วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSโครงการคนละครึ่ง...“รัฐ-ประชาชน” ใครช่วยใคร??
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

โครงการคนละครึ่ง…“รัฐ-ประชาชน” ใครช่วยใคร??

ในที่สุด “โครงการคนละครึ่งเฟส 5” ก็คลอดออกมาจนได้ เนื่องจากรัฐบาลคงดูแล้ว แนวโน้มเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วง ข้าวยากหมากแพง จะต้องเข็นมาตรการเยียวยา กลุ่มผู้มีรายได้น้อย-คนตกงาน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 26.5 ล้านคน กำหนดในอัตราร้อยละ 50 ไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน หรือไม่เกิน 800 บาทต่อคนระยะเวลาโครงการแค่ 2 เดือน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าโครงการคนละครึ่งเฟส 5 คนชักเริ่มไม่สนใจเหมือนโครงการแรกๆ อันที่จริงก็เริ่มแผ่วลงตั้งแต่ โครงการคนละครึ่งเฟส 3 แล้ว ที่ได้รับการตอบรับค่อนข้างแรงเฉพาะโครงการในเฟสแรกๆ เท่านั้น เนื่องจากปัญหาที่พบ มีทั้งในส่วนร้านค้าทั้งหลายที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งประชาชนในฐานะผู้บริโภค

ปัญหาของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ มีตั้งแต่ผู้ค้ารายย่อยเข้าไม่ถึง จากความไม่พร้อมหลายๆ อย่าง เช่น ไม่รู้วิธีการเข้าร่วม ไปจนถึงความสับสนกรณีข่าว “ดรามา” ว่ากรมสรรพากรจะจัดเก็บภาษีจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้เฟสหลังๆ บรรดาร้านค้าที่เคยเข้าร่วมโครงการ เริ่มถอนตัว เพราะกลัวโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ร้านค้าบางรายที่ยังร่วมโครงการ ก็ต้องมีต้นทุนเพิ่ม จากการจ้างคนทำบัญชีเพื่อรายงานกรมสรรพากร

สำหรับผู้บริโภค คนที่ได้ใช้บริการคนละครึ่งจริงๆ คือ คนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ เพราะคนจนจริงๆ จะไม่สามารถเข้าร่วมได้ มีปัญหาตั้งแต่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี จนไปถึงไม่มีรายได้ ไม่มีเงินเพียงพอที่จะสมทบ ทำให้มีคนที่ต้องหาเช้ากินค่ำจำนวนไม่น้อย ต้องสละสิทธิ์ อีกทั้งยังมีปัญหาทุจริตรูปแบบต่างๆ อีกมาย เป็นการร่วมมือกันระหว่างร้านค้ากับประชาชนที่ได้สิทธิ์ โดยไม่มีการนำเงินไปใช้จ่ายจริง ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการเยียวยาผู้มีรายได้น้อยและกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน

ล่าสุด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินโครงการคนละครึ่ง ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 4 ครั้ง ตั้งแต่เดือน ต.ค.63-เม.ย.65 และใช้วงเงินรวมกว่า 213,300 ล้านบาท โดยได้พบประเด็นสำคัญ ได้แก่ มีจำนวนผู้ใช้สิทธิต่ำกว่าเป้าหมายทั้ง 4 ครั้ง เช่น ครั้งที่ 4 เป้าหมาย 29 ล้านคน แต่มีผู้ใช้สิทธิเพียง 26.38 ล้านคน ซึ่งการที่จำนวนผู้ใช้สิทธิต่ำกว่าเป้าหมาย ส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณไม่เป็นไปตามเป้า

ทั้งนี้ จากข้อมูล ณ 30 เม.ย.65 มีงบประมาณคงเหลือถึง 23,153 ล้านบาท ทำให้เกิด ค่าเสียโอกาส ที่รัฐบาลจะนำเงินในส่วนนี้ไปใช้ในโครงการอื่น ๆ ที่สำคัญและเร่งด่วนกว่า เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด ส่วนอีกประเด็น คือ พบการใช้จ่ายเงินที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ ซึ่งมีร้านค้าและประชาชนที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจนถูกระงับสิทธิ

