการรับลูกระหว่างนักการเมืองไทยกับสื่อหัวนอก เพื่อหวังผลบางอย่าง

……………………………….

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย..“ แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img