วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSจีดีพี.พลาดเป้า…ฉุด“เศรษฐกิจไทย” บ๊วยอาเซียน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จีดีพี.พลาดเป้า…ฉุด“เศรษฐกิจไทย” บ๊วยอาเซียน

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ตลาดหุ้น ในบ้านเราเกิดอาการช็อกเอาดื้อๆ ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลดลง 6.62 จุด เมื่อนักลงทุนเห็นตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2565 ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศออกมา เติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก คือขยายตัวได้เพียง 2.6% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจปี 2565 น่าจะขยายตัวได้ที่ประมาณ 3.2%

ตัวเลขที่ออกมาอย่างนี้เรียกว่า หักปากกาเซียน อย่างสิ้นเชิง เพราะก่อนหน้านี้สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างๆ ได้พากันฟันธงว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3.5-4% เพราะทุกคนเชื่อว่าการท่องเที่ยวฟื้น นักท่องเที่ยวจีนกลับมา และการบริโภคภายในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้น

เมื่อผลออกมาอย่างนี้ ก็ต้องมานั่งปรับตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2566 กันใหม่จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 3-4% เหลือ 2.7-3.7% เท่านั้น

สอดคล้องกับศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกรายการวิเคราะห์เศรษฐกิจไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ พบว่า ในไตรมาส 4/2565 ขยายตัวต่ำกว่าคาดที่ 1.4% ส่งผลให้ทั้งปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 2.6% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 3.2%

ทั้งนี้ ตัวเลข จีดีพี.ของไทยในไตรมาส 4/2565 มีปัจจัยกดดันหลักมาจากส่งออกสินค้าที่หดตัวถึง -10.5% ตามโมเมนตัมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง

การบริโภคภาครัฐก็หดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่การลงทุนภาครัฐก็ขยายตัวต่ำกว่าคาด เนื่องจากการใช้จ่ายและลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโควิดนั้น ลดลงอย่างมาก ประกอบกับอัตราการเบิกจ่ายนั้นแม้จะสูงกว่าในไตรมาสก่อนหน้า แต่ก็ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า

เศรษฐกิจไทยในปี 2566 / ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ 3.7% ซึ่งสูงกว่าประมาณการของสภาพัฒน์ที่ 2.7-3.7% (ค่ากลางอยู่ที่ 3.2%) จากแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงจะเป็นขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องไปในปีนี้

ฉะนั้นการที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ต่ำกว่าคาด มีปัจจัยที่ฉุดรั้งให้ จีดีพี. ไม่เติบโตตามที่คาดการณ์ไว้นั้น ซึ่งทั้งสองสำนักเห็นตรงกันคือเรื่องของภาคการส่งออกสินค้าที่ติดลบถึง 10.5%

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก สศช..ยังระบุว่า ในแง่ของปริมาณการส่งออก ซึ่งการส่งออกในปีที่ผ่านมา เดือนสุดท้ายเป็นการติดลบแบบ 2 หลัก ทำให้ส่งผลต่อ จีดีพี.มาก ขณะที่การส่งออกสินค้าในแง่ของมูลค่าติดลบมากถึง 7.5% ภาคการผลิตและการลงทุนก็ขยายตัวต่ำ ยิ่งกว่านั้นการที่หนี้ภาครัฐเพิ่มสูงขึ้น ได้ส่งผลกระทบการใช้จ่ายของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามไปด้วยอีกทั้ง เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเร็วและแรงกว่าที่คาดไว้ เป็นผลมาจากในไตรมาส 4/2565 มีการระบาดโควิด-19 ในจีนอย่างกว้างขวาง และรัฐบาลจีนยังอยู่ระหว่างจะเปิดหรือปิดประเทศ ทำให้กระทบต่อการส่งซับพลายเชนของสินค้าและกระทบมายังการส่งออกของไทยด้วย

การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้การส่งออกปีนี้ทั้งปีจะติดลบ โดยเมื่อคิดในรูปของเงินดอลลาร์จะติดลบ 1.6% เทียบกับการขยายตัว 5.5% ในปี 2565 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกจะลดลง 0.6% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 1%

อย่าลืมว่า ภาคการส่งออกถือว่าเป็นหัวใจของเศรษฐกิจไทย โดยมีน้ำหนักค่อนข้างมากถึงกว่า 70% ของจีดีพี ดังนั้นการส่งออกที่ติดลบมากจึงฉุดให้ จีดีพี.ไตรมาส 4 ขยายตัวได้เพียง 1.4% เท่านั้น  และส่งผลต่อตัวเลข จีดีพี.ทั้งปี ที่ขยายตัวได้น้อยกว่าที่สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างๆได้คาดการณ์ไว้

