วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“ฝ่ายค้าน”ร้าว-ศึกซักฟอกจืด “บิ๊กตู่”เมินลาออก-ไม่ยุบสภา
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ฝ่ายค้าน”ร้าว-ศึกซักฟอกจืด “บิ๊กตู่”เมินลาออก-ไม่ยุบสภา

จับท่าที “นายกฯลุงตู่” ล่าสุด ประเมินอาการของหัวหน้ารัฐบาล ในช่วงที่ใครหลายคนบอกว่า อยู่ในช่วงขาลง อันเนื่องมาจากความล้มเหลวในการรับมือ “โควิด-19” คงต้องบอก งานนี้สู้ไม่มีถอย เรื่องลาออกไม่มีทางเกิดขึ้น ส่วนยุบสภาฯ อย่างเร็วที่สุดคงเป็นเดือนเม.ย. 65

แม้กระทั่งการสร้างภาพผ่านสื่อ เพื่อตอกย้ำถึงเอกภาพพรรคร่วมรัฐบาล ก็มีช็อตเด็ดปรากฎให้คนข่าวได้เห็น โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 2 ส.ค. หลัง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้การต้อนรับ “นายอิกนาซิโอ กัสซิส” รองประธานาธิบดีและรมว.การต่างประเทศ สมาพันธรัฐสวิส ที่เข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสเยือนประเทศไทย ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ

ภายหลังเสร็จพิธีดังกล่าว หัวหน้ารัฐบาลพร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชพท.) ได้เดินพูดคุยกัน

มีรายงานข่าวว่า แกนนำรัฐบาลทั้ง 4 คน ได้พูดคุยกันถึงงานในความรับผิดชอบ รวมถึง การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งภาพการพูดคุยของ 4 แกนนำรัฐบาลครั้งนี้ เหมือนเป็นการแสดงถึงความเหนียวแน่น ขณะที่มีเสียงเรียกร้องให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากล้มเหลวในการแก้ปัญหาและการจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว

ขณะที่ “นายวราวุธ” เปิดเผยถึงการพูดคุยกับนายกฯ และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลว่า นายกฯบอกกับทุกคนว่าฝากทุกพรรคทำงานด้วยกัน มีอะไรก็ให้พูดคุยกัน ในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ในขณะนี้ เพราะประชาชนเดือดร้อนจำนวนมาก หากมีอะไรต้องแก้ไข ขอให้พูดคุยประสานงานกัน นายกฯบอกว่าทุกคนหวังดีต่อประเทศทั้งนั้น เพียงแต่ขอให้พูดคุยกันมากๆ จะได้ทำความเข้าใจกัน

เมื่อนักข่าวถามว่า ขณะนี้ทางกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว เชื่อว่าภาพที่ออกมาจะสะท้อนถึงความเหนียวแน่นของรัฐบาลอย่างไร นายวราวุธ กล่าวว่า พรรคชพน.ให้คำยืนยันมาตลอดว่า ตอนนี้เรือฝ่าพายุอยู่โดดออกไป ก็ไม่ได้แปลว่าพายุหาย มิหนำซ้ำอาจจะตายกลางพายุเหมือนกัน เรือก็จะพังทั้งลำ 

ฉะนั้นวันนี้ เรายังยืนหยัดทำงานเคียงข้างนายกฯ ให้การสนับสนุนเพื่อให้ประเทศไทยฝ่าวิกฤตไปได้ เพราะจะทำอะไรนาทีนี้คิดว่าการเมืองคงต้องพักไว้ก่อน แล้วหันมาแก้วิกฤติสถานการณ์โควิด-19 และอีกหลายๆประเด็น

เมื่อถามว่า พรรคร่วมยืนยันไปกับนายกฯแล้วใช่หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า นายกฯทราบดี เพราะทุกครั้งนายกฯจะไม่เคยพูดประเด็นการเมือง จะพูดเรื่องการแก้ปัญหาของประเทศเป็นหลัก

แม้ท่าทีแกนนำชพน. ไม่ได้ผูดมัดไปถึงท่าทีพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ แต่ถ้าย้อนไปดูภูมิหลังการจัดตั้งรัฐบาล มีบุคคลสำคัญที่ได้รับวางใจจาก “นายกฯลุงตู่” เป็นมือดีลสำคัญ ในการดึงพรรคชพน. ให้มาร่วมรัฐบาล ซึ่งบุคคลดังกล่าวได้รับความไว้วางใจจาก “บุคคลระดับสูง” ให้รับตำแหน่งสำคัญ นั่นหมายความว่า วันนี้สัญญาณจากบุคคลสำคัญ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ให้การสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์อย่างเต็มที่