นอกจากนี้ สตง.ยังมีข้อสังเกตว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการคนละครึ่ง มีภารกิจหลักที่ไม่สอดคล้องกับโครงการ เพราะเมื่อตรวจพบผู้กระทำผิด จะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารจำนวนมาก จึงส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานจากรายงานคงจะเห็นว่า โครงการคนละครึ่งนั้นมีปัญหาตามมามากมาย

มีข้อน่าสังเกตว่า โครงการคนละครึ่งเฟส 5 วงเงินที่ให้ต่อคนแค่คนละ 800 บาท ในเวลา 2 เดือนนั้น นับว่าน้อยมากๆตกเดือนละ 400 บาท วันละ 10 กว่าบาทเท่านั้น แทบไม่มีความหมาย อีกทั้งสะท้อนว่า รัฐบาลอยู่ในภาวะถังแตกจริงๆ

นอกจากเงินที่ให้แต่ละรายแค่น้ำจิ้ม ยังสวนทางความเป็นจริงที่สินค้าจำเป็นต่างๆ มีราคาแพงขึ้น เงินที่ได้คงทำอะไรมากไม่ได้ ส่วนเม็ดเงินที่นำมาใช้คงจะเจียดเงินจากเงินงบฯปี 65 ที่เหลือเวลาอีก 2 เดือนก็สิ้นปีงบประมาณ โครงการคนละครึ่งเฟส 5 ในรอบนี้ คงไม่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าใดนัก

ทั้งนี้ หากลองย้อนพิจารณาจากโครงการคนละครึ่ง 4 เฟสที่ผ่านมา จากเฟสแรก แจกคนละ 3,000 บาท สูงสุดแจกคนละ 4,500 บาทในเฟส 3 จนมาเฟส 4 ลดเหลือ 1,200 บาท พบว่า ประชาชนใช้จ่ายเงินของตนเองมากกว่าที่รัฐจ่ายให้ โดยจำนวนเงินที่ประชาชนจ่ายอยู่ที่ 30,863.4 ล้านบาท แต่รัฐร่วมจ่าย 29,754.4 ล้านบาท

จากสถิติตัวเลขย้อนหลังโครงการคนละครึ่งทั้ง 4 เฟสนั้น จะพบว่าในส่วนของประชาชนนั้นจ่ายมากกว่าเงินที่รัฐบาลใส่เข้าไป กลับกลายเป็นว่า ประชาชนช่วยเหลือรัฐเสียมากกว่า และน่าสนใจว่าโครงการคนละครึ่งเฟส 5 นี้ ที่รัฐจ่ายเพียงหลักร้อยนั้น ประชาชนจะต้องจ่ายเพิ่มอีกเท่าใด ที่สำคัญเป็นโครงการเยียวยาจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่โครงการที่หลอกให้ชาวบ้านเร่งใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม แม้การแจกเงินให้ประชาชนอาจไม่ใช่เรื่องเสียหายและยังมีความจำเป็น แต่มาตรการดังกล่าวควรต้องมาถูกที่ถูกเวลา ต้องกำหนดระยะเวลาโครงการให้ชัดเจนว่ามีระยะเวลาแค่ไหน จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ไม่ใช่ทำไปเรื่อยๆอย่างโครงการคนละครึ่ง ตั้งแต่เฟส 1 จนถึงเฟส 5 กลายเป็นประชานิยมพร่ำเพรื่อ หาทางลงไม่ได้

อย่าลืม “ประชานิยม” ไม่ได้ทำให้รัฐบาลพบหายนะเท่านั้น แต่ยังทำให้ศักยภาพที่จะเติบโตของประเทศต้องหมดสิ้นไปด้วย จะเป็นอันตรายในระยะยาว

……………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img