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เศรษฐกิจกลับเติบโตผิดคาด โดยเฉพาะ มาเลเซีย เป็นประเทศที่ขยายตัวมากที่สุดในปีที่ผ่านมา ขยายตัว 8.7% เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่งและการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะหลังจีนเปิดประเทศ ได้ช่วยชดเชยความต้องการสินค้าจากมาเลเซียที่ชะลอตัวลงได้ ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

รองลงมาคือ เวียดนามที่ 8.0% ดาวเด่นอย่าง “เวียดนาม” ก็ยังเนื้อหอมนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนหรือย้ายฐานการลงทุนจากที่อื่นๆ โดยเฉพาะจากจีนกันอย่างคึกคัก แม้แต่นักลงทุนไทยก็เข้าไปลงทุนไม่น้อย เวียดนามมีจุดแข็งหลายๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ให้สิทธิพิเศษเต็มที่ มีประชากรในประเทศกว่า 100 ล้านคน เป็นฐานค่อนข้างใหญ่และส่วนใหญ่เป็นคนในวัยหนุ่มสาววัยทำงานมีรายได้ ส่งผลให้คนชั้นกลางในเวียดนามขยายใหญ่ขึ้น คนกลุ่มนี้กล้าจับจ่ายใช้สอยทำให้มีกำลังซื้อสูง

ส่วน อินโดนีเซีย รั้งอันดับ 4 โดยมีแรงหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิดของรัฐบาล ที่ทำให้การบริโภคของภาคครัวเรือนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของ จีดีพี.เพิ่มขึ้น นอกจากนี้อินโดนีเซียซึ่งเป็นซับพลายเออร์น้ำมันปาล์ม แร่นิกเกิล และถ่านหินเชื้อเพลิงให้ความร้อนหลักของโลก ยังได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางการกลับมาของนักท่องเที่ยวที่ทำให้การส่งออกภาคบริการเริ่มฟื้นตัว

ส่วน ฟิลิปปินส์ ในปีทีผ่านมาก็เติบโตอย่างไม่น่าเชื่อถึง 7.6% เลยทีเดียว แต่พื้นฐานเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ นอกจากแรงงานส่งเงินกลับประเทศแล้วด้วยความที่ประชากรฟิลิปปินส์มีพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษค่อนข้างดี รายได้หลักของประเทศในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา คือกิจการรับจ้างบริหารธุรกิจเป็น “แบ๊คออฟฟิศของโลก” ทำรายได้เข้าประเทศมหาศาลจน ส่วนสิงคโปร์เศรษฐกิจโตถึง 3.6% ไม่น้อยเลยสำหรับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่

อันที่จริง เศรษฐกิจไทย ต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาอย่างยาวนาน ก็เนื่องมาจากในห้วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีปัจจัยอะไรใหม่ๆที่นำมาสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ ไม่มีโมเดลการพัฒนาใหม่ๆ นโยบายต่างๆอยู่กับปัจจัยเดิมๆยังต้องอาศัยเนื้อนาบุญเศรษฐกิจโลกพึ่งพาการส่งออกสินค้าและ การท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนสูงกว่า 70% ของ จีดีพี.เป็นหลักซึ่งการพึ่งพาต่างประเทศเป็นหลักจึงมีความเสี่ยงสูง

อีกทั้งรัฐบาลที่ผ่านๆมาเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายลด แลก แจก แถม ไม่ได้สร้างผลผลิตของประเทศจะเห็นได้จากการลงทุนทั้งภาคภาครัฐและเอกชนอยู่ในระดับไม่เกิน 25% ของ จีดีพี.มาตั้งแต่ปี 2541 สะท้อนว่า 25 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐน้อยมากๆจนแทบจะเรียกว่าส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอด

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องปรับยุทธศาสตร์การพัฒนา ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น รวมทั้งปรับโครงสร้างสินค้าจากปัจจุบันที่เคยผลิตใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านโดยยกระดับการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและเป็นสินค้านวัตกรรมและเทคโนโลยี จึงจะส่งออกได้มูลค่าเพิ่มขึ้น และเร่งเจรจาทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อขยายตลาดให้มากขึ้นด้วย

หากยังปล่อยตามยถากรรมแบบนี้ มีรัฐบาลก็เหมือนไม่มี จึงไม่แปลกใจที่อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของไทยต่ำที่สุดในกลุ่ม 6 ประเทศเศรษฐกิจอาเซียน  

………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img