แม้การเคลื่อนไหว “ม็อบราษฎร” จะได้รับการสนับสนุนจากคนเสื้อแดง อีกทั้ง “ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ” อดีตเลขาธิการ นปช. ก็เข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหว โดยเริ่มตั้งแต่กิจกรรม “คาร์ม็อบ 1 ส.ค.” และจากนี้ไปคงจะเคลื่อนไหวต่อเนื่อง แต่ก็ถูกมองว่า ทั้งหลายทั้งปวง เกี่ยวข้องกับข้องความพยายามนำ “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้ต้องหาหนีคดี…กลับบ้าน อีกทั้งเมื่อไม่กี่วันทีผ่านมา อดีตนายกฯซึ่งไปพำนักอยู่ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (ยูเออี) ก็ออกมายอมรับ ยังไม่มีสัญญาณตอบรับใดๆ ทั้งสิ้น หลังประกาศชัดว่า พร้อมเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน 

ณัฐวุฒิ-ใสยเกื้อ

อย่าลืมว่า เพจม็อบสามนิ้วมักออกมาวิจารณ์ “ทักษิณ” ว่า เป็นพวกสู้ไป-กราบไป เนื่องจากไม่เคยออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอปฎิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งบรรดานักเคลื่อนไหวที่ใช้รีแบรนด์ “ราษฎร” ชูธงใช้เป็นประเด็นหลักในการเคลื่อนไหว ซึ่งคงต้องจับตาดูว่า จากนี้ไปองคาพยพที่ “ทักษิณ” ดูแล จะปรับท่าที่และสนองตอบข้อเรียกร้องกลุ่มสามนิ้วอย่างเต็มที่หรือไม่ ถ้าคิดว่า ในที่สุดหลักการประนีประนอมไม่ได้ผล แต่ก็คงสุ่มเสี่ยง กับการตกเป็นนักโทษหลบหนีอยู่ต่างแดนไปตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม นอกจากการเคลื่อนไหวนอกสภาจะจูนกันไม่ลงตัว ดูเหมือนการขับเคลื่อนในสภาฯ กำลังเกิดปัญหาขึ้นระหว่าง “เพื่อไทย” (พท.) กับ “ก้าวไกล” (กก.) สองแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) และการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565

โดย “น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคกก. ในฐานะคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯให้สัมภาษณ์กรณี กมธ.มีวาระประชุมเพื่อลงมติแปรคืนงบประมาณที่ได้ตัดมาจำนวน 16,300 ล้านบาทว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แปรงบประมาณจำนวน 16,300 ล้านบาทเข้าสู่งบกลางทั้งหมด โดยองค์ประชุมในวันนี้มี 45 คน เห็นด้วย 35 เสียง ไม่เห็นด้วย 7 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง โดยมีนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองประธานกมธ. ทำหน้าที่ประธานในการประชุม 

ทั้งนี้คนที่ไม่เห็นด้วย คือ พรรคกก.ทั้ง 6 คน และพรรคประชาชาติ (ปชช.) 1 คน ได้แก่ 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคกก.ล 2.น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคกก. 3.น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ  4.น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม. 5.นายวาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 6.นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคกก. และ 7.พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคปชช. 

ก่อนหน้านั้น “น.ส.ศิริกัญญา” อ้างว่า การนำงบแปรญัตติเข้าสู่งบกลาง จะเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้รัฐบาล และเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในอนาคต 

ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร

จากนั้น “ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” ส.ส.มหาสารคาม พรรคพท. ในฐานะคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ กล่าวว่า ที่ประชุม กมธ.งบประมาณฯได้ปรับลดงบประมาณปี 65 จำนวน 16,362 ล้านบาท ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 144 ส.ส.และกมธ.งบประมาณฯ ไม่สามารถแปรญัตติเพิ่มได้ และไม่สามารถไปมีส่วนได้เสียกับงบประมาณดังกล่าวได้ 

ส่วนมีกระแสข่าว กมธ.ประมาณฯฝั่งพรรคพท.สมรู้ร่วมคิดกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยกมือสนับสนุนให้งบประมาณปี 65 ที่มีการปรับลดงบประมาณได้ 16,362 ล้านบาท ไปอยู่ในงบกลางทั้งหมด เพื่อนำไปให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมใช้ 

ในฐานะตัวแทนฝั่งพรรคพท.ขอชี้แจงว่างบกลางนี้ ไม่ได้นำไปซื้ออาวุธหรือสร้างถนนหรือแก้ไขปัญหาภัยแล้ง แต่งบกลางที่สำนักงบประมาณขอมาตอนแรกคือ 50,000 ล้านบาท ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า เป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

ส่วนพรรคกก.จะเห็นต่างก็เป็นสิทธิของพรรค ซึ่งพรรคพท.เห็นว่าการช่วยเหลือชีวิตคนเป็นเรื่องสำคัญ และเงินงบกลางส่วนนี้จะใช้ได้เฉพาะเรื่องโควิดเท่านั้น ถามว่านายกฯ จะเอาไปซื้ออาวุธหรือรถถังได้หรืออย่างไร เวลาพูด ไม่ใช่เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น พรรคพท.มีจุดยืนชัดเจน ใครเป็นคนไปต่อสู้ล้มเรือดำน้ำ จนสามารถปรับลดงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก ไม่ใช่พรรคพท.หรือ

นอกจากปมขัดแย้งเรื่องพรบ.งบประมาณฯ เรื่องการแก้ไขรธน. ยังมีความเห็นต่างของสองพรรคแกนนำฝ่ายค้าน “ธีรัจชัย พันธุมาศ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคกก. ในฐานะรองประธานคณะกมธ. วิสามัญพิจารณาร่างรัฐรธน.(ฉบับที่…) พ.ศ…. คนที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และ มาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง รัฐสภา กล่าวถึงการนัดประชุม กมธ.ในวันที่ 4 ส.ค. เพื่อพิจารณาเนื้อหาว่า ขอคัดค้านข้อเสนอของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพปชร.ในฐานะประธาน กมธ. ที่จะให้ตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำเนื้อหาตามคำแปรญัตติ เบื้องต้นเชื่อว่าคณะทำงานดังกล่าวจะถูกตั้งขึ้นเพื่อรวบรัดการทำงานและปิดปากการแสดงความคิดเห็น ข้อถกเถียงอย่างรอบด้านของฝ่ายต่างๆ ในชั้นกมธ.

มองว่าการเสนอตั้งคณะทำงานนั้นคือเหลี่ยมทางการเมือง ต้องการสร้างโอกาสให้มีบางคนที่เป็นฝ่ายรัฐบาลทำมุบมิบ เขียนกติกาที่เอื้อประโยชน์ของพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน แทนการกำหนดกติกาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และเพื่อประโยชน์ประชาชน โดยใช้เสียงข้างมากโหวตตามความต้องการ” นายธีรัจชัยกล่าว

ธีรัจชัย-พันธุมาศ

สิ่งที่ส.ส.พรรค กก. สื่อสารถึงสองพรรคใหญ่ ที่ได้ประโยชน์จากการแก้ไขรธน. คงหนีไม่พ้น พท. และ พปชร. ซึ่งต้องการรูปแบบการเลือกตั้ง โดยใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กำหนดให้มีส.ส. เขต 400 คน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน เชื่อว่าเอื้อประโยชน์กับพรรคตนเอง ขณะที่พรรคขนาดกลางและเล็กไม่เห็นด้วย จะทำให้จำนวนส.ส.ลดน้อยลง 

จากนี้ต้องจับตาดูการทำงานร่วมกันของสองพรรคร่วมฝ่ายค้าน พท. และกก. กับบทบาทในอภิปรายไม่ไว้วางใจ  ซึ่งมีข่าวจะยื่นญัตติให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 16 ส.ค 64
แม้ว่า การตรวจสอบฝ่ายบริหารจะต้องเดินหน้าต่อไป  แต่การเล่นบทเอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่นของสมาชิกพรรคน้องใหม่ น่าจะส่งผลให้แกนนำพรรคฝ่ายค้านอึดอึดใจไม่น้อย

แต่อย่าลืมว่า ข้อครหาที่มีต่อสมาชิกพรรคพท. ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ครั้งแรก ทำนอง ทำข้อสอบรั่ว ดึงเวลา เพื่อช่วยรัฐมนตรีบางคน กลายเป็นตราบาป ที่ยากจะทำให้ใครลืมเลือน จากนี้ไปต้องจับตาศึกซักฟอกครั้งนี้ แกนนำพรรคฝ่ายค้านจะเล่นบทออมมือ เพื่อรักษาไมตรีหรือไม่ เพราะการเมืองไทยไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร ยิ่งได้ “มือดีลคนสำคัญ” คอยช่วยสานสัมพันธ์ให้สองพรรคใหญ่ เพื่อหวังผลการเมืองภายภาคหน้า อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ 

……………………………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย “แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img